แกนนำ นปช.เชิดปี่กลองเสนอแก้ไข รธน.ให้สอดคล้องกับร่างคนเสื้อแดง ที่มา ส.ส.ร.ฉบับเพื่อไทย สอดคล้องเสื้อแดงจำนวน 100 คน อ้างยกเลิกกระบวนการสรรหานักวิชาการ เพราะเป็นพวกเลื่อมใสในระบอบเผด็จการ ปักธงยื่นแก้ไข มี.ค.ปีหน้า
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช. กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ของพรรคเพื่อไทยว่า จะเสนอแนวทางการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคนเสื้อแดง คือ การแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. จะให้มีการเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากทั่วประเทศจำนวน 100 คน โดยคิดค่าเฉลี่ยจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 40 ล้านคนทั่วประเทศ โดยคิดอัตราเฉลี่ย ส.ส.ร.1 คน ต่อประชาชนจำนวน 4 แสนคน ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯมีประชาชนจำนวน 8 ล้านคนก็ควรมี ส.ส.ร.จำนวน 20 คนเป็นต้น เพื่อเป็นการยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย
แกนนำ นปช.กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ยกเลิกกระบวนการสรรหานักวิชาการนั้น เพราะเชื่อว่าจะได้คนที่มีความเสื่อมใสในระบอบเผด็จการเข้าไปทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้เป็นเรื่องส่วนตัว สุดแล้วแต่ผู้ใหญ่และฝ่ายกฎหมายในพรรคเพื่อไทยจะพิจารณา
นพ.เหวงกล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนสังกัดพรรคเพื่อไทยก็จะเดินตามแนวของพรรคและรัฐบาล แต่หากก่อนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดอาการสะดุดด้วยปัจจัยอื่นๆ ตนก็พร้อมจะเปลี่ยนไปสนับสนุนร่างของคนเสื้อแดง ที่มีรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่การตั้ง ส.ส.ร.จำนวน 100 คน ที่คาดว่าจะรวบรวมรายชื่อให้ได้มากกว่า 5 หมื่นคน ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือจะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ซึ่งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้จะไปแสดงตนต่อประธานรัฐสภา เพื่อจะขอรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 5 หมื่นคนยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน
นพ.เหวงกล่าวต่อว่า หากเป็นไปตามแผนที่กำหนดจะมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 3 ร่างดังที่กล่าวมา จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือน ม.ค. 2555 เพื่อให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ทำการศึกษาและรวบรวมประเด็นต่างๆ เหลือเป็นร่างเดียว และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในเดือน มี.ค. 2555 ส.ส.ร.จะเริ่มทำการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 8 เดือน พร้อมทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จากนั้นก็ทำประชามติตัดสินว่าประชาชนจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จากนั้นส่งให้ประธานรัฐสภาทูลเกล้าฯ เสนอในหลวงต่อไป โดยไม่ต้องนำเรื่องมาเข้ารัฐสภาอีก