xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ยันงบฯ ด่วน 2 หมื่นล้านถึงมือ ปชช.ใน 3 วัน - ก.พ.เพิ่มอีก 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“ยิ่งลักษณ์” วาง 5 หลักเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย อัดฉีดงบฯ ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน เข้าถึงพื้นที่ใน 3 วัน จี้ผู้ว่าฯ เร่งจ่าย 5 พัน สำรวจรายชื่อ ปชช.ตกหล่น สั่งตัดโครงการไม่จำเป็นออก หลังทุกกระทรวงยันยอดเสียหายเดิมทำเงินไปพอจ่าย เผยกระทรวงศึกษาฯ โวยขอแค่ 2,417 ล้านบาท กลับถูกเบรกทั้งที่เสียหายจริง 5 พันล้าน

วันนี้ 12 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย สำหรับโครงการดำเนินการได้ทันทีในเดือนมกราคม 2555 เป็นเงิน 20,110.5572 ล้านบาท ว่าในการเบิกจ่ายงบประมาณ นายกรัฐมนตรีได้ให้หลักการ 5 ข้อ คือ 1.คำนึงถึงงบประมาณที่ใช้ได้จริง โดยดูกระแสเงินซึ่งทางสำนักงบประมาณฯ และสภาพัฒน์ จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง 2.กระทรวงที่เสนอเข้ามา สภาพัฒน์ และสำนักงบฯ จะตรวจดูความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จะซ้ำซ้อนไม่ได้ 3.จัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะดำเนินการได้ เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นจากนี้จนไปถึงเดือนมกราคม 55 เพราะฉะนั้น โครงการไหนที่ดำเนินการในช่วงนี้จะต้องเป็นงบประมาณที่ต้องอัดฉีดไปเต็มที่ และเพิ่มกำลังการซื้ออย่างเร่งด่วน เพราะเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย คือ ในไตรมาสที่ 4 ไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเม็ดเงินตรงนี้จะต้องเป็นเม็ดเงินที่ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที 4.บูรณาการรวมกับงานด้านอื่น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืน การลอกสภาพคูคลอง หรือไม่เอาเงินไปทำกับโครงการสุดท้ายที่จะรื้อ แปลว่าจะมีการใช้จ่ายเงินเพื่อในอนาคต และ 5.แหล่งเงินงปประมาณที่ลงไปในชุมชน จะต้องเข้าไปถึงพี่น้องประชาชนในแต่ละชุมชน โครงการบางโครงการที่ท้องถิ่นทำอยู่แล้วก็ให้ท้องถิ่นทำไป งบประมาณปกติที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วก็ให้ว่ากันไป

แหล่งข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันที่ 12 ธ.ค. ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย สำหรับโครงการดำเนินการได้ทันทีในเดือนมกราคม 2555 เป็นเงิน 20,110.5572 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ พร้อมกันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 66 จังหวัดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยนายกฯ ได้กล่าวว่า แม้จะเป็นวันหยุดซึ่งทุกคนต้องลงพื้นที่แต่ก็ต้องขอขอบคุณที่ทุกเสียสละเวลามาประชุม งานรัฐบาลกรอบใหญ่ 120,000 ล้านบาท แต่งบที่จะมาคุยในระยะเวลาสั้นๆ อันใกล้นี้ 60,000 กว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องมาคุยกันวันนี้คือ การจัดลำดับงบประมาณ จากนี้ไปจนถึงกุมภาพันธ์ เพราะผ่านจากกุมภาพันธ์ไปไม่น่ายาก

“เพราะจากวันนี้ถึงเดือนมกราคม เราต้องผ่านความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นประเทศเราจะเสียประโยชน์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการบริหารจัดการอย่างรอบคอบในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้เราสามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างทันท่วงที ขอเรียนว่าก่อนที่เราจะมีคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์และสร้างอนาคตประเทศ กยอ. และคณะกรรมการปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) มีคณะทำงานปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็มีเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จากวันที่เราเข้ามา จากระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปกติ จนมาถึง กยน.และ กยอ. จะรวบรวมเป็นเงินก้อนเดียวกัน และทั้งหมดต้องมีการจัดระเบียบไม่ให้ซ้ำซ้อน โดยเฉพาะเมื่อมีกยอ.ก็มีเรื่องของน้ำเข้ามาด้วย สภาพัฒน์ฯและสำนักงบฯต้องดูให้ละเอียด ไม่ให้ซ้ำซ้อน จากจุดนี้ไปต้องศึกษาผลกระทบจากน้ำ คุยหลักการให้จบในครม.ถ้า 2 หมื่นล้านแรกพิจารณาเสร็จวันนี้ถือว่า จบเลย หากโครงการของท่านไม่ซ้ำซ้อน และอยู่ในหลักเกณฑ์ 5 ข้อก็ใช้เงินเต็มที่เลย ไม่ต้องรอ เพราะหลายเรื่องรอไม่ได้ เช่น ถนนขาด ประชาชนสัญจรไม่ได้ ต้องรีบซ่อม ถนนสายหลัก สายรอ หากงบประมาณไม่พอก็ซ่อมสายหลักก่อน”

แหล่งข่าวเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษว่า ในที่ประชุม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งว่ากระทรวงศึกษามีโครงการที่จะต้องใช้เงิน 2,417 ล้านบาท แต่ทำไมไม่เห็นมีอยู่ในวาระเลย ซึ่งทางสภาพัฒน์ได้ชี้แจงว่างบประมาณดังกล่าวอยู่ในโครงสร้างอยู่แล้ว แต่น่าจะไปรองบประมาณใหม่ที่จะถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ส่วนนายกรัฐมนตรี เห็นว่าหากทุกคนยืนยันตัวเลขของตัวเองหมด เงินคงไม่พอดังนั้นต้องไปดูว่าโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนคืออะไร ทำให้นายวรวัจน์แย้งขึ้นมาทันที โครงการที่แจ้งมาถือว่าจำเป็นทั้งหมด ทำให้นายกฯ ได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าทุกคนเห็นว่างบประมาณตนเองสำคัญหมด งบประมาณคงหมด เอาเป็นว่าขอให้กลับไปดูใหม่ว่า อะไรที่เป็นปัญหาทำให้โรงเรียนเปิดไม่ได้ให้บอกมา เช่น โรงเรียนเสียหาย ประตูชำรุด ไฟฟ้าไม่ติด ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องซ่อมก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องของสนามฟุตบอล หรือส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นก็ให้รอไปก่อน

แหล่งข่าวเผยต่อว่า นายวรวัจน์บอกว่าความจริงที่สำรวจมา มีความเสียหาย 5 พันกว่าล้านด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่ ครม.ให้ทบทวนจึงเหลืองบประมาณจำเป็นแค่ 2,417ล้าน สำหรับ 2,600 โรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่ง 2,417 ล้านบาทนี้เปิดเรียนไม่ได้จริงๆ และถ้าจะให้รอไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ก็อาจจะต้องเลื่อนเปิดเรียนไปอีก ทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ได้ช่วยชี้แจงว่าในฐานะที่ตนเองดูงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน และหลายกระทรวงต้องกลับไปทำงบประมาณมาใหม่ ซึ่งงบนี้ยังไม่รวมงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมจะขอมาอีก 1 หมื่นกว่าล้าน และยังไม่รวมเงินเยียวยา ที่จะขอมาอีก ดังนั้นทุกคนต้องปรับลด เพราะหากเราไม่ปรับเตรียมเงินรองรับการเยียวยาประชาชนไว้จะทำให้เสียหายกับรัฐบาล แต่นายวรวัจน์ยังยืนยันว่า งบประมาณ 2,417 ล้านบาท เรารอไม่ได้ และในที่สุดนายกฯให้นายวรวัจน์ คุยกับ พล.อ.อ.สุกำพล และไปดูว่ามีตรงไหนที่จะต้องปรับลด หรือเกลี่ยได้บ้าง

ขณะเดียวกัน ในส่วนของจำนวนครัวเรือนที่ได้จะได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5 พันบาท ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย มีจำนวนทั้งสิ้น 2,635,110 ครัวเรือน ใน 62 จังหวัด เป็นเงิน 13,175.5500 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องของงบประมาณ แต่จะมีปัญหาในเรื่องของเงินเยียวยาจำนวน 2 หมื่นบาท 3 หมื่นบาท หากไม่มีการจัดสรรงบตามตามลำดับความสำคัญของโครงการ โดยไม่มีการปรับลด

