เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รมว.ยุติธรรม ที่งานนี้โดนจับขึ้นเขียงเชือดเดี่ยว ในข้อหาอุกฉกรรจ์เป็นหางว่าว ตั้งแต่จงใจทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และบริหารราชการแผ่นดินบกพร่องล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ปล่อยให้มีการกระทำทุจริต ขัดหลักนิติธรรม และเอื้อประโยชน์ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด
แต่ยังคงเหลือให้ลุ้นการลงมติอีกเปลาะหนึ่ง ซึ่งคงไม่น่าเป็นห่วง เพราะเสียงของพรรคเพื่อไทยบวกกับพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าฝั่งพรรคประชาธิปัตย์อยู่มากโข ที่สำคัญพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจผิดคิวไม่ร่วมลงคะแนนให้อีกต่างหาก
ทำให้คาดว่าคะแนนไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา จะออกมาแบบผ่านฉลุย
ย้อนกลับไปดูบรรยากาศตลอด 1 วัน 1 คืน รวมแล้วกว่า 14 ชั่วโมงที่ขุนพลพรรคประชาธิปัตย์เรียงหน้าร่ายมนต์ชำแหละการทำงานที่ล้มเหลวของ พล.ต.อ.ประชา ในการทำหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ต่อประเด็นความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ ศปภ. รวมไปถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการทุจริตในหลายกรณี อาทิ การจัดซื้อถุงยังชีพ เรือ และเต็นท์ เป็นต้น และการแต่งตั้งนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานภายใน ศปภ.อีกหนึ่งกระทง
ส่วนประเด็นร้อนอย่างการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ ที่คาดว่าจะเป็น “หมัดฮุก” เด็ดปีก “อินทรีอีสาน” อย่าง พล.ต.อ.ประชา ก็ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุ่มเสี่ยงต่อการระคายเบื้องพระยุคลบาท แต่ก็ไม่วายถูก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่รับไม้แรกเป็นผู้เปิดหัวการอภิปรายครั้งนี้ ตั้งข้อสงสัยพิรุธหลายข้อ ไล่ตั้งแต่สาเหตุที่ต้องประชุมลับ ทั้งที่ในอดีตเป็นเพียงวาระจร ที่มีการเรียกเอกสารกลับคืนเท่านั้น และยังได้กล่าวหา พล.ต.อ.ประชาว่าร่วมวางแผนตบตาประชาชนให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปค้างคืนที่ จ.สิงห์บุรี ก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาเอื้อญาติ รวมทั้งข้อสงสัยด้วยว่า หากเรื่องที่ปรากฎเป็นข่าวไม่จริง ทำไมรัฐบาลไม่ออกมาปฏิเสธตั้งแต่วันแรก แต่กลับรอจดหมายจากต่างประเทศปฏิเสธว่าไม่ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จึงค่อยออกมาแถลงข่าวชี้แจงว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ ตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องนี้มี “ใบสั่ง”
ประธานวิปฝ่ายค้านยังได้เปรียบคำว่า “สับขาหลอก” ไว้อย่างน่าฟังโดยว่า “เรื่องการสับขาหลอก ผมเชื่อครับว่าท่านเฉลิมสับขาหลอกจริง เพราะท่านกำลังจะเลี้ยงเดี่ยวเข้าไปยิงประตู แต่มีคนมาขวาง จึงต้องกลับลำ 360 องศา หรือหยิบของไปแล้วถูกจับได้แล้วเอาไปคืน สุดท้ายจึงอยากตั้งคำถามว่า ระหว่างผลประโยชน์ประชาชนกับคนๆ เดียว รมว.ยุติธรรมจะเลือกใคร”
แต่นายจุรินทร์ก็ยอมรับว่า ต้องการฟังคำชี้แจงจาก พล.ต.อ.ประชา เพราะไม่มีเอกสารใดยืนยัน
โดยแม้ว่า พล.ต.อ.ประชา จะออกตัวว่าไม่อยากให้มีอภิปรายในเรื่องนี้ เพราะละเอียดอ่อน และอาจมีการพาดพิงถึงเบื้องสูง แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่า พล.ต.อ.ประชาคงอยากให้มีการอภิปรายซักถามในประเด็นนี้มากกว่าการทุจริตของ ศปภ. เพราะประเด็นอภัยโทษนี้ยังถือว่ายัง “ดำมืด” ไม่มีผู้ใดเห็นเอกสารที่แท้จริง ว่าร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับที่รัฐบาลยื่นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจทานความถูกต้องนั้น มีเนื้อหาเป็นเช่นไรกันแน่
มีถ้อยคำที่เอื้อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องกาหลบหนีคดีอาญาแผ่นดินจริงหรือไม่
