xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ไม่ไว้ใจเพื่อแม้ว สั่งจับตาออก พ.ร.บ.นิรโทษฯ ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปชป.ย้ำจุดยืนต้านปรองดองที่ขัดต่อกฎหมาย เชื่อเพื่อแม้วความดันทุรังสูงไม่เลิกราง่ายๆ แม้เจอสังคมจวก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ สั่งติดตาม กมธ.วิสามัญเสนอ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พร้อมจับตา รบ.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 22 พ.ย.เมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหารือถึงการกำหนดประเด็นต่างๆ และวางตัว ส.ส.ที่จะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผอ.ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยภายหลังการประชุม นายวุฒิพงศ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี และในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้มอบหมายให้ ส.ส.ทุกคนของพรรคหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล โดยล่าสุดได้มีการเตรียมข้อมูลในการจัดซื้อถุงบิ๊กแบ๊กที่อาจมีราคาแพงเกินจริง เพื่อที่จะได้นำมาเสนอผู้ที่จะถูกวางตัวอภิปราย ซึ่งผู้ที่จะถูกเลือกให้อภิปรายในเรื่องต่างๆ จะมีความชัดเจนอีกครั้ง ในการประชุมวิปฝ่ายค้านที่รัฐสภาวัน พุธ 23 พ.ย.นี้ การอภิปรายในวันที่ 27 พ.ย.จะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. และจบไม่เกินเวลา 24.00 น.นั้น จะมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ อภิปรายร่วมด้วย รวมทั้งได้มีการตกลงถึงกรอบเวลาในการอภิปรายว่า หากมีการประท้วง หรือพาดพิงจะมีการหักเวลาของฝ่ายค้านอย่างเดียว

นายวุฒิพงศ์กล่าวต่อว่า ในส่วนกรณีนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ออกมาระบุว่า ยอมรับได้หากมีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบนั้น นายนครได้มาชี้แจงภายในที่ประชุมของพรรคว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว โดยทางพรรคก็ได้เน้นย้ำว่า แนวทางการปรองดองไม่ควรนำไปรวมกับการนิรโทษกรรม เพราะการสร้างความปรองดองนั้น ต้องทำโดยอยู่ภายในกรอบกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ประชุมของพรรคยังให้จับตาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญสร้างความปรองดอง รวมทั้งการเสนอ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช มีพระชนมพรรษา 84 พรรษา พ.ศ.... ที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาฯ ที่อาจจะสอดรับกับการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมยังได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์กรณีที่รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษยึดตามฉบับปี 2553 โดยนายจุรินทร์ได้กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า กรณีการผลักดัน พ.ร.ฎ.อภัยโทษแม้รัฐบาลจะยอมถอยแล้ว หลังการโยนหินถามทาง เพราะถูกกระแสสังคมต้าน แต่ขอให้ระวังกรณีการเสนอออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ระบุว่าจะลบล้างการกระทำต่างๆ ก่อนหน้านี้ของ กมธ.วิสามัญ สร้างความปรองดอง เพราะหลายอย่างมีการสอดรับกับการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อแผนหนึ่งไม่ผ่าน ก็มีแผนสองคือการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงขอให้เราทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไปว่าเป็นอย่างไร

ขณะที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์ว่า การเมืองวันนี้ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรกันแล้ว เพราะเขาเปิดหน้าเล่นวันต่อวัน ทำในสิ่งที่คิดไว้อย่างเปิดเผย แต่ต่อจากนี้ให้ติดตามสถานการณ์ เพราะเป็นห่วงว่าหลังจากนี้ไปอาจจะยังไม่หยุดการเคลื่อนไหวง่ายๆ น่าจะเดินหน้าต่อ เพราะวันนี้เรื่อง พ.ร.ฎ.อภัยโทษถึงเขาจะถอยก็จริง แต่ถอยออกไปเหมือนไปตั้งหลัก เพื่อเดินหน้าต่อ เนื่องจากกระแสสังคมกดดันทั้งจากนักวิชาการรวมทั้งกลุ่มโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ต่อจากนี้ไปอาจจะมีเรื่องของการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามที่เป็นข่าวออกมา โดยอาจจะใช้ช่องทางของ กมธ.วิสามัญปรองดองฯ ซึ่ง กมธ.ในซีกของพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องยึดหลักของพรรคไว้ ในการไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้คนคนเดียว ซึ่งถือเป็นหลักการเดิมและเป็นมติของพรรคของเราอยู่แล้ว เพราะถ้าเราไปเห็นด้วยเราก็เสียหลักการ

ด้าน นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญปรองดองแห่งชาติ ได้รายงานความคืบหน้าของการประชุม กมธ.ว่า ได้มีการเสนอให้ กมธ.หยิบยกเรื่องประเด็นปัญหาในภาคใต้เข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เพราะเป็นเรื่องอุดมการณ์ วิถีชีวิต และมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งจะเป็นการสื่อสารไปถึงพื้นที่ว่าในฐานะที่เป็นนิติบัญญัติ ว่าเห็นด้วยที่จะให้เกิดความปรองดองในภาคใต้ โดยที่ประชุมของ กมธ.จะมีการหยิบยกการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชน คือ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งการเยียวยาในภาคใต้ด้วย ดังนั้น การหยิบยกเรื่องของภาคใต้มาพิจารณาในกมธ.นั้น อย่างน้อยที่สุดเป็นการส่งสัญญาณเรื่องการปรองดองที่อาจทำให้ประชาชนในภาคใต้อุ่นใจได้บ้าง ทั้งนี้ การพิจารณาของ กมธ.จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ความรุนแรงในเมืองกรุง และประเด็นความไม่สงบในภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น