xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความเห็นมติ กกต. 4:1 ฟัน “ตู่” ส่งศาลเพื่อตอกย้ำความชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จตุพร พรหมพันธุ์ (แฟ้มภาพ)
เผยมติ กกต.เสียงข้างมากเห็นพ้องแต่แรก “จตุพร” มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. เห็นควรส่งศาลเพื่อตอกย้ำกันโต้แย้งในอนาคต ส่วน “สดศรี” กกต.เสียงข้างน้องเพียงคนเดียว อ้าง รธน.เป็นกฎหมายสูงสุด ชี้เหตุสิ้นสุดเพียง 11 ข้อ เมื่อ “ตุ๊ดตู่” ไม่ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. จึงไม่มีเหตุสิ้นสภาพ แถจะเอา พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาปรับขยายความไม่ได้


วันนี้ 30 พ.ย. รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำหรับความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ลงมติ 4 ต่อ 1 ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และมาตรา 10 (11 ) ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (4) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในวันที่ 3 ก.ค. 54 นั้น นายจตุพร ถูกคุมขังโดยหมายของศาล จึงไม่สามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในวันดังกล่าว ส่งผลให้ขาดการเป็นสมาชิกภาพของพรรคตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง

ทั้งนี้ ความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเฉพาะไว้แล้ว สามารถนำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 20 มาตรา 19 และมาตรา 8 มาบังคับใช้ได้

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้มีความเห็นและลงมติ ยืนตามมติที่ประชุม กกต.ครั้งที่ 99/2554 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.54 ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 ตั้งแต่แรกที่เห็นว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติ นายจตุพร มีลัษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ประกอบมาตรา 8

ขณะที่ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ก็มีความเห็นให้ส่งเรื่องไปตามช่องทางมาตรา 91 เช่นกันแต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปอาจจะยังมีปัญหาโต้เถียงกันว่า การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพร สิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 20 (3) อันจะส่งผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) หรือไม่ เมื่อใด

ส่วน นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม มีความเห็นว่า มีความเห็นส่งไปตามช่องทางมาตรา 91 เช่นกัน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และมาตรา 8 จะสามารถนำมาขยายความเกี่ยวกับการสิ้นสุดลง ซึ่งสมาชิกภาพของส .ส.ตามมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไว้ในมาตรา 101 และมาตรา 102 โดยยกเว้นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 100 (3) ซึ่งอาจมีความไม่สอดคล้องกันจึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยหลายชุด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลรัฐธรรมนูญจึงควรวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน

ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ซึ่งเป็น กกต.เสียงข้างน้องเพียงคนเดียว มีความเห็นว่า เรื่องนายจตุพรเห็นว่า สมาชิกภาพยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 106 เพราะเมื่อพิจารณาตามมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (3) และมาตรา 100 (3) แล้วเห็นว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล นอกจากมีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้วก็ยังไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ภายหลังการประกาศผลให้ผู้นั้นเป็น ส.ส.แล้ว และในมาตรา 106 ได้บัญญัติถึงเหตุแห่งการสิ้นสุดของสมาชิกภาพของ ส.ส.ไว้เพียง 11 ข้อ การใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ได้ระบุ เฉพาะให้นำคุณสมบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาบังคับใช้เท่านั้น

นางสดศรียังได้บันทึกการลงมติอีกด้วยว่า ในกรณีนี้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ส่งเอกสารยืนยันว่า นายจตุพรไม่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย จึงมีผลทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติการสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 106 ไว้อย่างชัดเจนแล้ว การนำบทบัญญัติการสิ้ดสุดสมาชิกพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาขยายความหรือตีความประกอบการใช้มาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันใช้บังคับไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น