สภาถกงบปี 55 วันที่ 2 ส.ส.ปชป.จวก “ปู” เมินร่วมฟัง ส.ส.อภิปราย และชี้แจง ทั้งที่เป็นอำนาจ ใช้จ่ายเงิน “บุญยอด” อัดทำตัวเป็นเด็ก ทำงานไม่เป็น “เกียรติอุดม” ซัดเสียดสี จี้ถอน ด้าน “ค้อนปลอมตราดูไบ” โดดป้องพวกตามระเบียบ อ้าง นายกฯ ฟังตลอด ขณะฝ่ายค้านซัด ตั้งงบสูง-ตรวจสอบยาก เหตุไม่มีรายละเอียดโครงการ หวั่นเซ็นเช็กเปล่าเปิดช่องโกงกิน ด้าน “วิทยา” อ้างถ้ารายละเอียดครบ คงไม่เป็นงบกลาง ยัน ไว้ใช้จ่าย 3 ด้าน โครงสร้างพื้นฐาน-ศก.-ฟื้นฟู ปัดตั้งแจก ส.ส.
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ในวาระ 2 มาตรา 4 ในส่วนของงบกลาง ในความควบคุมของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ จำนวน 422,211,127,400 บาท ซึ่งมีผู้สงวนคำแปรญัตติในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู ป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ 1.2 แสนล้านบาท เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 2 พันล้านบาท และเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีจำเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเห็นควรให้ตัดลดงบประมาณลง เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณไว้สูงมาก เกรงว่า จะเกิดข้อครหาในเรื่องของความไม่โปร่งใส เพราะไม่สามารถตรวจสอบในรายละเอียดของการใช้งบประมาณได้หมด
โดย นางอัญชลี วานิช เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนขอปรับลงงบประมาณส่วนดังกล่าวลงจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณไว้สูงเกินไป และขาดรายละเอียดว่าจะนำไปใช้ในส่วนงานใดบ้าง ทั้งนี้ จากการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญฯ ที่ได้ขอรายละเอียดโครงการที่อยู่ในส่วนงบประมาณฟื้นฟูฯ จำนวน 1.2 แสนล้านบาทนั้น พบว่า ได้มาเพียงโครงการที่ผ่านมติ ครม.จำนวน 2 ยอด แบ่งเป็นยอดแรก 2 หมื่นล้านบาท และ 9.5 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะมีงานเพียง 2-3 ประเภท และครอบคลุมเพียง 12 กระทรวงเท่านั้น
ส่วนโครงการที่ปรากฏรายละเอียด เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอตัวเลขจำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซ่อมแซมสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ตนเข้าใจว่า ทางสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบน่าจะได้เสนอของบประมาณส่วนดังกล่าวมาแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตั้งแต่เดือน ต.ค.54 หลังจากที่วิกฤตน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่ทำไม ครม.ถึงไม่บรรจุลงในงบประมาณปกติ ควรปรับลดในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเยียวยาฟื้นฟูน้ำท่วมจำนวน 1.2 แสนล้านบาท เพราะกังวลเรื่องความใช้งบประมาณที่โปร่งใส เนื่องจากเงินส่วนดังกล่าว นายกฯมีอำนาจในการใช้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งการตั้งงบกลางไว้จำนวนสูง ไม่นิยมทำ เพราะจะเกิดข้อครหาในความโปร่งใส
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายพาดพิงถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ นอกจากนั้นแล้ว นายกฯ ในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาลต้องรับผิดชอบ และมาชี้แจงต่อที่ประชุม เพราะงบประมาณในส่วนมาตรา 4 นั้น เกี่ยวข้องกับนายกฯ โดยตรง หากเป็นเช่นนี้ ตนขอยกคำพูดที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดไว้ในสภา ว่า นายกฯ และรัฐมนตรีเป็นเด็ก ทำงานไม่เป็น หาเงินไม่เป็น ดีแต่กู้
ซึ่งทำให้ นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วง และขอให้ถอนคำพูด ทำให้ นายสมศักดิ์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขอให้ถอนคำพูด เพราะเป็นการพูดเสียดสี
นายบุญยอด ชี้แจงอีกว่า ตนไม่ได้เสียดสี เพราะได้อ้างอิงคำพูดของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่พูดสมัยเป็นฝ่ายค้าน ว่า นายอภิสิทธิ์ ทำงานไม่เป็น แต่ นายสมศักดิ์ ระบุว่า ขอให้ถอน อย่าได้แย้ง ทำให้ นายบุญยอด กล่าวว่า ตนถอนเพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ประธานสภา ทำงานสองมาตรฐาน
ด้าน นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยพาดพิงไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อ้างว่า ไม่สามารถลงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาอุทกภัยได้ เพราะติดประชุมสภา ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ซึ่งตนขอถามว่านายกฯ ไปติดงบประมาณอยู่ที่ไหน โดยการประชุมเรื่องดังกล่าว มีมา 2 วันแล้ว ก็ไม่เห็นนายกฯ เข้ามาร่วมทั้ง 2 วัน
