ปธ.ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคต ฟุ้งเดินสายอังกฤษ และญี่ปุ่น ยันต่างหวังช่วยเหลือไทยไม่ทอดทิ้ง ชี้ ญี่ปุ่นเห็นเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ มั่นใจไม่มีใครหนี ย้ำ ต้องเรียกความเชื่อมั่นการลงทุน-ท่องเที่ยวคืน หวังนักท่องเที่ยวช่วยเป็นกระบอกเสียง เร่งกู้ “กรุงเก่า” จุดเเรก ไม่หวั่นการเมืองจะทำให้งานสะดุด ยืนยันทำงานเต็มที่แม้ผลอาจไม่เต็มร้อย
วันนี้ (1 ธ.ค.) เมื่อเวลา 15.20 น.นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินกลับจากเยือนญี่ปุ่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน หลังจากประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัย ว่า หลังจากตนเดินทางไปอังกฤษ เพื่อพบบริษัทรับประกันภัย ตนก็ไปญี่ปุ่นกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้พบนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ซึ่งญี่ปุ่นยืนยันว่า จะลงทุนในไทยต่อไปและจะสนับสนุนโครงการต่างๆ ในมาตรการป้องกันน้ำท่วมในระยะสั้นและระยะยาวจากหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ ไจก้า เจบิก กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงที่ดูแลสถาบันการเงินที่ดูแลบริษัทประกันภัยจะสนับสนุน รัฐมนตรีญี่ปุ่นคนหนึ่งสั่งเลขานุการไปแจ้งบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นว่าต้องสนับสนุนไทยเพราะเป็นฐานการผลิตสำคัญนอกประเทศที่สำคัญสุด
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เล่าให้ตนฟังว่าไทยเป็นฐานอุตสาหกรรมการส่งออกของญี่ปุ่นที่สำคัญสุด วิกฤตน้ำท่วมในไทยมีผลกระทบกับห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่นและส่งผลไปทั่วโลก ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ใช้กันทั่วโลกผลิตที่ จ.อยุธยา กว่าร้อยละ 60 เหตุนี้จึงเกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งนี้ ญี่ปุ่นคิดว่าจะอยู่ในไทยต่อไป ส่วน จ.อยุธยา ที่น้ำท่วมนั้น ญี่ปุ่นกังวลว่าสินค้าที่ผลิตจาก จ.อยุธยา นั้น คนจะกลัว ฉะนั้น การกู้ชื่อเสียง จ.อยุธยา ที่เป็นฐานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญของโลก ตนได้รับปากว่าจะกู้ชื่อเสียง จ.อยุธยา ซึ่งเป็นฐานผลิตสำคัญของโลกด้านนี้ให้ได้
“อุตสาหกรรมนี้ตนถามว่าทำไมอยู่ที่ จ.อยุธยา และไม่ย้ายไปที่อื่น ญี่ปุ่น บอกว่า ที่นี่น้ำมีคุณภาพพิเศษ อุตสาหกรรมนี้ใช้น้ำมาก และไม่ใช่จะไปอยู่ที่ใดในเมืองไทยได้ บริษัทต่างๆ มีความลับทางเทคนิคการผลิตของตัวเอง จ.อยุธยา จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ จึงจะอยู่ต่อและร่วมมือกับตนที่จะกู้นิคมฯ ที่จมน้ำย่านชานเมือง และกทม.ส่วนกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น บอกว่า จะร่วมมือเต็มที่ผ่านไจก้า โดยไจก้าศึกษาระบบน้ำของไทยทั่วประเทศมานานแล้วตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย ฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องใหม่ของไจก้าเลย ไจก้าก็ยินดีร่วมมือ นายกิตติรัตน์ จึงขอให้ไจก้าเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่ นายกิตติรัตน์เป็นประธาน” นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตนยังได้พบกับองค์กรสำคัญต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น