xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนชำแหละ"ที่ดินรัชดา" ชี้ชัด“แม้ว”ผิด ตัวการทำชาวบ้านล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้ แจงชัดเจน “แม้ว” แก้กฎเกณฑ์เอื้อเมียซื้อที่ดินรัชดา ชี้เปลี่ยนคนประเมินที่จากกรมที่ดินไปเป็นธนารักษ์ ทำราคาตกฮวบ ตัวเองได้ประโยชน์แต่ที่เกษตรกรถูกฮุบ ชาวบ้านเป็นหนี้แค่ 3 แสนกลับล้มละลายทั้งหมด ด้าน “สุวัตร” ยัน ครม.ออก กม.อภัยโทษถือว่าความผิดสมบูรณ์แล้ว ถึงถอยที่หลังก็หนีคดีความผิดไม่พ้น

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 21 พ.ย. ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมพูดคุยถึงประเด็นคดีที่ดินรัชดาภิเษก

นางกัลยาณีกล่าวว่า การที่เราให้ความช่วยเหลือคดีลูกหนี้ ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ พอประมาณ 2545-2546 ลูกหนี้เริ่มถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ปรากฏว่าเกิดราคาขายทอดตลาดต่ำมาก พอขายได้ต่ำเหมือนกับว่าเมื่อก่อนเราจะกู้เงินได้ 100 บาท ต้องมีที่ดิน 130 บาท แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ดินลดเหลือ 20-35 บาท เพราะฉะนั้นมีปัญหาแน่นอน ลูกหนี้ล้มละลายมหาศาล เราก็ดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมราคาประเมินราชการเกิดอะไรขึ้น ก็เลยเก็บสถิติว่าเวลาราคาประเมินต่ำๆ ใครได้ประโยชน์ ก็คือคนซื้อทรัพย์ที่กรมบังคับคดี

เดิมราคาประเมินประเทศไทย คิดราคาโดยกรมที่ดิน เอาไว้เป็นตัวอ้างอิงในราคาซื้อขาย จำนอง และเอาไว้เสียภาษี ต่อมาก็มีการเปลี่ยนมาให้กรมธนารักษ์ วัตถุประสงค์เปลี่ยนไปเป็นว่าเอาไว้ประเมินเพื่อเสียภาษีเท่านั้น ฉะนั้นที่เราเคยประเมินที่ดิน 2 แสน จะลดเหลือ 5 - 10 บาทก็ได้ จะว่ากรมธนารักษ์ก็ไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของเขาก็ประเมินเพื่อเสียภาษี

แต่มันไม่เพียงเท่านั้น ยังมีใครบางคนให้กรมธนารักษ์เป็นคนประเมิน แต่ให้กรมที่ดินเป็นคนประกาศใช้ แล้วคนไทยทั้งประเทศจะรู้หรือไม่ว่าผู้ประเมินราคาเปลี่ยนคนแล้ว จากกระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) ไปเป็นกระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) เสร็จแล้วให้กรมบังคับคดีที่อยู่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ไม่ทราบ ก็หยิบราคาประเมินที่ตกต่ำนั้นไปประกาศเป็นราคาขายทอดตลาด และออกประกาศอีกหนึ่งฉบับว่าที่ดินขายยาก กรมบังคับคดีต้องขายเร็วๆ ทุบราคา 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ขายง่ายขึ้น

นางกัลยาณีกล่าวต่อว่า พอเจอว่าที่ดินราคาต่ำอย่างนี้ คนซื้อทรัพย์ได้ประโยชน์ ซึ่งตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมันเหลือกลุ่มคนมีตังค์ไม่กี่กลุ่มที่จะซื้อได้ ก็เลยเริ่มเก็บชื่อว่าใครที่มาประมูลเยอะสุด พอมาเรียงเข้าก็ตกใจ ตอนนั้นนายวีระ สมความคิด ทำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งศูนย์ประสานงานลูกหนี้ฯ เป็นหนึ่งในเครือข่าย ก็ส่งข้อมูลให้ แล้วก็เกิดโยงใยของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างกระทรวงยุติรรม อธิบดีกรมบังคับคดีผู้ออกประกาศซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ณ วันนั้น โยงมาถึงกระทรวงการคลัง มันก็เจอภาพโยงใยกันไปหมด ส่วนเรื่องคดีที่ดินรัชดามันเป็นปลายติ่งของยอดภูเขาน้ำแข็ง

เมื่อเราไปเช็กราคา ก็เห็นว่ามีอยู่ระวางหนึ่งราคาลดลงเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับราคาของเก่า เราก็เลยเก็บข้อมูลแถบนั้นทั้งหมด 600 แปลง เพื่อให้เห็นว่ามีเฉพาะที่ดินระวางนี้เท่านั้น ที่ลดราคาลงมาเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินเดิม

ที่ดินรัชดาฯ มันมีฝ่ายคนซื้อและฝ่ายคนขาย คนขายคือกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกองทุนที่เกี่ยวเนื่องเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ลูกหนี้ที่ล้มละลายจะถูกขายทรัพย์ เข้าสู่กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้จำนวนเยอะเลยอยากจะไปขอชำหระหนี้ แล้วก็เอาทรัพย์ของตัวเองคืน กองทุนฟื้นฟูก็มีกฎว่าลูกหนี้ที่จะเข้าไปขอซื้อคืน ต้องมีกฎตามนี้

1.กองทุนฟื้นฟูฯ บอกว่าเขาจะขาดทุนไม่ได้เพราะเป็นหน่วยงานรัฐ เขาถูกตรวจสอบโดยสตง. ซื้อมาเท่าไหร่ต้องขายคืนให้เราบวกค่าใช้จ่ายในการถือครอง คิดประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเมื่อลูกหนี้ไปขอซื้อคืนต้นทุน 100 บาท เขาก็จะคิดดอกเบี้ยให้เราปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ เราต้องจ่ายตามนี้ถึงจะได้ที่ดินคืนมา อย่างไรก็ตามเขาไม่ลดราคา

มีลูกหนี้อยู่รายหนึ่งเป็นวิศวกรนำที่ดินของแม่ซึ่งป่วยหนักอยู่โรงพยาบาล เอามาจำนองทำธุรกิจ ขาดเงินสดอยู่ 7 หมื่นบาท รวบรวมอย่างไรก็ไม่ได้ กองทุนฟื้นฟูฯ ให้คำตอบอย่างไรไม่ทราบ แต่ลูกหนี้ผูกคอตาย และเขียนหนังสือไว้ว่าถูกกองทุนฟื้นฟูฯ กดดัน เราทำหนังสือไป กองทุนฟื้นฟูฯ ตอบมาทำนองว่า ไม่ว่าลูกหนี้จะตายอีกกี่ศพก็ต้องยึดในหลักการ เขาซื้อมาจะขาดทุนไม่ได้

เราก็ไปสืบมาว่า ที่ดินแปลงนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อมาเท่าไหร่ ปรากฏว่าได้สัญญาซื้อขายมา กองทุนฟื้นฟูซื้อที่ดินแปลงนี้มา เมื่อ 31 ส.ค. 2538 ด้วยราคา 1,908 ล้านบาท ฉะนั้นถ้าเอามาเข้าหลักเกณฑ์ของเขาตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2546 ตามหลักเกณฑ์ ที่ดินแปลงนี้บวกค่าถือครองจะมีมูลค่า 2,819 ล้านบาท แต่เขาขายให้คุณหญิงพจมานไปที่ 772 ล้านบาท อันนั้นคือข้อที่ 1. คือยอมขาดทุนต้นทุนที่ซื้อมาหรือไม่

2.ที่ดินคุณหญิงพจมาน โฉนดจะมีที่ดินแปลงเล็กๆ ติดถนน และมีที่ดินอีกแปลงอยู่ด้านหลังไม่ติดถนน ปรากฏว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไปรวมโฉนดให้ จากหลายๆ แปลงก็ตัดรวมให้หมดเลย เพื่อให้ที่ดินมีมูลค่ามากขึ้นเท่ากับติดถนน คำถามคือที่ดินของลูกหนี้ที่กองทุนรับไป ไม่เคยรวมโฉนดให้ ไม่เคยทำถนนให้ ไม่เคยทำให้ใครเลย แต่นี่กลับทำให้พร้อม

3.มีคำถามว่าการประมูลขายทอดตลาดแต่เดิมก็ต้องวางซอง 1 ล้านบาท ก็เปลี่ยนเป็น 100 ล้าน ฉะนั้นจะมีสักกี่คนที่มีเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ฉะนั้นก็เหลือไม่กี่ราย

4.ราคาประเมิน ทำไมมันเกิดราคาประเมินเฉพาะระวางนี้ ลดลงมาเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นที่ดินของเขา 2,800 ล้านบาท เลยลดเหลือ 700 ล้านบาท

นางกัลยาณีกล่าวอีกว่า หลังจากรวมที่ดินได้แปลงใหญ่ๆ เวลาไปเสียภาษี ที่ดินแปลงนี้ควรประเมินที่ดินแบบติดถนน แต่กรมที่ดินกลับประเมินราคาภาษีเป็นแบบไม่ติดถนน ซึ่งเสียภาษีต่ำกว่า

