ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สรุปสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เหลือ “แม่วาง-แม่แจ่ม” ที่ยังมีน้ำท่วม พบน้ำเอ่อล้นทำถนนใช้สัญจรไม่ได้แต่ล่าสุดเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ปภ.จ.เชียงใหม่ระบุระดับน้ำลดต่อเนื่องส่วนพายุ “นาลแก” คาดไปทางอื่นไม่น่ามีผลกระทบมาก ระบุเขื่อนแม่กวงฯ เร่งพร่องน้ำหลังปริมาณน้ำล้นสปิลล์เวย์ ด้านจังหวัดเล็งชงโครงการทำแก้มลิง 700 ไร่ที่แม่แตงอีกรอบ
วันนี้(4 ต.ค.54) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชุมครั้งนี้ได้มีการสรุปสถานการณ์และวางแผนในการเข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งนอกจกการประชุมในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังได้มีการประชุมร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พร้อมกับจังหวัดต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่เช่นกัน
สำหรับสรุปสถานการณ์ภาพรวมน้ำท่วมของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ขณะนี้ยังมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมอยู่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอแม่วาง โดยที่อำเภอแม่แจ่มมีเส้นทางการคมนาคมที่ได้รับผลกระทบสองจุด จุดแรกได้แก่ถนนสาย 108 จอมทอง-ฮอด บริเวณกิโลเมตรที่ 87-88 ซึ่งน้ำแม่แจ่มได้ไหลล้นเข้าสู่สะพานบ้านท่าข้ามสูงถึง 80 ซม. ส่งผลไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ ขณะนี้ปริมาณน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีผลทำให้การจราจรติดขัดในพื้นที่
ส่วนจุดที่สองเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง บริเวณดอยหลวงแม่น้ำแจ่ม ซึ่งน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่และได้พัดพาตะกอนดินทับถมปิดเส้นทางจนไม่สามารถใช้สัญจรได้ ขณะนี้แขวงการทางที่ 1 ได้เข้าดำเนินการแก้ไข และสามารถเปิดเส้นทางการจราจรได้แล้ว 1 ช่องทาง
ขณะที่อำเภอแม่วาง ประสบปัญหาจากการที่พนังดินริมลำน้ำแม่วางถูกน้ำป่าพัดพังชำรุดเสียหาย ทำให้น้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านริมวาง ตำบลบ้านกาด ซึ่งในขณะนี้น้ำได้ลดระดับลงแล้ว และเจ้าหน้าที่ได้เร่งทำการซ่อมแซมพนังริมลำน้ำแม่วาง ด้วยการเสริมกระสอบทรายแทนส่วนที่เสียหาย
นายคมสัน สุวรรณอัมภา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่นั้นถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง คงเหลือเพียงบางจุดที่ยังมีน้ำท่วมขังหรือมีปัญหาด้านการคมนาคม ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้ากำเนินการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือประชาชน
ส่วนการเตรียมการรับมือพายุโซนร้อน “นาลแก” ที่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเวียดนามในวันที่ 5 ต.ค. และอาจเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยต่อไป ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ รวมทั้งส่งผลให้ปริมาณน้ำของจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นอีกระลอกนั้น นายคมสันกล่าวว่าจากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า เมื่อพายุโซนร้อนนาลแกเข้าสู่ประเทศเวียดนามแล้ว หากเข้าสู่ประเทศไทยต่อน่าจะเข้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แต่จะส่งผลต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมากกว่า
ด้านการระบายน้ำออกจากเขื่อนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราซึ่งมีระดับน้ำเต็มความจุอ่างและล้นจากสปิลล์เวย์มาแล้ว 20 ซม. นั้น นายคมสันระบุว่าขณะนี้ทางเขื่อนได้ทำการพร่องน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำภายในเขื่อนลง ทั้งนี้หากไม่มีฝนตกหรือมวลน้ำระลอกใหม่ไหลเข้ามาในเขื่อนอีก ทางเขื่อนก็จะทำการพร่องน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณน้ำภายในเขื่อนไม่ล้นเกินความจุและค่อยๆ กลับสู่สภาพวะปกติ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งปริมาณน้ำที่มีมากในช่วงนี้น่าจะส่งผลดีต่อการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
ขณะเดียวกันหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ยังได้กล่าวถึงการเตรียมดำเนินการตามมาตรการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แจ้งมาตรการรวม 9 ข้อต่อจังหวัดต่างๆ ในการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในวันนี้ โดยหนึ่งในมาตรการดังกล่าว คือการให้จังหวัดต่างๆ ที่มีพื้นที่รอยต่อในเส้นทางระบายน้ำ ร่วมกันตั้งคณะกรรมการพิจารณาการระบายน้ำ รวมทั้งให้นำภาคประชาชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
โดยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่มีการหารือกับจังหวัดจังหวัดลำพูนเกี่ยวกับการระบายน้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการระบายน้ำเข้าสู่ลำน้ำแม่กวง เนื่องจากหากจังหวัดเชียงใหม่เร่งระบายน้ำออกโดยไม่พิจารณาสถานการณ์ของจังหวัดลำพูนประกอบก็จะสร้างความเสียหายให้กับจังหวัดลำพูนอย่างมาก ทั้งนี้หากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีแล้ว ทางจังหวัดเชียงใหม่ก็พร้อมที่จะดำเนินได้ทันที เพราะที่ผ่านมาทั้งสองจังหวัดก็มีการประสานงานกันมาตลอดอยู่แล้ว
นอกจากนี้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ยังเปิดเผยถึงแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวว่า จังหวัดได้เตรียมจะผลักดันโครงการสร้างแก้มลิง พื้นที่ 700 ไร่ในอำเภอแม่แตงขึ้น โดยเป็นการนำโครงการที่เคยริเริ่มไว้เมื่อปี 2548 มาดำเนินการอีกครั้ง และให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่เป็นหัวหน้า เนื่องจากเห็นว่าหากมีแก้มลิงดังกล่าวจะช่วยรองรับน้ำที่มีปริมาณมากในพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นคงต้องศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ รวมทั้งพิจารณาถึงการที่ประชาชนบางส่วนได้บุกรุกเข้าไปทำกิน ในพื้นที่ทำแก้มลิงอยู่ในขณะนี้ด้วย