ทำให้ นายสมศักดิ์ กล่าวขึ้นว่า “อย่าแขวะนายกฯ ขอให้อภิปรายในประเด็นงบประมาณดีกว่า นายกฯ ท่านได้อยู่ตลอด และอยู่ทั้งวัน จากนั้น นพ.สุกิจ อภิปรายต่อว่า ตนไม่ได้แขวะนายกฯ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นายกฯ ไม่ลงพื้นที่ภาคใต้นั้น ไม่อยากให้กลายเป็นประเด็นว่าใครเลือกพวกเราก็จะได้รับการดูแลก่อน ซึ่งตนฐานะคนภาคใต้น้อยใจ ที่นายกฯ บอกว่า ลงพื้นที่ไม่ได้ เพราะติดประชุมสภา ซึ่งตนทำหน้าที่ในสภา สงสัยว่า นายกฯ ติดประชุมงบที่ไหน เพราะในสภานี้ ไม่เห็นนายกฯ มาชี้แจง หรือตอบข้อข้องใจของสมาชิกแม้แต่น้อย
จากนั้น นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า เรื่องการใช้จ่ายงบกลางถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลเอามาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน 3 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ และด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และปีนี้ก็มาเกิดอุทกภัย งบกลางจึงต้องถูกใช้ระหว่างที่เราพิจารณางบปี 55 ซึ่งรัฐบาลส่งรายละเอียดมา 3.6 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ไปพลางก่อน ที่เหลือก็มีกรอบของการพิจารณา นอกจากนี้ งบกลางเอง ครม.ได้อนุมัติจ่ายเงินให้ ครม.ชุดที่ผ่านมา ที่ทำเรื่องค้างไว้ เช่น การของบดินโคลนถล่มที่ได้พิจารณาเมื่อปี 53 จำนวน 984.454 ล้านบาท เราก็มาจ่ายให้ในสมัยรัฐบาลนี้ ซึ่งก็เป็นงบมาจากงบกลางนี้เหมือนกัน และยังมีอีกหลายรายการในลักษณะแบบนี้ ทำให้บางครั้งมันทำอะไรไม่ได้อย่างที่ใจคิด ยังมีไทยเข้มแข็ง ที่ ครม.ต้องยืนยันอีก งบแตกต่างกันในเรื่องของเหตุผล ถ้าเงินมีรายละเอียดชัดเจนทุกเรื่อง ถือว่าเป็นงบกลางไม่ได้ ถ้ามีจนครบเดือดร้อนเลย เพราะสำนักงบประมาณคงไม่พิจารณามาอยู่ในงบกลาง แต่คงให้ไปจัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งงบกลางเราเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดปัญหาเศรษฐกิจแล้วเอาตัวนี้ไว้ใช้จ่าย
ขณะที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม กรรมาธิการเสียงข้างมาก จากพรรคเพื่อไทย ได้ชี้แจงว่า ในส่วนของงบกลาง ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟูความเสียหายจากอุกภัย 1.2 แสนล้านบาท โดยนายกฯได้กำชับให้หน่วยที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และโปร่งใส ส่วนที่มีข่าวว่า จะมีการนำเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะเอามาแจกให้กับ ส.ส.นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้ไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้าน และรัฐบาลไปเกี่ยวข้อง แต่จะนำไปฟื้นฟูจริงๆ อีกทั้งยังปฏิเสธว่า ขอยืนยันไม่มีการจัดสรรงบลงไปเป็นการเฉพาะใน จ.มหาสารคาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีการลงมติในมาตรา 4 นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซักถามคณะกรรมาธิการ ว่า งบกลางในส่วนที่เบิกจ่ายไปแล้ว แต่ละหน่วยงานมีการแจกแจงรายละเอียดมาหรือยัง มิเช่นนั้น ถ้ายังไม่มีรายละเอียดแล้วสภามีมติออกไปจะเหมือนเป็นการตีเช็กเปล่า แต่ก็ไม่ได้รับการชี้แจงจากคณะกรรมาธิการ และได้มีการลงมติผ่านมาตราดังกล่าวไป
ส่วนการพิจารณามาตรา 5 ในส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดงบประมาณใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า มีการจัดงบลงไปจำนวนมากให้กับ กอ.รมน.ตนขอเรียกร้องให้นายกฯมานั่งรับฟังปัญหา และชี้แจงว่าโครงการหลักการและเหตุผลที่ของบอย่างไร ที่สำคัญ นโยบายวันนี้กับแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ไม่มีทิศทาง และกรอบความคิดแนวทางแก้ปัญหาเลย แล้วยังมีหน้ามาของบสภา เพื่อไปถลุงกัน ซึ่งกรรมาธิการควรซักถามรายละเอียด สำนักงบเริ่มต้นทำผิด พ.ร.บ.งบในภาคใต้ หากงบไม่ผ่านคณะกรรมการ ศอ.บต.ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการเคยมาขอพบนายกฯ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธไม่ให้พบ แสดงว่า ไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ มีอคติในระดับนโยบาย
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอตัดงบประชาสัมพันธ์ร้อยละ 10 เพราะตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามามีการปรับผังรายการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นต่างแม้แต่น้อย เช่น เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก ที่ต่อต้านการล้มเจ้า มีการพยายามไม่ให้ออกอากาศ และจะมีรายการแปลกๆ มาแทน