สุดท้ายผังเมือง เมื่อเป็นแปลงใหญ่อย่างนี้ก็ให้สร้างตึกสูงได้ ราคาจึงขึ้นเยอะเลยหลังจากที่คุณหญิงพจมานถือครองที่ดิน

ฉะนั้น ถ้ารวมเป็นเงิน 1.ถ้าขายตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟู กองทุนจะเสียหายที่ดินแปลงนี้ 2,045 ล้านบาท 2.ถ้าขายตามท้องตลาด ตารางวาละ 9 หมื่นบาท ฉะนั้นถ้าขายตามราคาท้องตลาดกองทุนฟื้นฟูเสียหาย 504 ล้านบาท 3.ถ้าหากประเมินที่ดินเป็นที่ดินทั้งแปลงแบบติดถนน ไม่ใช่คิดที่ดินอยู่ข้างหลังไม่ติดถนน ถ้าเป็นราคารวมตามโฉนด ขายตารางวาละ 7 หมื่นบาท รายได้กองทุนฟื้นฟูเฉพาะเรื่องรวมโฉนดกับไม่รวมหายไป 220 ล้านบาท

มาดูการขาดค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมของกรมที่ดิน ถ้าตีราคาตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟู กรมที่ดินจะได้จากการโอนที่แปลงนี้ 40.9 ล้านบาท ถ้ากรมที่ดินขายตามราคาตลาด กรมที่ดินจะขาดรายได้ไป 11 ล้านบาท

และเป็นที่ฮือฮามาก คือ ประกาศวันที่ 31 ธ.ค. 2546 ไม่เป็นวันหยุดราชการ เพราะ 1 ม.ค. 2547 ราคาประเมินที่ดินจะเปลี่ยน 4 ปีครั้ง ฉะนั้น 1 ม.ค. 2547 กรมที่ดินเปลี่ยนราคาประเมินเฉพาะตรงนั้นเป็นตารางวาละ 7 หมื่นบาท ซึ่งตอนนั้นเสียภาษีอยู่ที่ 48,000 บาท ซึ่งมันนิดเดียวเอง พ.ต.ท.ทักษิณประหยัดค่าธรรมเนียมไปแค่ 5,977,000 บาท เงินแค่นี้เองทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องไปทำงานในวันที่ 31 ธ.ค. 2546 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามันมีพฤติกรรมไม่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้

นางกัลยาณียังกล่าวต่อว่า มันเกี่ยวข้องกันหมด กองทุนฟื้นฟูฯ อยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ก็อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง กรมที่ดินก็อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย การเปลี่ยนผังเมืองก็อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานคร

มาดูที่คนซื้อบ้าง เวลาภรรยาซื้อทรัพย์สิน สามีต้องเซ็นอนุญาต พ.ต.ท.ทักษิณใช้บัตรนายกรัฐมนตรีไปเซ็นให้ภรรยาซื้อที่ 2. ท่านสั่งไม่หยุดราชการในวันที่ 31 ธ.ค. 2546 นี่คือฝ่ายคนซื้อจะบอกท่านไม่รู้เรื่องคงไม่ได้

“ตรงนี้ก็เป็นตัวอธิบายว่า ทำไมที่ดินเกษตรกรจำนวนมากได้ถูกเปลี่ยนมือไปในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วก็เป็นคำตอบว่าทำไมคนมีหนี้แค่ 3 แสน ชาวบ้านที่กู้บ้านแค่ 3 แสนบาทในปี 2540- 2541 ทำไมถึงล้มละลายได้หมด ก็เพราะว่าราคาหลักทรัพย์ที่กู้เงินถูกลดราคาลง มีตัวอย่างที่ดินราคาทั้งแปลง 80 กว่าตารางวา 4 พันบาท เสร็จแล้วถูกขายทอดตลาดทุบที่ 2 พันบาท นี่เกิดในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น

เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นตัวหนึ่งที่ศาลวินิจฉัยว่ามีน้ำหนัก ทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ห้ามผู้บริหารประเทศเข้าไปมีส่วนประมูล แข่งขัน มีส่วนได้ส่วนเสียกับประชาชน

พ.ต.ท.ทักษิณต้องตอบให้ได้ว่าที่ดิน 600 แปลงตรงนั้น ทำไมมีระวางนี้เท่านั้นที่ลดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ท่านตอบไม่ได้

ด้าน นายสุวัตรกล่าวว่า กรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เคยอ้างว่าศาลแพ่งภายหลังได้ตัดสินให้การซื้อที่ดินรัชดาเป็นโมฆะ เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิดแล้ว อันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่ออัยการฟ้อง ฟ้องว่าการซื้อขายที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย กฎหมายห้ามไม่ให้ภรรยาเข้าไปซื้อที่ดินของรัฐในขณะที่สามีเป็นนายกฯ แล้วในส่วนของทางอาญา เขาขอเลยว่าให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดิน และขอให้ริบเงิน 772 ล้านบาท แต่ศาลในทางอาญาไม่ริบเงินให้

ในคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ให้ริบเงินและที่ดิน แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีสิทธิตัดสินโทษทางอาญามีแค่ 5 ประการ คือ ประหารชีวิต จำคุก ปรับ กักขัง ริบทรัพย์ ศาลส่วนอาญาจะพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะไม่ได้ ต้องเป็นส่วนแพ่งที่ทำได้

ดังนั้น เมื่อศาลส่วนอาญาบอกว่าการซื้อขายนั้นไม่ชอบ ก็เลยเอาผลส่วนคดีอาญาไปฟ้องแพ่ง เพื่อให้พิพากษาว่าการซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ

“แล้วจะเอาคำพิพากษาศาลแพ่งมาเป็นเหตุให้รื้อฟื้นคดีอาญาก็ไม่ได้ การรื้อฟื้นคดี มีเงื่อนไขอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องมีหลักฐานใหม่ แต่อันนี้หลักฐานเก่าทั้งนั้นเลย นำสืบมาสู้กันหมดทุกเม็ดแล้ว เมื่อไม่มีหลักฐานใหม่การรื้อฟื้นคดีอาญาจะทำไม่ได้เด็ดขาด” นายสุวัตรกล่าว

นายสุวัตรกล่าวต่อว่า การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ครม.ทำผิดกฎหมายหลายอย่าง ผิดทางอาญาคือช่วยผู้หนีคดี และออกกฎหมายมีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา ขัดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 และ 157 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ที่ระบุว่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

ผิดมาตรา 7 ที่ไปยกเลิกการพิพากษาของตุลาการ และ 29 วรรค 2 ประกอบวรรค 3 กฎหมายต้องออกบังคับโดยทั่วไป ผิดชัดๆเลย การอ้าง 26,000 คน จริงๆ แล้วอายุถึง 60 มีไม่กี่คน แล้วพวกเขาต้องทำชั้น ตั้งแต่นักโทษชั้นกลางมาเป็นนักโทษชั้นดี แต่พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องติดคุก อยู่ๆเข้ามาได้สิทธิ์เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมมันอยู่ที่ไหน

นอกจากนั้นยังผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ แต่นี่ออกช่วย พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียว มาตรา 178 ผิดเยอะแยะไปหมด ตนเตรียมร่างไว้หมดแล้ว

ส่วนการกลับไปยึด พ.ร.ฎ.ตามปี 53 ก็ไม่พ้นความผิด เพราะมันผิดตั้งแต่การประชุม ครม.วันที่ 15 พ.ย. ความผิดสำเร็จแล้ว ดำเนินการไปแล้ว ส่วนจะลงโทษขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง



คำต่อคำ “คนเคาะข่าว” 21 พฤศจิกายน 2554

เติมศักดิ์- สวัสดีครับคนเคาะข่าว จันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 วันนี้เราจะมาทบทวนความเข้าใจในประเด็นทั้งในแง่ข้อของกฎหมาย และข้อเท็จจริงของคดีการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดา ซึ่งเป็นคดีที่ศาลฎีกาอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี แต่ว่าหลังจากที่คุณทักษิณหลบหนีฟังคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ ไม่เคยกลับมารับโทษในคดีนี้เลยแม้แต่น้อย แต่มีความพยายามของคนในฝ่ายของคุณทักษิณ หรือว่ารัฐบาลนอมินีของคุณทักษิณที่พยายามจะทำให้คุณทักษิณ ไม่ต้องรับโทษหรือว่าพ้นความผิดในคดีนี้ ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือความพยายามที่จะผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยวางเงื่อนไขให้คุณทักษิณพ้นความผิดในคดีนี้ และไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาล นี้จึงเป็นที่ผ่านที่ทำให้สังคมจำเป็นจะต้องทบทวนกันอีกครั้งว่า คดีการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มันมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร ข้อเท็จจริงในคดีนี้ทั้งในฝั่งคนซื้อ คนขายนั้นมีความผิดอย่างไร คุณทักษิณมีความผิดอาญาในคดีนี้เพราะอะไรในสายตาของศาลฎีกา และคดีนี้เป็นคดีที่มีความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไรนะครับ วันนี้เราจะมาทบทวนกันทั้งในแง่ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายของคดีนี้กับ 2 วิทยากรกับท่านแรกนะครับ ทนายความพันธมิตร คุณสุวัตร อภัยภักดิ์ สวัสดีครับ ท่านที่สองนะครับ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ คุณกัลยาณี รุทระกาญจน์ สวัสดีครับคุณกัลยาณี

