xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วิฯ ปรองดอง หนุนหลัก “นช.แม้ว” เน้นลืมและให้อภัย ยังไม่ตกผลึกแก้ กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
กมธ.วิฯ ปรองดอง เรียก สตช., ราชทัณฑ์ ถก “คณิต” เมินร่วม ด้าน ประธานโวที่ประชุมสอดคล้องหลักให้อภัย ยังไม่เน้นที่บุคคล มองแค่ขัดแย้งแดงเหลือง ยันไม่ลงลึกเรื่องสถาบัน พร้อมศึกษาข้อเท็จจริง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้าน “ศุภชัย” หนุนหลัก “นช.แม้ว” ลืมและอภัย ยังไม่ตกผลึกแก้กฎหมาย ด้าน “ชวลิต” เล็งเชิญคู่ขัดแย้งให้ข้อมูล

วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้มีการเชิญผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมราชทัณฑ์ เข้าให้ข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคมต่างๆ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงและสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ กมธ.ได้เชิญไปอีกครั้งนั้น ยังไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลติดภารกิจเช่นเดียวกับในสัปดาห์ที่แล้ว

ภายหลังการประชุม พล.อ.สนธิ เปิดเผยว่า บรรยากาศของในการประชุมดีขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ได้มีการหารือรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน หรือการสนทนาธรรม ระหว่าง กมธ.ที่มาจากทุกพรรคการเมือง เบื้องต้นมีความเห็นที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับสิ่งที่นำไปสู่การปรองดอง คือ ใช้หลักการอภัย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นการเฉพาะ แต่จะใช้เงื่อนของเวลา ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ข้อมูล คือ ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มสี และดึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นคู่กรณีเข้ามาพูดคุยเพื่อเปิดใจ ถึงปัญหาและร่วมหาวิธีแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพิจารณาตามห้วงเวลา มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาฯ มาพูดคุย พล.อ.สนธิ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่พูดถึงเรื่องตัวปัจเจกบุคคล เพราะต้องพิจารณาในส่วนของคู่ขัดแย้ง เท่าที่มองเห็นความขัดแย้งในปัจจุบัน เกิดขึ้นระหว่าง ประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับรัฐ บุคคลกับรัฐ และบุคคลกับกฎหมาย รวมไปถึงกลุ่มสีแดง และสีเหลือง ดังนั้น ต้องนำคู่กรณีของแต่ละฝ่ายมาพูดคุยถึงวิธีการที่จะแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมีมิติของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น ต้องระวัง เช่นเดียวกับปัญหาที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทาง กมธ.คงไม่ได้ลงลึกในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามต่อถึงกรณีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ซึ่งมีความขัดแย้งอยู่ 2 ฝั่ง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พล.อ.สนธิ กล่าวว่า กมธ.ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากกระแสที่ทำให้เกิดเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งทาง กมธ.จะต้องมาศึกษาว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น หากสามารถนำความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเข้ามาประยุกต์ใช้ได้ จะทำให้บรรยากาศการหาแนวทางยุติความขัดแย้งเป็นไปได้ไม่ยาก ด้วยการใช้หลักการลืม (forget) จากนั้นต้องให้อภัย (forgive) ซึ่งในหลายประเทศที่มีความขัดแย้ง ร้าวลึกมากกว่าประเทศไทย ได้นำโมเดลดังกล่าวมาใช้ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ สำหรับกลไกที่จะนำไปสู่การให้อภัยนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้แนวทางของการแก้ไขกฎหมายหรือไม่เพราะการให้ความเห็นยังไม่ตกผลึก ส่วนตัวมองว่าหลักของการให้อภัยนั้น ต้องใช้หลักของนิติธรรม และอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันว่าต้องแก้ไขกฎหมาย หรือแก้รัฐธรรมนูญ ทางกรรมาธิการ ต้องหยิบยกมาพิจารณา

ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขานุการ กมธ.กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ทางสถาบันพระปกเกล้าได้รับเรื่องของ กมธ.เกี่ยวกับการศึกษา และวิจัยปัจจัยที่นำไปสู่ความปรองดองแห่งชาติ สำหรับการทำงานของ กมธ.ปรองดองขณะนี้ ถือว่ามีความคืบหน้าไปอย่างมาก และในการประชุมครั้งต่อๆ ไป มีความเป็นไปได้ที่จะเชิญคู่ขัดแย้งมาให้ข้อมูลในที่ประชุม เพื่อหาปัจจัยที่นำไปสู่ความปรองดอง และข้อเห็นต่างที่เป็นข้อยุติ เบื้องต้นในการประชุมสัปดาห์หน้า เชิญสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น