xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพ กฟผ.ยันการเมืองแทรกจัดการเขื่อน ส่งผลน้ำท่วมหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศิริชัย” แจง กฟผ.ไม่ได้มีอำนาจกัก-ปล่อยน้ำจากเขื่อนเพียงลำพัง แต่ต้องทำตามมติของ 9 หน่วยงาน ยันวิธีการมีประสิทธิภาพหากการเมืองไม่แทรกอุทกภัยไม่หนักขนาดนี้ ด้าน “อ.ทวี” แนะประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงสปิริต แต่ถ้าไม่ยอมสังคมก็จะแตกแยกหนักขึ้น จนเข้าแผนพวกหวังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว” 

วันนี้ 23 พ.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายศิริชัยกล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องของการบริหารน้ำจะมีคณะกรรมการหลายชุด ชุดที่สำคัญก็คือคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีหน่วยงานทั้งหมด 9 หน่วยงาน มีกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์ สำนักงานระบายน้ำ กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานกรรมการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการไฟฟ้า 9 หน่วยงานนี้ประชุมกันตลอด หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องก็รายงานในส่วนของตัวเอง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายการผลิตฯ เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น เขื่อนนี้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ การผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นแค่ประเด็นรอง เขื่อนนี้จริงๆ ช่วยในเรื่องการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม แล้วก็การผลักดันน้ำทะเล ขบวนการปล่อยน้ำผ่านเขื่อนก็คือเอาเครื่องกำเนิดกระแสไฟไปติดตั้งเพื่อให้ได้ไฟเท่านั้น

กำลังการผลิตทั้งหมดของการไฟฟ้ามีทั้งหมด 5 เปอร์เซ็นต์ของระบบไฟฟ้า ดังนั้น การเก็บน้ำไว้เพื่อที่จะปั่นไฟเป็นประเด็นรอง ซึ่งการปล่อยน้ำจะคิดก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ว่าจะให้ กฟผ.ผันน้ำเท่าไหร่ ก็ต้องปล่อยตามนั้น

นายศิริชัยกล่าวต่อว่า ขอชี้แจงปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล ปี 52 อยู่ในระดับต่ำ ปี 53 ต่ำกว่า 52 อีก ส่วนปี 54 เริ่มตั้งแต่ ม.ค.ต่ำกว่าเกณฑ์ในระดับต่ำสุดตลอดเลย ข้อมูลลึกๆผอ.เขื่อนภูมิพลทำพิธีไหว้เพื่อให้น้ำเข้าเขื่อนเยอะๆ ด้วยซ้ำเพราะ 2 ปีที่ผ่านมาน้ำต่ำตลอด จนกระทั่งพายุเข้ามาประมาณ ก.ค.

เส้นของปี 54 ประเทศไทยมีร่องมรสุม พายุลูกแรกไหหม่า น้ำเข้าเขื่อนสิริกิติ์เยอะมาก แต่เขื่อนภูมิพลเลยเส้นระดับต่ำขึ้นมานิดนึง แต่มาเริ่มสูงตอนเจอพายุนกเต็น แล้วก็มา 3 ลูกพร้อมกัน ไหถ่าง เนสาด นาลแก อันนี้ขึ้นไปถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

นายศิริชัยกล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ตนทำมา เรื่องของการเมืองที่พยายามพูดว่าประชาธิปัตย์เก็บน้ำไว้ ขอบอกได้เลยว่า วันที่ 10 พ.ค.เป็นวันยุบสภา น้ำยังต่ำกว่าระดับล่าง อยู่ที่ประมาณ 46 เปอร์เซ็นต์ วันที่ 3 ก.ค.เป็นวันเลือกตั้ง วันนั้นระดับน้ำอยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าระดับต่ำนิดนึง จนวันที่ 10 ส.ค.เป็นวันถวายสัตย์ของ ครม. ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 67 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งพายุนกเตนเข้ามาระดับน้ำขึ้นมาสูงมากจนแทบจะล้นเขื่อน จึงต้องมีการปล่อยน้ำ