เรียนคุณสุวัตรครับ คดีนี้มีพื้นฐานในสังคมต้องเข้าใจทั้งในแง่ข้อเท็จจริง และในแง่ข้อกฎหมายอย่างไรบ้างครับ

สุวัตร- เมื่อกี้นี้ที่ฟังต้นรายการนะครับ ได้นำคำปราศรัยของคุณสนธิมาพูดบอกว่า โจรมันมี 2 ประเภท ไอ้โจรที่บ้านนอกเลยคือ ไอ้เสืออาวา ไอ้เสืออาวาบุกเข้าปล้นเลย ประกาศกันชัดๆ เลย กับโจรเสื้อนอกนะครับ คือใส่เสื้อนอกแล้วปล้นประเทศชาติ และปล้นแผ่นดิน เรื่องนี้เรื่องของคุณทักษิณกับคุณพจมาน เรื่องเกี่ยวกับที่ดินรัชดา พูดถึงเรื่องที่ดินรัชดาเดี๋ยวนี้ชาวบ้านรู้กันหมดแล้ว ทุกคนรู้หมด แต่รู้ในมุมของพันธมิตรฯ รู้ว่าผิด แต่รู้ในมุมของเสื้อแดง คุณเฉลิมบอกว่า อะไรวะเมียซื้อที่ดิน ผัวยินยอมทำไมต้องติดคุกนะครับ คุณทักษิณไปพูดต่างประเทศว่า บอกเนี้ยะผมยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินแต่ผมต้องติดคุก ชาวบ้านฝรั่งงงบอก แค่นั้นมันไม่น่าจะผิด แต่คุณทักษิณพูดไม่หมด เดี๋ยววันนี้เดี๋ยวเราจะว่ากันว่า ผัวยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินและต้องติดคุก แล้วคุณเฉลิมตอบไปอีกบอกว่า เรื่องนี้คุณทักษิณไม่เคยทำผิดเลย ไม่ได้ทุจริต ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายเขาห้าม ทำผิดกฎหมายกับทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัดนะครับ บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา หากไม่ได้กระทำการอันใดที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การที่คุณทักษิณติดคุกเพราะว่า คุณกระทำการในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณเฉลิมพูดไม่ได้ และประเด็นที่คุณเฉลิมบอกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดิน แต่การที่ผัวอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วให้ภรรยาไปซื้อที่ดิน และตนเองเซ็นยินยอมไป เมื่อได้ที่ดินแล้วกลับมาเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างผัวกับเมียสองคน และซื้อมาถูกๆ ต้นทุนนี่แพงมาก คุณหน่องจะบอกว่า ราคามันขนาดไหนเลย แพงมากแล้วมาซื้อแค่ 772 ล้าน จากที่ดินที่มีจำกัดความสูงไว้ พอคุณหญิงพจมานซื้อไปยกเลิกจำกัดความสูง แล้วอัปลักษณ์มากขึ้นก่อนขาย ปรส.ไปรวมที่ดินแบ่งแปลงให้ หักเนื้อที่ออกไปเยอะแยะไปหมด เพื่อให้กำไรเพิ่มอีก

เรื่องนี้เมื่อมีการฟ้องร้องกันตอนนั้นคุณวีระ สมความคิด นักสู้ของเราที่ติดคุกอยู่ที่เปรซอว์เป็นคนไปร้องกล่าวโทษคุณทักษิณกับคุณพจมาน คุณพิชิต ชื่นบาน ทนายของคุณทักษิณที่ไปติดคุก กรณีกล่องขนมที่ไปทำหล่นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคนเขียนคำให้การเรื่องนี้ และเป็นคนว่าความสู้ให้คุณทักษิณมาจนสืบพยานโจทก์เสร็จ สืบพยานจำเลยเสร็จเรียบร้อยหมดทุกอย่างเลยก่อนหนี แถลงการณ์ปิดสำนวนยื่นแล้ว ยื่นเสร็จแล้วค่อยหนี

แล้วเขาบอกว่า คตส.มาจากการรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารแล้วมี คตส.มันแกล้งเขา เพื่อลงโทษเขา ซึ่ง คตส.ในนัยของ พ.ศ.นี้ในตอนนั้นกับสมัย คตส.รุ่นของคุณสิทธิ์มัน คตส.คนละเรื่อง เขาบอกว่า คตส.ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า เป็นโมฆะ คตส.ยุคนั้นตั้งกรรมการสอบเองนะครับ ยึดเองแล้วตัดสินเองเลย แต่ คตส.ยุคคุณสนธิบังไม่ใช่คือ คตส.ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเท่านั้นเอง อายัดได้ แต่ต้องส่งให้อัยการฟ้อง และให้ศาลเป็นคนตัดสิน เห็นไหมครับครบกระบวนการเลยคือ ถ้ายามปกติตำรวจตรวจสอบส่งอัยการฟ้อง ศาลตัดสิน อันนี้เปลี่ยนแผนตำรวจสอบก็เป็น คตส.สอบ และทำไมต้องให้ คตส.สอบ เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวกับการเงิน เกี่ยวกับบัญชี ตำรวจไม่ชำนาญ คตส.เขามีคนของเขาชำนาญเรื่องการเงินการบัญชี เขาสอบๆ เสร็จส่งอัยการ อัยการฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วก็ตัดสินก่อนตัดสินคุณทักษิณหนีไป แล้วศาลให้ความเป็นธรรม ส่วนคุณหญิงพจมานศาลยกฟ้องให้ ถือว่าไม่มีความผิด

แต่คุณทักษิณเมื่อหนีไป ศาลไม่รอลงอาญาให้ เพราะศาลมาขมวดตอนสุดท้ายบอกว่า เมื่อพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 คือคุณทักษิณได้กระทำความผิดตามที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ถูกที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่รอการลงโทษ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 คุณทักษิณมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คุณเฉลิมบอกว่า ไม่ได้ทุจริต

เห็นไหมครับความผิดอันนี้มันว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คือ คุณหญิงพจมาน นี่คือคำพิพากษาที่ออกมาอย่างนี้ นี่คือเรื่องทั้งหมดอันเป็นเหตุที่ทำให้คุณทักษิณต้องหนีไป และมีความพยายามที่จะออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ครั้งนี้ นี่คือต้นเรื่องที่มาของเรื่องนี้

เติมศักดิ์- ทีนี้ทางคุณกัลยาณี ในฐานะเป็นผู้ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงของคดีนี้มันเป็นอย่างไง แล้วมันเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายเรื่องมาตราของ ป.ป.ช.อย่างไรเชิญครับ

กัลยาณี- คือการที่เราทำคดี ทำเรื่องเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2543 เป็นต้นมามีคดีของลูกหนี้ขึ้นสู่ศาลเยอะมาก แล้วพอถึงประมาณปี 2545 ถึง 46 ลูกหนี้เริ่มถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ปรากฎว่าเกิดราคาขายทอดตลาดหลักทรัพย์ต่ำมาก เกิดพอขายได้ต่ำเหมือบกับว่า เรามีหนี้ เมื่อก่อนเรามีหนี้ 100 บาท เราจะกู้เงินได้ 100 บาท ที่ดินเราต้องสัก 130 หรือ 140 บาท และจะกู้เงินได้ 100 บาท และเราก็จ่ายไปแล้วเกิดดอกเบี้ยค้าง พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ไอ้ที่ 130 บาทของเรา มันลดลงมาเหลือสัก 25-35 บาท เพราะฉะนั้นยังไงลูกหนี้มีปัญหาแน่นอน เพราะฉะนั้นเราเกิดลูกหนี้ที่ล้มละลายมหาศาล

เราก็ตามว่า ทำไมมันเกิดอะไรขึ้น ราคาประเมินมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมราคาประเมินราชการมันถึงแกว่งไกวขนาดนี้ มันเกิดอะไรกันขึ้น เป็นที่ผ่านมาของการไปเก็บสถิติว่า เมื่อราคามันถูกต่ำมากๆ ใครเป็นคนที่ได้ประโยชน์ ปรากฎว่าคนซื้อทรัพย์ที่กรมบังคับคดี เพราะที่ของลูกหนี้ราคา 100 บาท ซื้อได้ 35 บาท ซื้อได้ 25 บาท ทำไมมันถึงเกิดเรื่องซื้ออย่างนั้นได้ นอกจากราคาประเมินขายทอดตลาดมันลดแล้ว มันยังมีการคำสั่งว่า ขายทอดตลาดหนที่ 1 ลดลงมานะเหลือ 80 หนที่ 2 ลดลงมานะเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ต่ำแล้ว

เพราะฉะนั้นเราย้อนกลับไปอีกว่า มันเกิดอะไรขึ้น มันมีการสั่งการอย่างไง มันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอย่างนี้อย่างไร ไปเจอว่าเดิมราคาประเมินของประเทศไทยคิดราคาประเมินโดยกรมที่ดินเอาไว้เป็นตัวอ้างอิงในราคาซื้อขาย จำนอง และเอาไว้เสียภาษี ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยน เปลี่ยนเลยเปลี่ยนจากคนประเมินโดยกรมที่ดิน ด้วยวัตถุประสงค์ซื้อขายจำนอง ย้ายมาให้กรมธนารักษ์ เปลี่ยนกระทรวงเลยเป็นคนประเมิน วัตถุประสงค์เปลี่ยนไป เพื่อประเมินราคาเอาไว้เสียภาษีเท่านั้น

เพราะฉะนั้นไอ้ที่เราเคยมีที่ดินราคา 2 แสน มันจะลดลงมาเหลือ 5 บาทก็ตาม หรือ 10 บาทก็ได้ เพราะการประเมินราคาที่ดินมันเปลี่ยนวัตถุประสงค์ จะไปว่ากรมธนารักษ์ก็ไม่ได้ เพราะหน้าที่คือ วัตถุประสงค์ของเขาคือ ประเมินเพื่อเสียภาษี เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาปั๊บมันไม่เท่านั้น ยังมีใครบางคนให้กรมธนารักษ์เป็นคนประเมิน แต่ให้กรมที่ดินเป็นคนประกาศใช้ และมนุษย์ทั้งประเทศไทยเราจะรู้ไหมคะว่า ผู้ประเมินราคาเปลี่ยนคนไปซะแล้ว ดูดีๆ จากกระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน ย้ายไปกรมธนารักษ์อยู่กระทรวงการคลัง เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กรมที่ดินเป็นคนประกาศ และกรมบังคับคดีที่อยู่กระทรวงยุติธรรมไม่รู้ หรือแกล้งไม่รู้ไม่ทราบ หยิบราคาประเมินนั้นที่ตกต่ำ เอาไปประกาศเป็นราคาขายทอดตลาด แล้วออกประกาศอีก 1 ฉบับว่า เนื่องจากที่ดินราคามันขายยากจังเลย มันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนถูกฟ้องเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นมันขายยาก กรมบังคับคดีมีหน้าที่ขายเร็วๆ เลยพอประกาศขายแล้วทุบราคา 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 50 เปอร์เซ็นต์

เติมศักดิ์- เพื่อให้มันขายง่ายขึ้น

กัลยาณี- เพื่อให้มันขายง่ายขึ้น

สุวัตร- ตรงนี้ขออนุญาตเติมนิดนึง ประเด็นเรื่องกรมธนารักษ์เอาไปตีราคา ความจริงกรมธนารักษ์ไม่มีความพร้อม เจ้าหน้าที่เขาบอกผมเลย เขาไม่พร้อมหรอก ที่ดินเขาตีราคามาตั้งนานแล้ว ควรจะให้เขาตีต่อไป แต่คุณทักษิณต้องการให้กรมธนารักษ์ตีราคา จะได้ช่วย ทีนี้ประเด็นที่คุณหน่องเมื่อกี้พูดว่า ทำไมที่ดินเมื่อขายทอดตลาดแล้วจึงไม่มีคนซื้อ ซื้อไม่ได้ เพราะเขาออกกฎหมายว่า ลูกหนี้ที่เป็นเจ้าของที่ดินซื้อห้ามซื้อ

เติมศักดิ์- ห้ามพวกนี้

สุวัตร- ต้องให้ฝรั่งซื้อแล้วคุณไปซื้อต่อ อันนี้คือประเด็นที่จะเสริม

กัลยาณี- เพราะฉะนั้นพอเราเจอว่า ที่ดินมันราคาตกต่ำไปเยอะขนาดนี้ ใครละเป็นคนได้ผลประโยชน์ คือ คนซื้อทรัพย์ คนซื้อทรัพย์เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมันเหลือคนไม่กี่คน กลุ่มไม่กี่กลุ่มที่มันมีสตางค์ที่จะไปซื้อได้ เราได้เริ่มเก็บชื่อใครบ้างที่มาประมูลซื้อเยอะที่สุดเลย พอเอามาเรียงเข้าเกิดอาการตกใจ เพราะว่าจะเห็นเลยว่าใครคือผู้ถือหุ้น ในฐานะตอนนั้นคุณวีระ สมความคิด ทำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เป็นหนึ่งในเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และเอาข้อมูลตัวนี้ส่งให้ ว่าตอนนี้มันเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมา แล้วเกิดโยงใยของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างกระทรวงยุติธรรม ณ วันนั้น อธิบดีกรมบังคับคดี ผู้ออกประกาศ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ณ วันนั้น โยงมาถึงกระทรวงการคลัง ณ วันนั้น มันก็จะเจอภาพโยงใยกันไปหมด เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องคดีรัชดามันเป็นปลายติ่งของยอดภูเขาน้ำแข็ง พอเกิดเรื่องคดีรัชดาขึ้นมา เรามาเช็กราคา คุณวีระบอกว่า ช่วยเช็กราคาทีว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร เกิดอาการไปเช็กราคาที่ที่ดินขึ้นมา เขาบอกว่า น้องๆ เขาบอกที่นั้น เขาบอกว่า พี่ลองไปเช็กดูสิว่า มันมีระวาง 1 ระวาง ราคามันลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับราคาของเก่า เราเลยเก็บข้อมูลแทบนั้นทั้งหมดที่ดินทั้งหมด 600 แปลง เพื่อเปรียบเทียบให้ดูให้เห็นว่า มีที่ดินเฉพาะระวางนี้เท่านั้น ที่มีการลดลงมาเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินเดิม

เติมศักดิ์- เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ใช่ไหมครับ

กัลยาณี- เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินเดิม เพราะฉะนั้นเราเอาข้อมูลอันนี้เสนอต่อ คตส.แล้วเอาข้อมูลของ 600 แปลง กราฟราคาที่ดินทั้งหมด ในที่ดินบริเวณนั้นส่งให้ดู เสร็จเรียบร้อยแล้วเรามาดูว่า ในเรื่องของที่ดินรัชดามันต้องมีทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายคนซื้อกับฝ่ายคนขาย เรามามองที่ฝ่ายคนขาย คือกองทุนฟื้นฟู กองทุนฟื้นฟูเป็นกองทุนที่เกี่ยวพันกับเรื่องเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เจ้าหนี้ที่ล้มละลายทั้งหลาย จะถูกขายทรัพย์เข้าสู่กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้จำนวนเยอะเลยอยากจะไปขอชำระหนี้ แล้วเอาทรัพย์ของตนเองคืน กองทุนฟื้นฟูเขามีกฎของเขาว่า ลูกหนี้ทั้งหลายที่จะไปขอคืนมีกฎระเบียบว่ายังไง

เติมศักดิ์- ที่จะไปขอซื้อคืน

กัลยาณี- ขอซื้อคืนข้อที่ 1.กองทุนฟื้นฟูเขาบอกกับเราว่า ในฐานะที่เราพาลูกหนี้ไปเยอะแยะ ข้อที่ 1.เขาจะขาดทุนไม่ได้ เพราะเขาเป็นหน่วยงานของรัฐ เขาถูกตรวจสอบโดย สตง.เพราะฉะนั้นเขาจะขาดทุนไม่ได้ ถ้าเขาซื้อมาเท่าไหร่ เขาจะต้องขายคืนให้เราบวก เขาเรียกว่า แคริ่งคอร์ส คือค่าใช้จ่ายในการถือครอง เพราะเขามีคน เขาต้องเสียแอร์ เขาต้องเสียน้ำ เขาต้องเสียเงินเดือน เพราะฉะนั้นเขามีค่าใช้จ่ายในการถือครอง เขาคิดประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นถ้าลูกหนี้ไปขอซื้อคืน ต้นทุน 100 บาท เขาจะคิดดอกเบี้ยเราปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดเรื่องไว้ 3 ปีเราก็จ่าย 115 บาท เราจะได้ที่ดินคืนมา ต่อให้ลูกหนี้เป็นอย่างไรก็ตาม เขาจะไม่ให้ลดราคา

เรามีลูกหนี้อยู่รายหนึ่ง เป็นวิศวกรอยู่โคราช ขาดเงินอยู่ 7 หมื่น ที่ดินเป็นที่ของคุณแม่ ซึ่งป่วยหนักและอยู่โรงพยาบาล เพราะเครียดเธอเป็นวิศวกร ไปเอาที่คุณแม่มาจำนอง และทำธุรกิจ แล้วเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ขาดเงินอยู่ 7 หมื่นรวบรวมอย่างไรก็ไม่ได้ ขาดอยู่ 7 หมื่น กองทุนฟื้นฟูให้คำตอบเธอว่ายังไงไม่ทราบ ปรากฎว่า ลูกหนี้ผูกคอตาย ก่อนตายเขียนหนังสือไว้ว่า ถูกบีบคั้นจากกองทุนฟื้นฟู แล้วจนปัญญามากหาเงิน 7 หมื่นบาทไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงทำหนังสือถามไปที่กองทุนฟื้นฟูเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาตอบเรามาว่า เขาเห็นใจมาก ไม่ว่าลูกหนี้จะตายอีกสักกี่ศพ อะไรทำนองนั้น เราต้องยึดในหลักการว่า เขาซื้อมาเขาขาดทุนไม่ได้

