ประธาน กมธ.ชายแดน สภาฯ สุดงง “สุรพงษ์” ไม่ประท้วงเขมรยิง ฮ.ทัพเรือในเขตไทย จี้ออกแถลงการณ์ตำหนิเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ชี้ส่อละเลยหน้าที่หรือไม่ แถมไม่ส่งคนเข้าร่วมสังเกตการณ์ไอซีซีสำรวจพระวิหาร ปล่อยขึ้นฝั่งไทยได้สะดวก เสี่ยงเสียรูปคดีศาลโลก เล็งเชิญแจงแน่
วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายสามารถ มะลูลีม ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ทหารกัมพูชายิงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือไทย โดยที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่ได้ทำหนังสือประท้วงตามหลักสากลปฏิบัติ โดยอ้างสภาพความสัมพันธ์ที่ดีว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยให้ความสนใจมากว่าเพราะเหตุใดนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ทำหนังสือประท้วงต่อทางการกัมพูชา การจะอ้างบรรยากาศความสัมพันธ์ก็เป็นอีกเรื่อง แต่โดยหลักปฏิบัติของสากลที่นานาประเทศทำกัน เมื่อมีการรุกล้ำอธิปไตย หรือเขตแดนของเพื่อนบ้านต้องทำหนังสือประท้วง เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่า เรายืนยันว่าดินแดนหรือพื้นที่ดังกล่าวเป็นของเรา แม้ว่าพื้นที่ในหลักหมุดที่ 71-72 จ.ตราด ยังเป็นพื้นที่ซึ่งรอการเจรจาปักปันเขตแดนหรือรอการปักหมุด เพราะต่างฝ่ายก็ยืนยันว่าเป็นพื้นที่ของตน กระทรวงการต่างประเทศควรที่จะทำหนังสือประท้วงและออกแถลงการณ์ตำหนิผ่านสื่อทั้งไทยและเทศ เพื่อเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกประเทศทำกัน แต่นายสุรพงษ์กลับไม่ทำ ทั้งหมดก็เพื่อการรักษาสิทธิและอธิปไตยเหนือดินแดนพื้นที่ดังกล่าว การเจรจาก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป ไม่ใช่ยอมรับสภาพแล้วแต่เขาจะว่าอย่างไร ก็ทำตามเขาว่าไป ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่
ประธาน กมธ.กิจการชายแดนไทย กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับกรณีที่ทางการกัมพูชาได้แจ้งว่าจะนำผู้แทนของยูเนสโก หรือคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ขึ้นมาสำรวจความเสียหายในพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ที่ยังมีข้อพิพาทรวม 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้ส่งตัวแทนฝ่ายไทยขึ้นไปร่วมสังเกตการณ์ และยังปล่อยให้มีการรุกล้ำผ่านดินแดนของประเทศไทยใช้เป็นทางขึ้นไปได้โดยสะดวก ไม่มีการประท้วงใดๆ ถือเป็นการเสี่ยงและเป็นการเพิ่มน้ำหนักในการต่อสู้ในคดีที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ยื่นต่อสู้คัดค้านการขอขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ จึงเป็นการสุ่มเสี่ยงในรูปคดีการต่อสู้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งทั้งสองกรณีทาง กมธ.จะได้ทำหนังสือเชิญ รมว.ต่างประเทศ และข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงเหตุผล โดยเฉพาะการไม่ออกหนังสือประท้วงหรือแถลงการณ์อ้างสิทธิเหนือดินแดนของไทยทั้งสองจุดต่อไป และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด