xs
xsm
sm
md
lg

“นพดล” โบ้ย ปชป.ค้าน 6 ข้อเสนอ เหตุได้ประโยชน์จากรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
“นพดล” เฉไฉ ปชป.ค้านแนวทางปรองดอง 6 ข้อ เพราะได้รับประโยชน์จาก รธน.50 และการรัฐประหาร อ้าง เพื่อไทย ได้ ส.ส.เข้าสภาเกินครึ่ง เพราะเสนอนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกคำหรู ทำเพื่อทุกคนทุกสีเท่าเทียมกัน ปัดเอื้อประโยชน์ “ทักษิณ”

วันนี้ (12 ธ.ค.) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการเสนอแนวทางเพื่อความปรองดอง 6 ข้อ ว่า ก่อนอื่นตนขอย้ำว่า แนวคิดข้อเสนอ 6 ข้อนั้น เป็นแนวคิดส่วนตัวของตนเอง เป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง และไม่ใช่ข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ และตนไม่ได้บอกว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ให้ตนนำมาเสนอเพื่อนำไปสู่การเจรจา ซึ่งในเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ก็ระบุชัดเจนเช่นนั้น ตนเห็นว่า ในการจะเจรจาเพื่อหาแนวทางปรองดอง เราต้องเยียวยาและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เป็นเหยื่อของการรัฐประหารและการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเสียก่อน ข้อเสนอ 6 ข้อเป็นเพียงบางประเด็น ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นตุ๊กตาและตัวอย่างถึงประเด็นที่ควรพูดคุยกัน

นายนพดล กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายในสังคม มีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ตนหยิบยกขึ้นมา มีบางฝ่ายที่เห็นด้วยและได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และบางฝ่ายเห็นว่าความอยุติธรรมที่อีกฝ่ายได้รับ คือ ประโยชน์ และข้อได้เปรียบของฝ่ายตน ซึ่งจุดยืนเช่นนี้ คนส่วนใหญ่ของประเทศรับไม่ได้ ทั้งนี้ ตนไม่แปลกใจเลยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 6 ข้อที่ตนได้หยิบยกขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย แต่พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และประชาชนสนับสนุนเลือก ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเกินครึ่งในสภา ซึ่งสะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นประชาธิปไตย และความยุติธรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลไปแล้ว

นายนพดล ยังกล่าวต่อว่า ตนมุ่งหวังให้บ้านเมืองมีความยุติธรรม และประชาธิปไตย ที่ยั่งยืน เป็นมาตรการที่มีเพื่อทุกคนทุกสีอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ และถ้าใครอยู่ภายใต้มาตรการนั้น ก็จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ ข้อเสนอดังกล่าวจึงมิได้มีขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3 ก.ค.2554 ที่ผ่านมา แม้พรรคเพื่อไทยจะบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบาย แต่ในการหาเสียงนั้นได้มุ่งเน้นไปที่นโยบายแนวประชานิยมมากกว่า เช่น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 15,000 บาท จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ลดภาษีให้การซื้อรถคันแรก-บ้านหลังแรก แจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียน เป็นต้น ส่วนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคเพื่อไทยไม่พยายามพูดถึง หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการซ่อนเงื่อนไข เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากความผิดในคดีต่างๆ ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามา น่าจะเป็นเพราะนโยบายประชานิยมมากกว่านโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่นายนพดลกล่าวอ้าง

สำหรับข้อเสนอ 6 ข้อ ที่นายนพดลให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม ประกอบด้วย 1.คดีทางการเมืองจะทำอย่างไร เช่น การยุบพรรค การตัดสิทธิ์ทางการเมืองของบ้านเลขที่ 111 และ 109 เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม นั่นคือ มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 2.คดีอาญาที่ต่อเนื่องหลายคดี ที่เริ่มด้วยการเอาคนที่เป็นปฏิปักษ์และมีอคติต่อ พ.ต.ท. ทักษิณมาสอบ คือคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) 3.เรื่องยึดทรัพย์ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยุติธรรมแล้วหรือ เพราะคำพิพากษายึดทรัพย์ตัดแบ่งนับตั้งแต่ทรัพย์ในวันที่เป็นนายกฯ ยึดหมด วันที่เป็นนายกฯหุ้นขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วถูกยึดไปด้วย สมมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โกงอย่างน้อยก็ควรให้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องไว้

4.การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คิดว่า มีหลายคดีที่เห็นแล้วไม่สบายใจ ต้องมาคุยกัน 5.เป็นเรื่องคดีความของทั้งสองฝ่าย ทั้งคดีเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จะทำอย่างไร และ 6.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรกลับไปสู่ฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่หรือนำฉบับ 2540 มาใช้ก็จะปลดเงื่อนไขยุบพรรคตามมาตรา 237 ไปด้วย

ต่อข้อเสนอทั้ง 6 ข้อดังกล่าว นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงตอบโต้ว่า ข้อ 1.หาก พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เฉยๆ ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการต่อไป แล้วยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ก็สามารถยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้แล้ว 2.ข้อเรียกร้องที่ให้คืนทรัพย์สินและนิรโทษกรรม ถือเป็นการเปลือยตัวตน และเปิดเผยเป้าหมายที่แท้จริงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาในที่สุดด้วยตัวเอง ข้อ 3.พ.ต.ท.ทักษิณเองพยายามพูดว่าการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เหนือกว่าการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คือ การยอมรับคำตัดสินวิจนิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ทั้งที่ นายนพดล ก็เป็นนักกฎหมาย น่าจะไปอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟังว่า ศาลใช้เหตุผลใด ในการพิพากษาตัดสินในคดียึดทรัพย์

ข้อ 4.คนเสื้อแดงควรที่จะตาสว่างได้แล้วว่าการต่อสู้ที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ ไม่พูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือความเป็นประชาธิปไตย ไม่พูดถึงอำมาตย์หรือไพร่ พูดถึงเพียงผลประโยชน์ของคนเพียงคนเดียวที่จะกลับมารวย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะได้เงินคืน และได้รับการนิรโทษกรรม ข้อ 5.ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเคยยืนยันนโยบายในการหาเสียง ว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมและคืนทรัพย์สินให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่พอได้อำนาจรัฐแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวที่มีการเสนอมานี้ทำในนามของส่วนใด และ 6.ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาแสดงจุดยืนและความชัดเจนว่ามีความเห็นอย่างไร จะพูดว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ทราบอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะข้อเสนอที่ผ่านนายนพดลเหล่านี้ กำลังจะเป็นชนวนความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงรอบใหม่ในสังคมไทย นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำจึงมีหน้าที่ต้องตัดไฟแต่ต้นลม

กำลังโหลดความคิดเห็น