เติมศักดิ์- ไม่ยอมขายขาดทุน

กัลยาณี- ขาดทุนไม่ได้ เพราะเขาเป็นหน่วยงานของรัฐ เราไปสืบมาว่า ที่ดินแปลงนี้กองทุนฟื้นฟูซื้อมาเท่าไหร่ ปรากฎว่าเราไปได้สัญญาซื้อขายมา กองทุนฟื้นฟูซื้อที่ดินแปลงนี้มา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ด้วยราคา 1,908 ล้าน เพราะฉะนั้นเมื่อเอามาเข้าหลักเกณฑ์ของเขา ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2546 ตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟู ที่ดินแปลงนี้รวมต้นทุนในการถือครอง จะมีมูลค่า 2,819 ล้าน นี่คือตามหลักเกณฑ์ที่เขาให้กับลูกหนี้ทั่วประเทศคือ 2,819 ล้าน เขาขายที่ดินไปที่ 772 ล้าน อันนั้นคือข้อที่ 1.คือเรื่องการยอมขาดทุนในต้นทุนที่ซื้อมาไหม

เติมศักดิ์- อันนี้ก็คือต้องการจะให้เห็นว่า มาตรฐานของกองทุนฟื้นฟู

กัลยาณี- กับที่ดินแปลงอื่นกับลูกหนี้ทั่วประเทศ กับกรณีที่ดินแปลงนี้ไม่เหมือนกัน

เติมศักดิ์- ไม่ยอมขาดทุนแม้แต่สัก 7 หมื่นบาท ไม่ยอมขาดทุน

กัลยาณี- ทำให้คนผูกคอตายก็ยังไม่ยอม แต่รายนี้ 2,800 ถ้าต้นทุนจริงๆ 1,900 บวกค่าใช้จ่ายถือครอง ซึ่งเขาคิดกับลูกหนี้โดยทั่วไป ต้นทุนมันจะ 2,800 บาท

เติมศักดิ์- ที่ดินที่ขายให้คุณหญิงพจมาน ต้นทุนจริงๆ คือ

กัลยาณี - ใช่ค่ะ คือ 1,900 ซื้อมา 1,900

เติมศักดิ์ - 1,908 ล้าน เมื่อบวกค่า

กัลยาณี - ถือครอง ค่าใช้จ่ายในการถือครอง ตั้งแต่ปี 38 จนถึง 46 ต้นทุนเขาจะประมาณ 2,800 ล้าน

เติมศักดิ์ - แต่ขายให้คุณหญิงพจมานแค่

กัลยาณี - 772 ล้าน นั่นประการที่ 1 พอประการที่ 2 เราจะเห็นว่าที่ดินนี่นะค่ะ ที่ดินของคุณพจมานทั้งหมดที่ซื้อ 33 ไร่ มันเป็นโฉนดแปลงอย่างนี้ เห็นไหมค่ะ สีเขียวจะเป็นที่ดินแปลงย่อย สีเหลือง สีม่วง เพราะฉะนั้น สีเหลือง กับสีม่วง จะไม่ติดถนน เพราะฉะนั้น ราคาประเมินมันก็จะต่ำกว่า ถูกไหมค่ะ ที่อันนี้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ คือ ถนนเทียนร่วมมิตร ที่ดินแปลงเล็กๆ นี่ติดถนนก็จะราคาประเมินอันหนึ่ง สีเหลืองนี่ ถัดเข้ามาเป็นที่ดินอีกแปลง ราคาประเมินก็จะต่ำกว่า สีม่วงก็จะต่ำกว่านะค่ะ ที่ดินทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นแปลงเล็กๆ อย่างนี้ เนื้อที่ 33 ไร่ ปรากฏว่า กองทุนฟื้นฟูเขาก็ไปรวมโฉนดให้ จากหลายๆ แปลง เขาก็ไปรวมให้เรียบร้อยเลยนะค่ะ ตัดถนนตัวนี้ออกไปให้ ตัดให้หมดเลย เรียบร้อย

สุวัตร - ถือว่าเอื้อกันสุดๆ

กัลยาณี- หายไป 2 ไร่

สุวัตร- พอเนื้อที่หายก็ไม่ต้องจ่ายแหละ

กัลยาณี- ไม่ต้องจ่ายเงิน นะค่ะ ทีนี้ก็มีคำถามว่า ที่ดินของลูกหนี้ทั้งหลายแหล่ ที่กองทุนฟื้นฟูรับไป ไม่เคยมีเลยซักแปลงที่เธอจะตัดถนนให้เวนคืน รวมโฉนดให้ ไม่มีเลย ไม่เคยทำแบบนี้ให้ใคร ก็มียังไงก็ซื้อไปอย่างนั้น มีเท่าไรก็ซื้อไปเท่านั้น เนื้อที่ตามโฉนดเท่าไร คุณก็ต้องรับไปเท่านั้น ฉันรับมาเท่านี้นี่ ถ้าคุณอยากซื้อไป คุณก็ต้องซื้อไปเท่านี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ 2

พอเรื่องที่ 3 เราก็มีคำถามว่า เอาละ การประมูลขายทอดตลาดไปนี่ โดยธรรมดาแล้วก็ให้วางประมูล กับวางซอง ค้ำประกันซอง 1 ล้านบาท ปรากฏว่า เธอก็เปลี่ยนนโยบายตัวนี้ จาก 1 ล้านบาทนี่ ไม่เอา ไร่กุ๊ย เพิ่มขึ้นไปเป็น 100 ล้าน เพราะฉะนั้นจะมีคนซักกี่คน ที่มีเงินสด 100 ล้าน ไปวางค้ำประกันซอง เพราะตอนนั้นเกิดวิฤตเศรษฐกิจ ก็เหลือคนไม่กี่คนเข้าไปประมูล เอ้า เราไม่ว่ากัน ทีนี้ไปดูเรื่องสำคัญที่สุดในเรื่องนี้

สุวัตร - เดี๋ยวนะ ข้อมูลไม่ว่าไม่ได้ ขออนุญาตนิดนึง แทรกคุณหน่อยนิดนึง ตอนคนประมูลตอนนั้น มีบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด ของคุณอนันต์ อัศวโภคิน เห็นมะ คุ้นๆ มะ ธรรมกาย คุ้นมะ คุยกับคุณทักษิณมะ แลนด์แอนด์เฮาส์เสนอ 730 ล้าน บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยนายกีรติ ศตะสุข เสนอ 750 ล้าน น่ารักมากเลย เนียน คุณหญิงพจมาน โดยนายสมบูรณ์ คุปติมนัส 772 ล้าน เคาะเปรี้ยง 772 ได้เลย ทั้งๆ ที่ต้นทุนนี่นะ ต้นทุนหลังจากรวบรวมให้แล้ว ตีราคาลดให้แล้ว เป็นที่ดิน 2 แปลงติดกัน แปลงหนึ่งก็ 1,310,100,000 บาท แปลงที่สอง 754,500,000 บาท นะครับ ก็นี่คือต้นทุนที่ตีมาให้ ก็ 2,000 ล้านเศษ รวมมาและก็ ต้นทุนมาอย่างนี้ คุณหน่องบอกแล้ว ถ้าชาวบ้านซื้อลดไม่ได้เลย แต่นี่ซื้อได้ 772 ล้าน เชิญครับคุณหน่อง

กัลยาณี - ค่ะ อันนี้ก็ถึง 3 เรื่องแล้วนะคะ พอเรื่องที่ 4 คือราคาประเมินที่เราพูดกันเมื่อกี้นี้ว่า ทำไมมันเกิดราคาประเมินเฉพาะมันลดลงมาเหลือ 25% เพราะฉะนั้นที่ดินของเขา 2,800 ก็ลดลงมาเหลือ 700

สุวัตร- ราคาประเมินนะไม่ถึง 700 โดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ 870 ล้าน แต่คุณหญิงพจมานซื้อต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ เป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน บวกด้วยร้อยละ 15 คือ ที่คุณหน่องว่า ของการถือครองอยู่ ก็ประกาศ นี่คือทุน

เติมศักดิ์- ผมทวนนะ นี่คือต้นทุนฝั่งผู้ขายก่อน คือกองทุนฟื้นฟู หนึ่ง ที่ผ่านมาเขาไม่ยอมขาดทุนแม้แต่บาทเดียว แต่แปลงนี้ ขาดทุนตั้งพันกว่าล้าน สอง ไม่เคยรวมโฉนด ตัดถนน แต่เสียที่ดินไป 333 ตารางวา อันที่สาม การประมูล ปกติวางซองแค่ 1 ล้าน อันนี้เพิ่มเป็น 100 ล้าน

สุวัตร- 100 ล้านนี่มากำหนดตอนที่สอง เพราะเขารู้ว่า ไม่มีใครมีเงินเท่าคุณหญิงพจมาน เพื่อจะล็อคสเป็กซะ

เติมศักดิ์- สี่ ใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ แทนที่จะใช้ราคาประเมินของกรมที่ดิน สี่เรื่องที่คล้ายๆ เป็น 2 มาตรฐาน

สุวัตร- และก็ลึกลงไปในที่ดินแปลงนี้ ตอนคุณหญิงพจมานซื้อ ห้ามสร้างตึกสูง พอซื้อเสร็จ ปลดข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร ในเรื่องความสูงของตึกให้

กัลยาณี - ทีนี้ เรามาดูเรื่อง การเสียภาษี หลังจากที่เขารวมโฉนดเรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่าเขาได้ที่ดินแปลงใหญ่ๆ ติดถนน ถูกไหมค่ะ 2 แปลงติดถนน เวลาไปเสียภาษี ที่ดินแปลงนี้ก็ควรประเมินราคาแบบที่ดินติดถนน ปรากฏว่า เวลากรมที่ดินเขาคิดราคาประเมินภาษี เขาคิดแบบเป็นที่ไม่ติดถนน เพราะฉะนั้น