ส่วนงบประมาณทางด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนงบประมาณ 314.544 ล้านบาท ส่วนโครงสร้างพื้นฐานคือในส่วนของโรงเรียน นักเรียนได้รับผลกระทบ 2,600 แห่ง 456.30 ล้านบาทสำหรับศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) จำนวนงบประมาณ 17.856 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 121.9183 ล้านบาท กระทรวงแรงงานในส่วนของคุณภาพชีวิตในเรื่องของการบรรเทาช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง 606 ล้านบาท สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณในการซ่อมบำรุงสถานอยู่ที่ 1382.6198 ล้านบาท ฟื้นฟูถนนสายหลัก โครงข่ายระหว่างเมือง 708 สายทาง งบประมาณ 1813.8748 ล้านบาท ทางหลวงชนบท 11 สายทาง 139.8100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทั้งหมดยังไม่เป็นยุติ ต้องมีการการไปเกลี่ยงบประมาณก่อน คือ จำนวนงบประมาณ 6 หมื่นล้าบาท ต้องมาคิดกันใหม่ จากนี้ไป 2 หมื่นล้านบาทแรกที่เห็นชอบวันนี้จะลงไปในพื้นที่ภายใน 3 วัน

งบประมาณเยียวยาทั้งหมดจำนวน 6 หมื่นล้านบาทนั้น จำนวน 2 หมื่นล้านบาทแรก จะลงพื้นที่ภายใน 3 วัน จำนวน 2 หมื่นล้านบาทต่อมา จะเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 55 และอีก 2 หมื่นล้านบาทจะเป็นโครงการในอนาคต สรุปงบประมาณ 47,340.2258 ล้านบาท จ่ายทันที 8,573.1296 ล้านบาท ภายใน 31 ธันวาคม 8,924.8163 ล้านบาท ภายในเดือนมกราคม 55 จ่าย 2,612.1560 ล้านบาท และจะไปจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 55 จำนวน 26014.7436 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฯ ได้แสดงความหนักใจ เนื่องจากต้องมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก สูงถึง 18,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมากโดยเฉพาะงบฯที่ต้องใช้ฟื้นฟูไร่นา เนื่องจากเข้าสู่กำลังเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกรอบใหม่ หากไม่เร่งมอบเงินส่วนนี้ให้ก็จะเกิดปัญหา ยังรวมไปถึงงบประมาณในส่วนของเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ข้าว

ด้านคุณภาพชีวิต นายกฯ ได้ย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่า นำงบประมาณที่ไปได้ไปเทลงให้กับประชาชนทั้งหมด จะต้องไปตรวจดูความซ้ำซ้อนของประชาชน โดยอิงจากหมายเลข 13 หลัก โดยเฉพาะกระทรวงที่ใกล้ชิดกับประชาชน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องไปตรวจดูโครงการอะไรที่จะอบรมอย่าเพิ่มอบรม เพราะถ้าจะอบรมต้องเป็นโครงการที่ให้ข้าราชการลงไปเป็นวิทยากรให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ลงไปฝึกอาชีพให้กับชาวบ้าน ต้องดูเลข 13 หลักเอามา ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อไม่ให้เงินกระจุกตัวจุดใดจุดหนึ่ง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า ในหมวดโครงสร้างพื้นฐานที่ตนเป็นประธานดูในกรอบงบใหญ่ แต่หากรายกระทรวงใดไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบฯ ที่ตัวเองเป็นประธานไม่มีปัญหา ให้ไปคุยกับสำนักงบประมาณฯ และสำนักงบประมาณได้ ถ้าหาก 2 หน่วยงานไม่ติดใจสามารถแลกเปลี่ยนโครงการได้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมขอมาจำนวนหมื่นกว่าล้านบาท

จากนั้นนายกฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด6 6 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยนายกฯ ได้เร่งให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการตรวจสอบความเสียหาย เร่งจ่ายเงิน 5 พันบาทไม่ให้ ตกค้าง ให้ถึงมือด้วยกลไกของภาครัฐ ต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างทั่วถึงว่าประชาชนที่อยู่ในบัญชีทำไมถึงยังไม่มารับเงิน มีตกหล่นหรือไม่ ใช้ระบบระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS เข้าช่วย นอกจากนี้ นายกฯ ได้ย้ำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่า นอกเหนือจะทำหน้าที่ในแต่ละกระทรวงแล้วก็จะต้องดูแลรายจังหวัดตามที่ได้มีคำสั่งมอบหมายก่อนหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น