ทีนี้เขื่อนสิริกิติ์ช่วงที่พายุมา ฝนตกในเขื่อนและพื้นที่โดยรอบทั้งเหนือและอีสาน เขื่อนภูมิพลกักแม่น้ำปิง เขื่อนสิริกิตติ์กักน้ำแม่น้ำน่าน แม่น้ำยมกับแม่น้ำวัง ไม่มีเขื่อนกัก แม่น้ำวังผ่านลำปาง ซึ่งก็น้ำท่วม แม่น้ำยมผ่านแพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ซึ่งก็ท่วมหมด เราก็เห็นว่าบางระกำท่วมหนักมาก ปริมาณน้ำนั้นมาก การปล่อยของเขื่อนภูมิพลช่วงแรกยังไม่ให้ปล่อย เพราะน้ำจากที่อื่นมาเยอะแล้ว กลัวนครสวรรค์จมมากกว่านี้ เลยให้เก็บไว้ก่อน ทั้งๆที่การไฟฟ้าก็เห็นว่าช่วงหลังรับไม่ไหว เลยรายงานไปว่าสมควรที่ต้องเปิดแล้ว จนสุดท้ายน้ำท่วมเชียงใหม่ถึงต้องปล่อยเขื่อนภูมิพล

เมื่อถามถึงกรณีที่มีรัฐมนตรีสั่งไม่ให้พร่องน้ำ นายศิริชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาน้ำมันน้อยตลอด เขาเลยคิดว่าปีนี้น้ำไม่สูง ประกอบกับนโยบายจำนำข้าว เป้าหมายคืออยากให้ชาวนาทำนาได้มากขึ้น น้ำในเขื่อนสามารถทำนาปีนึง 2 ครั้ง แต่อันนี้เก็บน้ำไว้ให้ทำถึง 5 ครั้ง เพื่อหวังว่าจะได้มีผลผลิตมากขึ้น ตรงนี้ไม่ว่าเพราะเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอถึงคราวที่ต้องปล่อยกลับกั๊ก มีต่อรองว่าขอให้ชาวนาเกี่ยวข้าวก่อน นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากนโยบาย บางครั้งการเมืองก้าวล่วงจนการตัดสินใจของคนที่เกี่ยวข้องไม่มีอิสระ

ถ้ามีอิสระเหตุการณ์ไม่รุนแรงขนาดนี้ ข้อมูลที่การไฟฟ้ามี เขื่อนเก็บน้ำไว้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยจริงๆแค่ 26 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีเขื่อนวันนี้ไหลลงมาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ต้องยอมรับว่าน้ำมาก แต่ปีอื่นก็เคยเกิดแต่ทำไมบริหารจัดการได้ การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งที่ต้องเอาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

นายศิริชัยกล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าการควบคุมปล่อย-กักน้ำ สามารถทำได้เป็นอย่างดี เรามีข้อมูลหมด เป็นสิ่งที่กฟผ.ต้องยึดในเรื่องนี้ ต้องบอกความจริงกับประชาชน เพียงแต่ว่าการเมืองต้องพยายามอย่าเข้ามามีอิทธิพล

ด้าน ผศ.ทวีกล่าวว่า สังคมต้องพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงสปิริตมากกว่านี้ สถานะต่อจากนี้ไปหมดความเชื่อถือจากประชาชนส่วนใหญ่แล้ว แม้แต่เสื้อแดงจำนวนมากก็รู้แล้วว่านปช.ไม่จริงใจ ถ้าให้แน่ยุบสภา และให้เลือกตั้งใหม่ก็ดี

รัฐบาลระยะใกล้ๆ นี้คงต้องรับศึกหนักมาก ไปไหนมาไหนคนไม่เชื่อใจ นโยบายประกาศออกมาก็จะไม่เป็นที่เชื่อถือ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้มันอยู่ยาก ประชาชนอาจไม่มีอำนาจ เสียงฝ่ายค้านไม่พอ มันก็จะเป็นสภาพต่างคนต่างอยู่ เกิดความแตกแยก ร้าวฉาน ฉีกสังคมให้เกิดวิกฤตการเมือง และก็เข้าล็อกคนที่ต้องการล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่เป็นสเต็ปแรกในการทำลายสถาบันประชาชน สเตปต่อไปก็จะทำลายทหาร เพื่อนำไปสู่จุดที่พวกนั้นต้องการ





กำลังโหลดความคิดเห็น