สุวัตร- พอไม่ติดถนนมันตีราคาต่ำได้ ถ้าติดถนนต้องราคาสูง

กัลยาณี- เพราะฉะนั้น ภาษีที่ดิน ก็เสียน้อยลงไป นี่คือมาตรฐานของกรมที่ดิน แล้วก็มาตรฐานสุดท้าย อย่างที่พี่สุวัฒน์พูดก็คือ มาตรฐาน เรื่อง ผังเมือง เพราะที่ดิน เมื่อเป็นแปลงใหญ่ แล้วอนุญาตให้สร้างอาคารสูงได้ แปลว่า เขาสามารถสร้างตึกสูงได้ แล้วเวลาตึกสูงเราจะคำนวนต่อพื้นที่ กับจำนวนเนื้อที่ก่อสร้าง เพราะฉะนั้น ราคาที่ดินมันจะขึ้นไปได้เยอะเลย เพราะคนสามารถซื้อไปสร้าง เอาไปใช้ประโยชน์ได้เยอะ

สุวัตร- การจำกัดความสูง ถ้าประกาศตอนคุณหญิงจะเข้าประมูลซื้อ จะมีคู่แข่งอีกเยอะเลยถ้าเขารู้ว่าตรงนี้สร้างตึกสูงได้ 1 วางเงื่อนไขว่าคุณต้องวาง 100 ล้าน 2 ซื้อไปไม่คุ้ม มันสร้างได้ไม่เกิน 8 ชั้น ไม่เกิน 10 ชั้น คนเขาไม่เข้าสู้ เพราะซื้อมาแล้วไม่คุ้มไง เพื่อจะตัดคนอื่นเสีย แต่พอเมียตัวเองซื้อได้ก็ยกเลิกข้อกำหนดอันนั้นไป

กัลยาณี- เพราะฉะนั้น

เติมศักดิ์- นี่คือพฤติกรรม 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานในดิวการซื้อขายที่ดินรัชดา ไม่ว่าจะเป็น กองทุนฟื้นฟู กรมที่ดิน

สุวัตร- ทุกกรมเลย

กัลยาณี- และก็ผังเมือง

สุวัตร- กองทุนฟื้นฟู สิ่งไม่เคยทำก็ทำ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ก็ทำ รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย กำหนดความสูง

กัลยาณี- เพราะฉะนั้น ถ้าเรารวมเป็นเงิน อันที่หนึ่ง ถ้าขายที่ดินตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟู ที่ทำกับประชาชนโดยทั่วไป กองทุนฟื้นฟูจะเสียหายที่ดินแปลงนี้ 2,045 ล้าน อันที่สอง ถ้าหากว่าเขาขายที่ดินแปลงนี้ ตามท้องตลาด ขณะนั้น 2546 ที่ดินแถวนั้นจะราคาตารางวาละ 90,000 บาท ที่รู้เพราะว่า ที่ดินของพี่อยู่แถวนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากขายตามราคาตลาด กองทุนจะเสียหาย 504 ล้านบาท ข้อที่สาม หากเขาประเมินที่ดินเป็นที่ดินทั้งแปลง หรือติดถนน ไม่ใช่ดินอยู่ข้างหลัง ถ้าเป็นราคาเท่ากัน เป็นที่ดินรวมตามโฉนดของเขา และขายเท่านั้นคือ ขายตารางวาละ 70,000 บาท ไม่ใช่ลดเหลือ 35,000 บาท ข้างหลัง 27,000 บาท รายได้ของกองทุนฟื้นฟูเฉพาะเรื่องรวมโฉนดกับไม่รวมโฉนด หายไป 220 ล้านบาท

คราวนี้มาดูการขาดค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมของกรมที่ดิน ถ้าตีราคาตามหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟู กรมที่ดินจะได้สตางค์จากการโอนที่นี้อีก 40.9 ล้านบาท ถ้าหากว่า ธรรมเนียมของกรมที่ดินขายตามราคาตลาด กรมที่ดินก็จะขาดรายได้ไป 11 ล้าน แต่ที่ฮือฮามาก คือ เรื่องการที่ประกาศให้วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ไม่เป็นวันหยุดราชการ เพราะถ้าเป็นวันที่ 1 มกราคม 2547 ราคาประเมินที่ดินเขาจะเปลี่ยนกัน 4 ปีครั้ง ปรากฏว่า กรมที่ดินเปลี่ยนราคาประเมินตรงนั้น เฉพาะตรงนั้น เป็นตารางวาละ 70,000 บาท ปัจจุบันที่คุณทักษิณเสียภาษีอยู่ที่ราคา 48,000 บาท ซึ่งมันนิดเดียวเอง ถ้าเป็นปี 2547 ใช้ราคาประเมิน 70,000 บาท คุณทักษิณจะประหยัดค่าธรรมเนียม 2% ประหยัดไปแค่ 5,977,000 บาท แค่นี้คิดดู เงินแค่นี้เองทำให้คนไทยทั้งประเทศ ต้องไปทำงานวันที่ 31 ธันวาคม 2546 น่าชื่นใจไหม

เติมศักดิ์- เพื่อให้เขาประหยัดภาษี

กัลยาณี- เพื่อให้เขาประหยัดภาษีไป 5,977,000 ส่วนค่าธรรมเนียมธุรกิจเฉพาะจะประหยัดไปตั้ง 244,977 บาท เพียงเงินเท่านี้ ทำให้คนทั้งประเทศต้องไปทำงาน วันที่ 31 ธันวาคม 2546 เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่ามันมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นมาตรฐานกับเรื่องนี้

เรามาดูคนซื้อบ้าง คือ ภรรยา นายกรัฐมนตรี ใบอนุญาต เวลาภรรยาไปซื้อทรัพย์สิน สามีต้องเซ็นยินยอมให้ไปซื้อทรัพย์สิน ท่านไม่ได้ใช้ประชาชนธรรมดา ท่านใช้บัตรนายกรัฐมนตรี

สุวัตร- บัตรประจำตัวข้าราชการการเมือง นายกรัฐมนตรี

กัลยาณี- นายกรัฐมนตรี ไปเซ็นอนุญาตให้ภรรยาซื้อที่ อันที่สอง คือ ท่านสั่งปิดราชการในวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เพราะฉะนั้นนี่คือฝ่ายคนซื้อ ฉะนั้นจะบอกว่าท่านไม่รู้เรื่อง คงไม่ได้ ส่วนฝ่ายคนขาย ก็มี 4 กรณีเลยคือ กองทุนฟื้นฟู อันนี้อยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ก็อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง กรมที่ดิน เรื่องการคิดค่าธรรมเนียม และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ผังเมือง อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ผลเสียหายที่เกิดขึ้น มันเกิดจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับ 2 มาตรฐาน ซึ่งเขาตอบไม่ได้เลย ปัญหามีอยู่ว่า คุณทักษิณ เป็นคนออกนโยบาย การย้ายการประเมินที่ดิน จากกรมที่ดินไปสู่กรมธนารักษ์ เปลี่ยนวัฒถุประสงค์จากการประเมินราคาซื้อขาย เป็นเสียภาษีเท่านั้น คุณทักษิณเป็นคนสั่งให้มีการลดราคาขายทอดตลาด โดยออกประกาศทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ มันเป็นตัวอธิบายว่า ทำไมที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากได้ถูกเปลี่ยนมือในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเป็นคำตอบว่า ทำไมคนมีหนี้แค่ 3 แสนถึงล้มละลาย ชาวบ้านที่ผ่อนบ้านราคา 3 แสน เมื่อปี 40 41 ล้มละลายทั้งหมด ยืนยันได้ว่า ถ้ามีหนี้ 3 แสนบาท ล้มละลายหมด เพราะว่า ราคาหลักทรัพย์ของคุณที่กู้เงิน 3 แสนบาท มันถูกลดราคาลง เรามีตัวอย่าง แม้กระทั่งด้วยนโยบายอันนี้ของคุณทักษิณ เรามีตัวอย่างที่ดิน ราคาทั้งแปลง 4,000 บาท ราคาขายทอดตลาด 4,000 บาท และ ถูกทุบขายทอดตลาดราคา 2,000 บาท ที่ดินทั้งแปลง ที่ดินในประเทศไทย เป็นที่ดินจัดสรร เป็นโฉนดราคา 80 กว่าตารางวา ขายทอดตลาด 2,000 บาท ทั้งหมดเกิดขึ้นจากนโยบายในช่วงคุณทักษิณเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น และมาถึงตรงนี้ เหตุการณ์ทั้งหมด ข้อมูลทั้งหมด เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ศาลท่านวินิจฉัย เห็นว่า สิ่งที่เสนอต่อท่านทั้งหมดมีน้ำหนัก และทำให้เราเข้าใจว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ห้ามผู้ที่บริหารประเทศ มีสิทธิ์มีเสียงในการออกนโยบายบริหารประเทศ ห้ามเข้าไปมีส่วนในการประมูล หรือมีส่วนได้ส่วนเสียแข่งกับประชาชน หรือเป็นคู่สัญญา พฤติกรรมเหล่านี้

