xs
xsm
sm
md
lg

“สุกำพล” ลั่นเดินหน้ากู้เส้น 340 ยันไม่กระทบชาวบ้านโดยรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนเส้น 340 ที่เร่งกู้อยู่ในขณะนี้
“สุกำพล” ยืนยันเดินหน้ากู้ถนน 340 อ้าง ศปภ.ไม่มีคำสั่งให้หยุด ยืนยันไม่กระทบชาวบ้าน เพราะผันน้ำออกคลอง วอนอย่าหวั่นวิตกเกินเหตุ ส่วนกู้สนามบินดอนเมือง ยังไร้วี่แวว ชี้ต้องรอน้ำลดเองก่อน

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนจังหวัดนนทบุรี ไปยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีการกู้ทางหลวง 340 (ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี) เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน ว่า ตนรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งใดๆ จาก ศปภ.ออกมาให้หยุดการปฏิบัติงานการกู้ถนนสายดังกล่าว ดังนั้น คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ อีกทั้งตนเป็นเพียงผู้ปฏิบัติจึงต้องทำตามหน้าที่ ยืนยันว่าการดำเนินการกู้ถนน 340 เป็นมติจากที่ประชุมของคณะกรรมการ ศปภ.ที่ได้ทำการพิจารณาผลกระทบและได้ตกลงกันแล้วว่าจะดำเนินการกู้ถนนสายดังกล่าวให้กลับคืนมาใช้งานได้ตามปกติ ส่วนวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่าที่ปฏิบัติงานมาก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในบริเวณดังกล่าวมากนัก เพราะน้ำที่ทำการสูบออกจากถนนจะไหลลงสู่คลองช่วงปากสะพานทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ วิธีการที่ใช้ก็ไม่ได้เป็นการไปบล๊อกเส้นทางไหลของน้ำจนเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัย ดังนั้น การไปฟ้องศาลปกครองให้ระงับการดำเนินการ ตนเห็นว่า คงไม่เกี่ยวข้องเท่าไร และไม่แน่ใจว่าในคำฟ้องดังกล่าวระบุจะเอาผิดกับใคร ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของ ศปภ.เพราะการดำเนินการทุกอย่างอาจมีการส่งผลกระทบบ้าง ไม่อยากให้ประชาชนไปวิตกกังวลมากเกินไป หากมานั่งวิตกกังวลประเทศไทยก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ปล่อยให้จมไปหมดก็สิ้นเรื่องแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการวางบิ๊กแบ็ก พากันรวมตัวประท้วงเพื่อให้รื้อออกทั้งหมด พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เรื่องนี้ในส่วนของตนมีหน้าที่ในการสร้างและวางแนวบิ๊กแบ็กตามคำสั่งของ ศปภ.ส่วนการรื้อออกหรือไม่ ทาง ศปภ.ได้ทำทีมคอยทำหน้าที่เจรจากับชาวบ้านไว้แล้ว

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในการกู้สนามบินดอนเมือง อย่างไร พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ในเรื่องของระยะเวลา คงให้คำตอบไม่ได้ เพราะต้องรอจนกว่าน้ำจะลดลงก่อน อีกทั้งการเข้าไปกู้สนามบินด้วยการสูบน้ำออกจากสนามบินก็อาจส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยโดยรอบด้วย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินความเสียหายเบื้องต้นในส่วนของรันเวย์ขึ้นลงของเครื่องบินน่าจะได้รับความเสียหายมากที่สุด เนื่องจากมีน้ำเข้าไปท่วมขังสูงซึ่งก็อาจกัดเซาะได้ ฉะนั้น หากน้ำลดลงก็ต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมให้รันเวย์กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น