นายกฯ กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้อย่างใกล้ชิด อนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้งบทดลองฉุกเฉินได้ทันที ส่วนเม็ดเงินเยียวยาความเสียหาย มอบให้ จนท.เร่งสำรวจ เพื่อชงเข้า ครม.เผย สั่งให้ กยน.เก็บข้อมูลคลื่นยักษ์ เพื่อวิเคราะห์เพิ่ม รับระบบเตือนภัย เตือนแค่ฉับพลัน อ้างยังบูรณาการไม่พอ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์ สูงหลายเมตรเข้าถล่มหลายพื้นที่ในจังภาคใต้ ว่า ได้สั่งการตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ และกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการที่จะดูแลพี่น้องประชาชนทางภาคใต้ ซึ่งวันนี้เราได้ประกาศเขตภัยพิบัติแล้วทั้งสิ้น 6จังหวัด โดยการประกาศภัยพิบัติในแต่ละจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้งบเงินทดลองฉุกเฉินในส่วนของแต่ละจังหวัดได้ เพื่อจะได้ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที ส่วนการเยียวยาด้านต่างๆ จะเหมือนเหตุอุทกภัยทางธรรมชาติซึ่งเป็นกฎระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ลักษณะของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกับสถานการณ์อุทกภัย จะต้องปรับเปลี่ยนมาตรการการเยียวยาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังสามารถใช้มาตรการเยียวในลักษณะเดิมได้ เพราะการเยียวยาที่ให้เงิน 5 พันบาท จะแบ่งเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ 1.เกิดภัยพิบัติฉับพลัน และ 2.กรณีที่มีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบทดลองฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัดมีนั้น ตนมั่นใจว่า สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันที แต่ขอให้ดูในเรื่องความเสียหายต่างๆ ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนจุดใดบ้างที่ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ด่วนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในพื้นที่คงให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เข้าไปดูแลเรื่องการเตือนภัย เพราะพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ริมชายหาดจะพอทราบสถานการณ์อยู่บ้าง เราต้องอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อถึงกรณีหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือว่าจะต้องเข้าที่ประชุม ครม.ด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยหลักถ้าประกาศเป็นภัยพิบัติแล้วการดูแลในงบฉุกเฉินสามารถทำได้เลย ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่รองนายกรัฐมนตรีจะเซ็นสั่งการได้ แต่การสำรวจความเสียหายเรื่องเม็ดเงินต่างๆ สามารถสำรวจได้เลยและนำเรื่องเข้า ครม.อีกครั้งเพื่ออนุมัติเงินออกมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับการรายงานสถานการณ์ที่ยังน่าเป็นห่วงเพิ่มเติมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีความคืบหน้า และตนจะไปหารือและกำชับในส่วนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำด้วยอีกส่วนหนึ่งว่า เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เราจะต้องนำมาให้นักวิชาการหรือคณะกรรมการเข้ามาช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกกรณีหนึ่ง
ต่อข้อถามว่า ระบบการเตือนภัยทันท่วงทีหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในลักษณะของการเตือนภัยยังทันท่วงทีแต่เราต้องนำข้อมูลการเตือนภัยมาวิเคราะห์ร่วมอีกหลายๆเรื่อง และการเตือนภัยครั้งนี้อาจจะเป็นการเตือนที่ฉับพลันไม่ใช่การเตือนล่วงหน้านานๆ ดังนั้น เรายังต้องการข้อมูลบนพื้นฐานที่สำคัญและการวิเคราะห์ เพราะวันนี้เราต้องรับว่าส่วนข้อมูลการวิเคราะห์การเตือนภัยต่างเรามาจาก4หน่วยงานด้วยกันและแต่ละหน่วยงานต้องมารวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้ง จึงจะแม่นยำมากกว่า
เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการวันนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ภาพรวมได้ในทิศทางเดียวกันแต่ว่าการที่จะมารวมศูนย์เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์มาประมวลอย่างแม่นยำและรวดเร็วเรายังต้องการทำงานบูรณาการเพิ่มเติม เช่น ในส่วนของพื้นที่ต่างๆเรื่องของสเกลอาจจะยังไม่ตรงกันบ้าง ซึ่งคงต้องนำไปแก้ไข