สุวัตร- มันจะทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน

กัลยาณี - และพฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีน้ำหนักมาก เราไม่ได้บอกหรอกนะว่า คุณทักษิณสั่งให้ที่ดินแปลงนี้ ลดลงเหลือเท่านี้ แต่คุณทักษิณต้องตอบเราให้ได้ หรือธนารักษ์ต้องตอบให้ได้ ว่า ทำไม 600 แปลงตรงนั้น มันมีเฉพาะระวางนี้เท่านั้นที่ลดเหลือ 25% ต้องตอบให้ได้ แต่ตอบไม่ได้ เรื่องอย่างนี้ มันคือที่มาของกฎหมายที่เขาบัญญัติไว้ และข้อสำคัญ ที่ภาคประชาชนมองว่า มันเป็นกติกาซึ่งเขียนอยู่แล้ว นักการเมือง เขาเสนอตัวให้พวกเราเลือกเขา เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเสนอตัวมา ต้องยอมรับในกติกาที่ต้องเล่น มันเหมือนขึ้นชกมวย ต้องรู้กติกา คุณจะมาร้องหลังคุณชกแพ้แล้วว่า คุณลืมกติกา คุณชกใต้เข็มขัด แล้วคุณบอกทำไมปรับแพ้ อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง

ส่วนอีกด้านหนึ่ง มีคุณเฉลิมบอกว่า ศาลนี้ก็มีศาลเดียว ไม่มี 3 ศาล คดีปกติมีตั้ง 3 ศาล แต่เรามองอย่างนี้ว่า คดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีผู้พิพากษา 9 ท่าน ถ้าเราขึ้นคดีอาญาธรรมดา เรามี 3 ศาล ศาลชั้นต้น มีผู้พิพากษา 3 ท่าน ศาลอุทธรณ์ มี 3 ท่าน ศาลฎีกา ก็มี 3 ท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าเราโดนคดีอาญา เราจะผ่านการวิเคราะห์ วินิจฉัย ของผู้พิพากษาทั้งหมด 9 ท่านเหมือนกัน แต่พอเป็นคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขาก็ให้ผู้พิพากษาศาลฎีกามาวิเคราะห์ท่าน 9 คน

กัลยาณี- ในขณะเดียวกันถ้าเราขึ้นคดีอาญาธรรมดา อาจกินเวลา 9-10 ปี แต่ศาลคดีอาญาของนักการเมือง ถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็รีบๆ พิพากษาให้เขารู้ว่าเขาบริสุทธิ์ เพราะอาชีพของเขาคืออาชีพนักการเมือง เขาจะได้มาทำประโยชน์กับแผ่นดิน กับประเทศชาติต่อไปได้

เติมศักดิ์- ต้องมองจุดนี้ด้วย

กัลยาณี- ใช่ค่ะ หรือถ้าเขาผิดจริงก็จัดการเขาซะเลย เขาจะได้ไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอีก เพราะฉะนั้นศาลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึงต้องเร็ว ซึ่งเรื่องพวกนี้เขาเขียนไว้ชัดเจน และเราก็รู้กันชัดเจนว่า ทำไมถึงมีศาลเดียว แล้วทำไมเขาถึงให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาตั้ง 9 ท่าน ไม่ได้เสียเปรียบอะไรเลย เพราะฉะนั้นเวลาพูดเสียเปรียบมากมีศาลเดียว มองให้ลึกจะไม่เสียเปรียบเลย

เติมศักดิ์- ผมเห็นภาพ บรรยากาศการต่อสู้คดีในชั้นศาล ศาลฎีกาค่อนข้างให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

กัลยาณี- มาก

เติมศักดิ์- เอาพยานหลักฐานมาสู้กัน

สุวัตร- ท่านวินิจฉัยทุกประเด็น ใน 9 คน วินิจฉัยตั้งแต่ว่า อำนาจ คตส.มีหรือไม่ คตส.ตั้งขึ้นมาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไล่ไปจนถึงว่าคุณทักษิณผิดหรือไม่ เพราะอะไร คุณพจมานผิดหรือไม่ เพราะอะไร วินิจฉัยโดยละเอียด 6-7 ประเด็นในคดีนี้ แล้วเปิดโอกาสให้นำพยานสืบสู้กันเต็มที่ ใช้เวลาในการพิจารณาคดี 1 ปี เพราะศาลฎีกาจะเร็ว ทำเรื่องนี้เรื่องเดียวสืบทุกอาทิตย์ เป็นคดี อม.ที่ 1/2550 และตัดสินก็เป็น อม.ที่ 1/2550 เลขดำและเลขแดงเป็นเลขเดียวกัน เพราะมันเป็นคดีแรก

เติมศักดิ์- จะอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริต

สุวัตร- ก็อ้างแล้ว อ้างแล้วว่าเขาไม่มีเจตนาทุจริต ศาลไม่เชื่อว่าผัวเมียนอนกอดกันอยู่ เมียไปซื้อที่ดินแล้วผัวสั่งขยายวันหยุดราชการเป็นวันทำการ แล้วไม่รู้กัน และปรากฎว่า คุณทักษิณสืบไม่ได้ ประเด็นนี้ถ้าคุณทักษิณเอาพยานไปสืบว่า ผมไม่รู้เลย เมียผมรวยมหาศาล เงิน 772 ล้านเขาจะเอาที่ไหนไปซื้อก็ได้ เขาไม่ต้องปรึกษาผม เขาทำเองได้เลย คุณทักษิณไม่เกี่ยวเลยกับการขยายวันหยุดราชการออกไป ซึ่งปกติวันที่ 31 ธันวาคม หยุดราชการเป็นวันปีใหม่ มีการขยาย มีการเอื้อประโยชน์ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย ทั้งหมดร่วมกัน หมายความว่า รุมกินโต๊ะประเทศไทย ต้นทุนมา 2 พันกว่า ขาย 772 มันถูกอย่างกับขี้ แล้วตัดสินไม่ให้คนอื่นได้ด้วย

เติมศักดิ์- แง่มุมหนึ่งที่เขาพยายามต่อสู้ผมจำได้กองทุนฟื้นฟู เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของนายกฯ หรือเปล่า

สุวัตร- เรื่องนี้ศาลหยิบยกมาวินิจฉัย

เติมศักดิ์- เพราะในมาตรา 100 เขาบอกว่า ห้ามทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตัวเองเป็นผู้กำกับดูแล

สุวัตร- ใช่ครับ

กัลยาณี- ซึ่งเป็นโชคดีเพราะว่าเรามีลูกหนี้ฆ่าตัวตายเพราะกองทุนฟื้นฟู ประนอมหนี้กับกองทุนฟื้นฟูไม่ได้เยอะแยะเราจะมีหนังสือต่อว่าไปที่กองทุนฟื้นฟู เธอเมตตาเรามาก เธอตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตัวกองทุนฟื้นฟูเองว่า กองทุนฟื้นฟูเป็นหน่วยงานของรัฐ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สตง. เพราะฉะนั้นไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนโดยการขาดทุนได้ แม้จะมีความเห็นใจในความยากไร้ของภาคประชาชนแค่ไหนก็ตาม แต่เนื่องจากเขาเป็นหน่วยงานของรัฐ แล้วหนังสือนี้เป็นหนังสือตอบของกองทุนฟื้นฟูเอง เพราะฉะนั้นคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

หลักฐานพวกนี้ หน่วยงานของรัฐเองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้หมดเลย เพราะฉะนั้นมันมีมาตรฐานคนละมาตรฐานอยู่ในการกระทำตรงนั้น

สุวัตร- ตรงนี้ผมอ่านคำพิพากษาให้ฟังว่าท่านวินิจฉัยอย่างไรว่า กองทุนฟื้นฟูเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่ เอาสั้นๆ "เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 มาตรา 29 ตรี เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง และเสถียรภาพ ในทำนองเดียวกันกับวัตถุประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจัดสรรเงินสำรองส่งสมทบเข้ากองทุน ตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นคราวๆ ไป องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานของรัฐตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100(1)"

และเพื่อให้ชัดตรงนี้ เมื่อเขาวินิจฉัยว่ากองทุนฟื้นฟูเป็นหน่วยงานของรัฐแล้ว ประเด็นต่อไปเขาวินิจฉัยว่า คุณทักษิณจะต้องรับผิดชอบด้วย ในประเด็นนี้ศาลท่านวินิจฉัยอย่างนี้ องค์คณะมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า" จำเลยที่ 1 (คุณทักษิณ) เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน" ข้อต่อสู้อันนี้ฟังไม่ขึ้น คุณทักษิณหยิบยกขึ้นสู้หมด แล้วศาลวินิจฉัยทีละประเด็น

เติมศักดิ์- ในชั้นศาล หน่วยงานต่างๆ ที่ว่ามา ไม่สามารถอธิบายว่าทำไมจึงเกิดอีกมาตรฐานหนึ่งกับการซื้อขายที่ดิน

สุวัตร- คุณทักษิณไม่สามารถอธิบายได้เลย ซึ่งเขาหยิบยกมาสู้ สู้ทุกเม็ด แต่ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบ แต่โจทก์มีพยานหลักฐานนำสืบได้