เมื่อยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง และฝ่ายค้านไม่สามารถ “ล้วงตับ” ออกมาได้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร อีกทั้งวันนี้รัฐบาล “กลับลำ” ได้ทันท่วงที ดังนั้นการอธิบายในเรื่องนี้จึงง่ายดาย โดยอ้างว่าเป็นการทำงานต่อยอดจากเรื่องที่ตั้งไว้โดย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีต รมว.ยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ รวมทั้งการ “ย้อนศร” ถามว่าวันที่นายพีระพันธุ์ลงนามในร่าง พ.ร.ฎ.น้น เป็นวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นนายกฯแล้ว ถือว่าถูกต้องหรือไม่
“พวกท่านกำลังยึดกับบุคคลหนึ่ง ที่ท่านมีอคติหรือไม่ ทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่ยังกลับพุ่งเป้าไป เพราะความอคติ แต่หากยังสงสัยผมจะให้ท่านอภิสิทธิ์ และท่านพีระพันธุ์ มาดูเอกสารที่ผมถืออยู่นี้ ผมยืนยันว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิม ยกเว้นที่เพิ่มเข้ามาคือการลดโทษเท่านั้น ส่วนที่ผมไม่ชี้แจงตั้งแต่แรก เป็นเพราะผมเป็นคนไม่ชอบพูด หากมีสาระผมจะพูด แต่หากเป็นสิ่งที่ฝันไปเอง ผมไม่พูด” พล.ต.อ.ประชาชี้แจง
ด้าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะยืนยันที่จะอภิปรายเรื่องนี้ โดยพยายามไม่ก้าวล่วงสิ่งที่ดำเนินการอยู่ แต่ท้ายที่สุดก็เป็นคนตัดบทว่าจะนำเรื่อง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ไปหารือกับ พล.ต.อ.ประชาก่อน โดยขอให้ที่ประชุมอภิปรายเพียงแต่ประเด็นน้ำท่วม และการบริหารใน ศปภ.ไปก่อน
ซึ่งเมื่อนายอภิสิทธิ์หารือเป็นการส่วนตัวกับ พล.ต.อ.ประชา และคาดว่าจะได้เห็นเอกสารร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ทำให้ไม่ได้มีการอภิปรายเรื่องดังกล่าว และเป็นสาเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ขาด “ทีเด็ด” ที่จะเผด็จศึก พล.ต.อ.ประชาไป
หันมาดูในส่วนการอภิปรายเกี่ยวกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ก็เป็นนายจุรินทร์ที่เป็นร่ายถึงเหตุและผลในการขอเปิดศึกซักฟอกครั้งนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในการโจมตีการทำหน้าที่ ผอ.ศปภ. ที่บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดทุกมิติ ทั้งเรื่อง “น้ำ-คน-เงิน” การประเมินสถานการณ์น้ำมีความผิดพลาด มีการพูดว่า “เอาอยู่ทุกครั้ง” แต่กลับทำให้น้ำท่วมทุกพื้นที่ จนสถานการณ์น้ำบานปลาย รวมถึงสิ่งของที่มีผู้บริจาค นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมรู้เห็นเป็นใจให้คนของพรรคการเมืองเดียวกันแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานราชการ เพื่อหาประโยชน์ และทุจริตจากเงินงบประมาณ เงินบริจาคของประชาชน
กล่าวหาร้ายแรงว่า หาผลประโยชน์โดยทางนิตินัยและพฤตินัย
แถมเหน็บเจ็บๆว่าตอนแรกทุกคนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงแต่งตั้ง รมว.ยุติธรรมเข้ามาทำหน้าที่ ผอ.ศปภ. แต่สุดท้ายก็พบว่ามีเหตุผลเดียว คือ “ต้องการกระจายน้ำทุกพื้นที่อย่างยุติธรรม”
ประเด็นสำคัญที่ไม่พลาด คือ การแต่งตั้งนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหาร ศปภ.จนเป็นเหตุให้มีการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข้าราชการประจำทุกมิติ ตั้งแต่คำสั่ง ศปภ.ที่ 12/2554 ตั้ง “วัลลภ ยังตรง” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคไทยรักไทย เป็นกรรมการผันน้ำลงทะเล คำสั่งที่ 27/2554 ตั้ง “ถิรชัย วุฒิธรรม” เลขา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริจาค และให้ “บัณฑูรย์ สุภัควณิช” เลขาธิการนายกฯ เป็นรองประธานกรรมการ
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คำสั่ง ศปภ.ที่ 27/2554 ที่ตั้ง “การุณ โหสกุล-สุรชาติ เทียนทอง-วรชัย เหมะ-ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” 4 ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นคณะกรรมการจัดการถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาเป็นเหตุในการยื่นถอดถอน พล.ต.อ.ประชา เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 265 และ 266 ที่ให้ฝ่ายการเมืองไปดำรงตำแหน่งหรือก้าวก่ายและแทรกแซงงานของข้าราชการ พนักงานของรัฐ