สภาการค้าและสภาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยแกนนำองค์กรนี้ได้มาคุยเรื่องการป้องกันน้ำท่วม โดยตนชี้แจงระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวให้ทราบ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นสอบถามว่ารัฐบาลไทยพร้อมด้านการเงินที่จะดำเนินการเรื่องนี้เพียงใด ตนตอบไปว่าไทยในตอนนี้พัฒนามาเป็นประเทศกึ่งพัฒนาแล้วและมีกำลังทางการเงินที่แข็งแรงพอ โดยเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด 12 ปี มีฐานะทางการคลังที่มั่นคง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีร้อยละ 40 โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ใช่หนี้ของรัฐบาล โดยตรงนี้จะต้องจัดรูปแบบใหม่ ฉะนั้นวินัยทางการคลังไม่มีสิ่งน่าห่วง เพราะอยู่ในกรอบที่ลงทุนได้
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ตนยังพบประธานของ 4 หน่วยงานสำคัญญี่ปุ่น เช่น ไจก้า เจบิก เจโทรและหอการค้าฯของญี่ปุ่น ตนชี้แจงให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะลงทุนและขยายกิจการในไทยได้ โดยตนชี้แจงแผนการไปแล้วและแจ้งไปว่าไจก้าจะมีบทบาทสำคัญที่จะให้คำแนะนำทางเทคนิค เพราะไจก้าได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้ว จึงทำให้เกิดความมั่นใจของญี่ปุ่น เพราะไทยได้หารือกับไจก้าไว้แล้ว ทั้งนี้ ตนยังพบประธานบริษัทประกันภัย 3 แห่งที่ใหญ่สุดในญี่ปุ่น เช่น มิตซุยซูมิโตโม, โตเกียวมารีน, ซัมโป โดยทั้ง 3 บริษัทนี้พูดว่าดีใจที่ตนไปอังกฤษ และชี้แจงกับบริษัทรอยส์ ออฟลอนดอน ซึ่งสนับสนุนและยืนยันว่าจะคงธุรกิจในไทยต่อไป และบอกว่า ไม่ต้องกังวล เพราะไทยมีประสบการณ์นี้น้อยกว่า ทางญี่ปุ่นทราบเรื่องแล้ว จึงเบาใจไปครึ่งแล้วว่าตนไปปลายทางแล้วค่อยมาญี่ปุ่น โดย 3 บริษัทนี้ยืนยันว่าจะทำธุรกิจในไทยต่อไป
“ญี่ปุ่นกังวลและถามตน คือ มีเงินและความรู้แก้ปัญหานี้หรือไม่ ตนตอบไปว่า เรามีทั้งความรู้และเงิน เหลือเพียงความตั้งใจและประสานงานในด้านต่างๆ ตนบอกไปอีกว่า ไทยนั้นไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมมาก แต่หน่วยงานมีหน้าที่หาและกักเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนและเกษตรกรไว้ใช้ ทัศนคติจึงมุ่งไปยังหาและกักเก็บน้ำ โดยไม่มีความเชี่ยวชาญด้านระบายน้ำ เมื่อภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไปโดยเป็นที่ยอมรับกัน เราต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ในด้านบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่หาและเก็บน้ำอย่างเดียว” นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า การต่อสัญญาประกันในปีต่อๆ ไป ปีแรกอาจติดขัดบ้างแต่ปีต่อไปจะสะดวก แต่ราคาเบี้ยประกันภัยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันเป็นรายๆ ไปว่าจะปรับเบี้ยประกันขึ้นเท่าใด ยืนยันว่า จะไม่มีบริษัทประกันภัยของต่างประเทศถอนตัวจากไทยเว้นแต่ฝรั่งเศสเพียงหนึ่งบริษัทเท่านั้น และแต่เดิมนั้นจะมีการทำประกันภัยในก้อนเดียวกัน จากนี้จะมีการแยกทำประกันอุทกภัยออกมา คือ เจรจาเฉพาะการประกันตรงนี้ มันจะง่าย ส่วนประกันด้านอื่นๆจะคงไว้เช่นเดิม
