xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ มอบนโยบายฟื้นฟูน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ มอบนโยบายฟื้นฟูน้ำท่วมแก่ผู้ว่าฯ หลัง ครม.อนุมัติงบ 6 หมื่นล้าน สำหรับจ่ายเงิน 5 พันต่อครัวเรือน เร่งเยียวยาควบแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน ชี้ งบช่วยยังไม่ครบต้องรอผ่านสภาก่อน แนะผู้ตรวจราชการทำตัวเหมือนผู้บริหารทำงานร่วม ผวจ.

วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานมอบนโยบายการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ตามที่คณะรัฐมนตรีที่ได้มีการอนุมัติแผนงาน/โครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ที่ได้รับจากการอุทกภัยรวมเป็นเงิน 60,983.2027 ล้านบาท โดยส่วนราชการสามารถใช้จ่ายจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2554 ไปพรางก่อนภายในกรอบวงเงิน 47,600 ล้านบาท ซึ่งมีตัวแทนผู้ตรวจราชการ 20 กระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด 64 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์หลายพื้นที่ได้เริ่มเข้าสู่ การฟื้นฟู เยียวยา แต่เราก็ไม่ลืมว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาอยู่ ซึ่งก็จะทำงานควบคู่กันไป ทั้งในเรื่องของการเร่งบรรเทาความเดือดร้อน และต้องเร่งแก้ไขบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และ จ.นครปฐม ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ อยากให้มีการทำงานทั้งสองส่วนควบคู่กันไป

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นในการทำงานร่วมกัน ก็คือว่า จากที่ ครม.มีมติฟื้นฟู เยียวยา ซึ่งหลายท่านก็อาจจะแปลกใจว่า เราก็มีการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งการฟื้นฟู เยียวยา จะเริ่มตั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ที่มีการอนุมัติการส่งเงินไปแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 120,000 ล้านบาท ที่ลงไปเยียวยาให้พี่น้องประชาชน แต่เนื่องจากเงินงบประมาณ ต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภาภายในเดือนกุมภาพันธ์ก่อน เพราะการใช้งบประมาณจะมีข้อจำกัด ที่เราจำเป็นต้องบริหารจัดการในการใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้แน่ใจว่า ในการจัดสรรงบประมาณลงไปนั้น จะให้ความสำคัญในการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ยังประสบปัญหาอุทกภัยโดยจะให้ความสำคัญงบประมาณก้อนแรก ที่ส่งลงไปยังทุกกระทรวงและทุกจังหวัด เรื่องแรกคือ การเยียวยา ครอบครัวละ 5,000 บาท ส่วนที่สองการเยียวยาพืชไร่เกษตรต่างๆ ซึ่งขั้นตอนแรกจะต้องมีการสำรวจ และมีการอนุมัติไปบ้างแล้ว และเงินที่ลงไปนั้นถึงมือพี่น้องประชาชนโดยผ่านกลไกของภาครัฐ โดยส่งผ่านต่อไปยังธนาคารออมสิน เพื่อจ่ายให้พี่น้องประชาชน ซึ่งเดือดร้อนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก ส่วนที่สองทำอย่างไรให้มีการเร่งซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้กับคืนมากลับสู่สภาวะปกติ อย่างเช่น ถนนที่ถูกตัดขาด เส้นทางคมนาคมที่ยังใช้ไม่ได้ จะต้องเน้นงบประมาณส่วนนี้ ส่วนที่สามคือการทำอย่างไร ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนนั้นดีขึ้น งบประมาณที่ลงไปจะต้องทำให้เกิดการกระตุ่นเศรษฐกิจไม่ให้การดำรงชีวิตของประชาชนนั้นติดขัด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ การดูแลพี่น้องประชาชน อยากขอให้ผู้ตรวจราชการ เสมือนเป็นผู้บริหารทำงานร่วมกัน ซึ่งต้องขอคุยเรื่องของบทบาทก่อนว่า อยากเห็นการทำงานแบบบูรณาการ ในการทำงานร่วมกัน เพื่อที่ให้แน่ใจว่าประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ดังนั้นผู้ตรวจการจะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมถึงทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ได้มีแต่ตั้งให้รับผิดชอบแต่ละจังหวัดด้วย ซึ่งจะเป็นกลไกต่างๆ ต่อไป โดยเน้นในหลักที่ว่าการใช้งบประมาณต่างๆ ที่ลงไปอยากให้ถึงมือพี่น้องประชาชน ด้วยความโปร่งใส และถึงมือประชาชนได้จากจำนวนที่สำรวจโดยแน่ใจว่าได้มีการสำรวจ และจ่ายเงินลงไปแล้วหรือตกสำรวจจะต้องดูในส่วนนี้ ซึ่งจะไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนยึดหลักบัตรประชาชน 13 หลัก และหากจะเกิดการซ้ำซ้อนก็ให้ซ้ำซ้อนได้ แต่ต้องคนละงาน ส่วนการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน อย่างในเรื่องของเส้นทางคมนาคมก็จะเป็นเรื่องของส่วนกลางก็จะอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงคมนาคม หากเป็นในส่วนของพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องของจังหวัด ซึ่งมีกลไกของมันอยู่แล้ว อย่างที่เป็นประชาคมของหมู่บ้านที่เป็น SML ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านที่จะตกลงร่วมกันที่เกิดจากความสมัครใจจากพี่น้องประชาชน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนการตรวจก็อยากฝากคณะกรรมการ เนื่องจากเรามีขั้นตอนในการตรวจการอย่างชัดเจน อย่างในเรื่องของโรงเรียน วัด ขอเน้นความสำคัญทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถเปิดการเรียนการสอนตามปกติได้ อะไรที่เป็นอุปสรรคที่จะไม่สามารถทำงานได้หรือสิ่งที่ทำได้ก็อยากขอให้ช่วยจัดลำดับความสำคัญ

“ทั้งนี้ เราต้องเน้นในเรื่องของงบประมาณก้อนแรก และการว่าจ้างต้องเป็นไปตามราคากลาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ถ้าเป็นเนื้องานอยากเห็นการตรวจสอบและประเมินผล วันนี้เราไม่อยากเห็นกลไกการตรวจสอบไม่ใช่เป็นลักษณะการจับผิด แต่ต้องการเห็นความโปร่งใส และทั่วถึง ประเมินผล ไม่อยากเห็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชน ที่สำคัญ จะเป็นการรับกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ในการรับสนองพระราชดำรัสของพระองค์ในการดูแลแก้ไขพี่น้องประชาชน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น