แถมยังมีหลักฐานชัดเจนว่า 4 ส.ส.ดังกล่าวมีอำนาจในการลงนามในเอกสารจัดซื้อสิ่งของของ ศปภ.อีกต่างหาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็น “ใบเสร็จ” ที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ชี้ว่า “ความผิดสำเร็จแล้ว”
ตรงนี้นายจุรินทร์บอกว่า “ผมเห็นใจท่านประชา เข้าใจว่าอาจจะเมาหมัด ใครเสนออะไรมาก็เซ็นหมด ไม่ว่าจะเหตุผลใด จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ และความผิดที่เกิดขึ้นนั้นยังพบว่ามีความผิดซ้ำซ้อนอีก กล่าวคือ ได้ออกคำสังที่ 39/2554 แต่งตั้งให้นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเดียวกัน เป็นที่ปรึกษา ผอ.ศปภ. แปลว่ามีการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญซ้ำซาก”
ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดทั้งวันแม้จะมีการประท้วงรอบยาวๆ เป็นระยะๆ แต่พลพรรคประชาธิปัตยยังดาหน้ารุมขย้ำ พล.ต.อ.ประชาอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย-อภิรักษ์ โกษะโยธิน-ศิริโชค โสภา-วรงค์ เดชกิจวิกรม-วิรัตน์ กัลยาศิริ” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “มือดี” ที่ออกมาไล่ชำแหละขยายแผลที่นายจุรินทร์เปิดเอาไว้
แต่ก็ได้แค่นวดออกหมัดแย็บไปเรื่อย ยังขาดความแหลมคมที่จะเป็น “หมัดน็อค” ในตอนท้าย
โดยนายสาทิตย์ในฐานะที่เคยดูแลงานในระนาบเดียวกับ ศปภ.มาก่อนในรัฐบาลชุดที่แล้ว กล่าวตำหนิว่า 50 วันที่ พล.ต.อ.ประชาเป็น ผอ.ศปภ. มีผู้เสียชีวิต 354 คน รวมแล้ว 615 คน สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวบกพร่องในการบริหาร น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมเสียหายมากมาย อีกทั้งปล่อยให้นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ว่าเข้าไปเต็ม ศปภ. โดยเฉพาะบทบาทของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ด้าน อดีตผู้ว่าฯอภิรักษ์ เน้นประเก็นการตั้งคนไม่เหมาะกับงาน และใช้คนที่ไม่มีประสบการณ์ ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือในข้อมูลของ ศปภ. และหันไปติดตามข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆแทน อีกทั้งมีบทสะท้อนการทำงานที่ล้มเหลว ที่ประชาชนหลายพื้นที่ออกมาประท้วงการทำงานของ ศปภ.
สำหรับ นพ.วรงค์เรียกร้องให้ พล.ต.อ.ประชารับผิดชอบลาออกจากตำแหน่ง เพราะปล่อยให้ชาวบ้านเสียชีวิตถึง 102 รายจากสาเหตุถูกไฟฟ้าช็อต จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 615 ราย เพราะ พล.ต.อ.ประชาไม่ใส่ใจดูแลประชาชน โดยเชื่อว่าการตายจากไฟช็อตนั้นเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ขณะที่นายศิริโชค รับหน้าที่รวมมิตรเปิดคลิปที่มีการออกมาประจานการบริหารงานที่ล้มเหลว รวมทั้งการทุจริตของ ศปภ. อีกทั้งยังพุ่งเป้าเปิดหน้าชกกับ “การุณ โหสกุล” ส.ส.ดอนเมือง จนมีการท้าทายเดิมพันตำแหน่งกัน
แม้ยังไม่จบครบถ้วนกระบวนความ ยังมี “มือดี” อีกหลายคนที่ลับมีดรอเชือดอยู่ โดยเฉพาะ “วิลาศ จันทรพิทักษ์” มือปราบโกง ที่หอบข้อมูลมาแฉขบวนการเหลือบโกงเงินบริจาค เป็นภาคต่อจากการอภิปรายเมื่อไม่นานมานี้ ที่สำคัญยังเหลือ “กระบี่มือหนึ่ง” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯที่จะทำหน้าที่สรุปการอภิปรายในช่วงสุดท้าย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นคนลงดาบสุดท้ายในช่วงดึกก่อนปิดอภิปราย
อย่างไรก็ดี เชื่อแน่ว่าเสียงโหวตในวันนี้สำหรับ “ประชา พรหมนอก” คงผ่านฉลุยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ศึกซักฟอกครั้งนี้นัยยะสำคัญอยู่ที่การตีเหล็กตอนร้อน อาศัยจังหวะที่รัฐบาลถูก “น้องน้ำ” ซัดสาดจนซวนเซ ซ้ำดาบสองเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล หลังจากที่ประชาชนต่างส่ายหน้ากับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา
แม้จะยังไม่สะเทือนถึงเสถียรภาพอันเข้มแข็งของรัฐบาล แต่อนาคตของ “อินทรีอีสาน” ก็ดูจะหม่นหมองไปมากโข