“จากนั้นตนไปพบ นสพ.นิกเคอิชินบุน และสำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยตนระบุไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้นและน่าจะเป็นข่าวออกไปทั่วโลกแล้ว ว่า รัฐบาลไทยให้ความมั่นใจและเอาใจใส่ด้านการประกันภัย จากนี้ตนต้องคุมงานที่ให้คำสัญญาว่าจะซ่อม สร้าง เสริม ในสิ่งที่มีอยู่แล้ว” นายวีรพงษ์ กล่าวและว่า ในบ่ายวันนี้ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพิ่งมาพบกับตนและหารือเรื่องน้ำ โดยเนเธอร์แลนด์มีความรู้เรื่องน้ำมาก และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์พร้อมเปิดสาย 24 ชั่วโมง เพื่อแสดงยินดีที่จะช่วยเหลือไทยทางกำลังคน เทคนิค และยังเห็นพ้องแนวทางการปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับแนวทางที่ไจก้าศึกษาไว้แล้ว เพราะถูกต้อง สมเหตุผล ตนกล่าวขอบคุณและยินดีรับความช่วยเหลือทางความคิดและโอกาสจากมิตรประเทศ เพราะนานๆ ครั้งไทยจะมีประสบการณ์แบบนี้ขึ้น
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียกนักท่องเที่ยวให้กลับไทยดังเดิม เพราะเป็นกระบอกเสียงสำคัญแบบปากต่อปาก เป้าหมายที่เล็งไว้ คือ ดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวกทม.และอยุธยา เท่าเดิม ไม่ได้หวังเพียงเงิน แต่ต้องการให้เป็นกระบอกเสียงสร้างความมั่นใจให้โลกและนักลงทุน ทราบว่า ไทยมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของตัวเอง โดยตนต้องไปปรึกษากับกระทรวงท่องเที่ยว และ ททท.ก่อน เพื่อวางแผนการใช้งบประมาณในเร็วๆ นี้ ขอย้ำว่า ททท.นั้นเก่งและต้องให้รู้เป้าหมายแรกของตนด้วย ขอย้ำว่า ททท.นั้นทำงานนี้มานานแต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่เพราะสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมแล้ว มันต้องดูว่านกท่องเที่ยวกลัวสิ่งใดและทำอย่างไรจะดึงกลับมาได้
เมื่อถามว่า จ.อยุธยา นั้น จะมีแผนระยะสั้นให้เกิดเป็นรูปธรรมด้านท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอย่างไร นายวีรพงษ์ กล่าวว่า การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมในปีหน้า รวมทั้งบูรณะฟื้นฟูให้กลับมาดั่งเดิม โดยตนต้องประสานกับหลายฝ่าย เมื่อถามว่าจะสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องนี้อย่างไร นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ตนต้องหารือกับผู้รู้ที่ทำงานด้านนี้ โดยมีนโยบายว่าจะลบภาพความเสียหายของ จ.อยุธยา ได้อย่างไร เพราะญี่ปุ่นแนะนำว่าเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมในจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่น ประชาชนไม่สั่งสินค้าเพราะเกรงว่าจะไม่ได้สินค้า เพราะจัดส่งไม่ได้ตรงนี้ชื่อเสียงจึงติดลบ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ กู้ชื่อ จ.อยุธยา ให้ออกจากจินตนาการของนักธุรกิจทั่วโลก จากนั้นลบภาพนี้จากความคิดของนักท่องเที่ยวและบริษัทนำเที่ยว ตนคิดว่า ต้องดึงนักท่องเที่ยวกลับมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ไทย เมื่อถามว่า การเมืองในไทยจะทำให้การทำงานชะงักหรือไม่ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่สนใจ หากการเมืองมีปัญหาตนจะฟ้องสื่อมวลชนที่นี่
เมื่อถามว่า ภารกิจที่รับไว้นี้จะหนักเกินไปหรือไม่ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า “หนัก แต่ต้องทำและพยายาม เปรียบเทียบว่าเรียนหนังสือนั้นได้ร้อยละ 75 ก็ได้เกียรตินิยมแล้ว ไม่มีใครได้เต็ม 100 หรอก”