xs
xsm
sm
md
lg

ผุด “โซเชียลเน็ตเวิร์ก พิทักษ์คุณธรรม” เผยแพร่ความดี ตร.-ทหาร-ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ตร.จริยธรรม ผุดโครงการ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก พิทักษ์คุณธรรม” พร้อมจัดกิจกรรม “คนดีมีที่ยืน” เผยแพร่ความดี “ตำรวจ-ทหาร-ข้าราชการ” ให้สังคมประจักษ์ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ

อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจริยธรรม หรือ ก.ตร.จริยธรรม ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการสื่อสารผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ จึงได้มีการจัดทำโครงการ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก พิทักษ์คุณธรรม” ขึ้น พร้อมจัดกิจกรรม “คนดีมีที่ยืน” ขึ้น เพื่อหาที่สำหรับการเผยแพร่การทำความดีให้เป็นที่ประจักษ์กับประชาชนโดยทั่วไป

พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุ ก.ตร.จริยธรรม กล่าวว่า หน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ก.ตร.ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ ซึ่งเล็งเห็นว่าเราควรส่งเสริมการทำความดี จึงได้ร่วมมือกับทาง ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในการจัดทำโครงการ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก พิทักษ์คุณธรรม” ขึ้น พร้อมจัดกิจกรรม “คนดีมีที่ยืน” ขึ้น โดยจะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย โดยกิจกรรมนี้จะใช้ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อให้ประชาชนช่วยเผยแพร่ผู้ที่มีความประพฤติต่อสังคม โดยเฉพาะข้าราชการทุกหมู่เหล่า ไม่เพียงเฉพาะตำรวจเท่านั้น หากเห็นว่ากระทำความดีก็สามารถเขียนเป็นเรื่องราว หรือรูปถ่ายมาโพสต์ได้ในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กของเรา ทั้งทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือส่งอีเมล เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ เชิดชูเกียรติ บุคคลเหล่านี้

พล.ต.อ.สถาพรกล่าวถึงจุดประสงค์ของโครงการนี้ว่า ที่จัดกิจกรรมลักษณะนี้เพื่อเชิดชูขยายผลการกระทำความดีให้มากขึ้น และเพื่อให้เห็นแบบอย่างให้ประชาชนทั่วไปได้ประพฤติปฏิบัติตาม สำหรับหลักเกณฑ์บุคคลที่เข้าข่ายในกิจกรรมนี้ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผู้ที่ทำความดีอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ เช่น เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต ต่อต้านการทุจริต 2.ผู้ที่ทำความดีที่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ทหาร ตำรวจ ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ 3.ผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นในชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยคนแก่ข้ามถนน ช่วยทำคลอดบนรถแท็กซี่

“การที่เราเลือกเผยแพร่ความดีผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากมองว่าเป็นระบบที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่ใช้การสื่อสารกันมากถ้ามีโครงการดีๆ เช่นนี้ก็จะเป็นการปลูกฝังเยาวชนเหล่านี้ ให้มีจิตอาสามากขึ้นด้วยในอนาคต ทั้งนี้ อยากฝากถึงประชาชนที่ต้องการเผยแพร่ความดี ผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คของเรา ว่าเรื่องที่ส่งมาขอให้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เพราะจุดประสงค์ของเรานั้นต้องการให้คนที่เข้ามาอ่านได้เห็นแบบอย่างที่ดีจริงๆ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติต่อไป” พล.ต.อ.สถาพรกล่าว

ด้าน ดร.นพดล กล่าวถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า เกิดจากการสนทนากับ พ.ต.ท.ดร.พงษ์นคร นครสันติภาพ จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ได้แนะนำว่าข้าราชการที่ดีมีอยู่เป็นจำนวนมากถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ จึงน่าจะมีโครงการยกย่องเชิดชูแบบไม่จำกัดพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่กลุ่มข้าราชการจำนวนมากเหล่านั้นที่อาจไม่ปรากฏให้เห็นในสื่อมวลชน หรือในระบบราชการตามสายการบังคับบัญชา และอาจไม่ได้รับความดีความชอบตามสายงานของตนเอง ศูนย์วิจัยความสุขชุมชนน่าจะจัดทำโครงการโซเชียลเน็ตเวิร์กพิทักษ์คุณธรรมขึ้น โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคนดีศรีสังคมโดยดูจากจำนวนคลิก Like ในโซเชียลมีเดีย และมติจากคณะกรรมการบริหารโครงการคนดีมีที่ยืน ในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กพิทักษ์คุณธรรม

“ประชาชนที่พบเห็นคนทำความดีสามารถส่งภาพถ่าย เล่าเรื่อง ระบุยศ ชื่อ ตำแหน่ง สังกัดของคนทำความดี มาได้ที่ policemoral191@gmail.com หรือ thaipolicemoral@gmail.com หรือเข้าสู่โซเชียลเน็ตเวิร์กพิทักษ์คุณธรรมได้ที่ เฟซบุ๊ก ชื่อ “อนุกรรมการ ก.ตร.จริยธรรม” และทวิตเตอร์ @PoliceMoral และเว็บไซต์ www.police.au.edu รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่0-2719-1546–7 หรือ ส่งจดหมายมาที่ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 592/3 ซอยรามคำแหง 24 ถ.รามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10250”

ดร.นพดล กล่าวว่า ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นมีข้อดีอยู่มากก็จริง แต่ถือเป็นสื่อที่ไม่สามารถควบคุมได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้อย่างอิสระ เปรียบเสมือนดาบสองคม หากผู้ใช้นำไปใช้ในทางที่ผิดนำไปเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก็จะกลายเป็นโทษ แต่หากหน่วยงานต่างๆ หันมาส่งเสริมให้นำใช้อย่างเกิดประโยชน์ก็จะกลายเป็นพลังผลักดันในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่อย่างเยาวชนที่จะนำไปเป็นแบบอย่าง แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ประเทศไทยของเราต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น