กัลยาณี- จริงๆ แล้วเรื่องนี้ ถ้าจะพูดถึงเรื่องที่ดินรัชดา อย่างที่เรียนตั้งแต่ต้นว่า มันเป็นยอดของภูเขา เรื่องที่เราควรจะสนใจมากกว่าเรื่องที่ดินรัชดา คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งประเทศ ในเรื่องการประเมินราคาที่ดิน มันเป็นการทำลายความมั่งคั่งของประเทศอย่างแท้จริง อยู่ดีๆ ปู่ ย่า ตา ยายเราเก็บเงินมาตลอดชีวิตเพื่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง แล้วบอกว่ามันควรจะมีมูลค่า 100 บาท วันดีคืนดีด้วยคนๆ เดียว หรือคนหนึ่งกลุ่ม บอกว่าที่ดินตรงนี้ไม่ใช่ราคา 100 บาท ที่เราเก็บเงินมา 10 ปี มันลงมาเหลือ 25 บาท แล้วมันเกิดขึ้นทั้งประเทศ ขณะนั้นบ้านเมืองเกิดวิกฤต เพราะฉะนั้นการกระทำของคุณทักษิณ สำหรับเราเรามองว่าเธอโหดร้ายมาก คนชั้นกลางทั้งประเทศอ่อนแอลง เนื่องจากมูลค่าที่ทุกคนถืออยู่มีราคาลดลงมากบ้างน้อยบ้าง แล้วน่าเสียใจตรงที่ มันลดลงมากบ้างน้อยบ้างตามใจชอบ

แต่เดิมกรมที่ดินเวลาประเมินราคาจะประเมินราคาตามสาธารณูปโภค เช่น ที่ดินอยู่ติดถนนใหญ่จะราคาแพง ถัดเข้าไปจะราคาถูกลง ติดถนนสาธารณะจะราคาแพงกว่าติดถนนเอกชน ปรากฎว่า กรมธนารักษ์ไม่ใช้ระบบนี้ ใช้ประเมินราคาที่ดินด้วยระวางทางอากาศ เพราะฉะนั้นที่ดินไม่ติดถนนอาจแพงกว่าที่ดินริมถนนก็ได้ เพราะฉะนั้นพอเป็นอย่างนั้นเขาก็ยกเลิกหน่วยงาน เรียกว่า คณะกรรมการประเมินทรัพย์กลาง ของกรมบังคับคดี เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่า ที่ดินของทั้งประเทศอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่มีอะไรอ้างอิงเลย ความร่ำรวยของครอบครัวที่เก็บเงินสะสมมาเพื่อซื้อที่ดิน 1 แปลง เป็นหลักประกันของครอบครัว ถูกทำให้อ่อนแอ อ่อนไหวไปหมดโดยนโยบายของคุณทักษิณ ชินวัตร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้น่าเสียดายที่คดีเอสซี แอสเซท ไม่มีการพิสูจน์สู่ศาล

เพราะฉะนั้นพี่น้องเสื้อแดงทั้งหลาย เกษตรกรทั้งหลาย ลูกหนี้ทั้งหลาย ที่เราร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ท่านควรจะรู้สักทีว่าที่ดินของท่านที่ถูกยึดทรัพย์ไป ท่านหมดตัว ท่านต้องถูกยึดทรัพย์ของคนค้ำประกัน ถูกยึดที่ดินของปู่ย่าตายายของท่าน ใครเป็นคนทำ นโยบายนี้มาจากไหน แล้ววันนี้ท่านล้มละลายเพราะเรื่องอะไร เราหวังว่า ท่านจะตื่น ท่านจะรู้ข้อเท็จจริง รับทราบเรื่องพวกนี้ มันไม่กระทบแต่เกษตรกร มันกระทบไปจนถึงชนชั้นกลางทั้งหมด อุตสาหกรรมทั้งหมด อยากจะฝากไปถึงท่านประธานสภาอุตสาหกรรม ที่ท่านออกมาเห็นด้วยกับ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ที่ท่านเห็นด้วย ท่านน่าจะรู้ ถ้าท่านควรจะรู้ว่า พรรคพวกของท่านที่ทำอุตสาหกรรมเป็นจำนวนเยอะมากที่ล้มละลาย ต้องปิดโรงงานไป ผลกระทบมาจากเรื่องอะไร นโยบายอะไร

สุวัตร- ให้รู้ว่าที่น้ำท่วมท่านเพราะอะไร

กัลยาณี- เดี๋ยวเราจะคุยกันต่อ

เติมศักดิ์- พูดเรื่องนี้ มีนักการเมืองบางคนบอกว่า ศาลแพ่ง ในที่สุดตัดสินให้การซื้อขายที่ดินรัชดาเป็นโมฆะ เอามาเป็นเหตุได้ว่านี่ไงไม่มีการกระทำความผิด หรือเป็นเหตุให้รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่ เดี๋ยวจะกลับมาดูว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร

***** ช่วงที่ 2*****

เติมศักดิ์- คนเคาะข่าวช่วงสุดท้าย วันนี้เรามาเติมความเข้าใจกันให้ลึกซึ้งในประเด็นข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงของคดีซื้อขายที่ดินรัชดา ซึ่งเป็นคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี

อีกประเด็นที่มีความพยายามตะแบงคือ นักการเมืองบางคนบอกว่า การที่ศาลแพ่ง ในภายหลังตัดสินให้การซื้อขายที่ดินรัชดาเป็นโมฆะ กลับสู่สภาพเดิม ที่ดินคืนกองทุน เงินคืนคุณหญิง เท่ากับไม่มีความผิดแล้ว

สุวัตร- อันนี้เป็นคำพูดของคุณเฉลิม ต้องยึดปริญญากลับ เสียดายมาก ไปเรียนรามคำแหงรุ่นน้องผม คืออย่างนี้ครับคุณเติมศักดิ์ ตอนที่อัยการเขาฟ้อง เขาฟ้องว่าการซื้อขายที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย กฎหมายห้ามภรรยาเข้าไปซื้อที่ดินของรัฐในขณะที่สามีเป็นนายกฯ ในส่วนของทางอาญา ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดิน ขอให้ริบเงินจำนวน 772 ล้าน เขาขออย่างนี้ แต่ศาลในทางอาญาไม่ริบเงินให้ ในคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 100 มาตรา 122 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 86, 90, 91, 152, 157 ให้ริบเงินจำนวน 772 ล้าน ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิด และที่ดินโฉนดเลขที่ 2298, 2299, 2300, 2301 ต.ห้วยขวาง คือให้ริบเงินและริบที่

แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีสิทธิ์ตัดสินได้โทษทางอาญาแค่ 5 ประการ ประหารชีวิต จำคุก ปรับ กักขัง ริมทรัพย์ ทำได้แค่นี้ ศาลส่วนอาญาจะพิพากษาว่าการซื้อขายเป็นโมฆะไม่ได้ต้องเป็นส่วนแพ่ง ต้องเอาคดีอาญาให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปว่าในส่วนแพ่ง ดังนั้นเมื่อศาลส่วนอาญาบอกการซื้อขายไม่ชอบ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัด เพราะว่า เมียซื้อ ผัวให้ความยินยอม ผัวเป็นนายกฯ เมื่อเมียซื้อมาแล้วเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างคุณทักษิณกับคุณพจมาน เมียซื้อ 772 ล้าน คือได้กรรมสิทธิ์ร่วมกันคือ คุณทักษิณได้ด้วย จะถือว่าเป็นของคุณหญิงอ้อไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่หย่ากันยังจดทะเบียนสมรสกันอยู่ ศาลก็บอกว่าผิด เขาเลยไปฟ้องทางแพ่ง

การฟ้องแพ่งก็คือ เอาผลของคดีอาญาไปฟ้องนั่นเอง เพื่อให้ศาลส่วนแพ่งพิพากษาว่าการซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ คู่กรณีกลับสู่สถานะเดิม คืนที่ดินให้กองทุนฟื้นฟู คุณหญิงพจมานเอาเงินคืนไป 772 ล้าน เพราะในส่วนอาญา ศาลพิพากษาว่า คุณหญิงอ้อไม่ผิด คุณหญิงพจมานไม่ผิด คู่สมรส เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 และ 122 นั้น มุ่งประสงค์จะลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รวมถึงภรรยาด้วย เมื่อตัดสินเป็นคุณอย่างนี้แล้ว ในส่วนคดีแพ่งก็เพิกถอนให้ เมื่อคุณเฉลิมบอก ต่อมาการซื้อขายเพิกถอนแล้ว ดังนั้นย้อนกลับไปคดีอาญา ก็คดีอาญาบอกคุณผิดเขาถึงไปฟ้องแพ่ง ความผิดสำเร็จไปแล้ว พอศาลส่วนอาญาตัดสินแล้วไม่มีการฎีแกอีกแล้ว เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินไม่มีฎีแกแล้ว สิ้นสุดแล้ว เขาเลยต้องไปฟ้องส่วนแพ่ง

เติมศักดิ์- คำพิพากษาศาลแพ่งก็บนพื้นฐาน

สุวัตร- บนพื้นฐานของศาลอาญา เอาข้อความของคดีอาญาไปเขียนเลย

เติมศักดิ์- ไม่ได้ขัดกัน

กัลยาณี- เปล่าเลย

สุวัตร- อย่างที่บอกแล้ว ส่วนแพ่งต้องตัดสินโดยฟังข้อเท็จจริงทางอาญา เช่น ขับรถตูมชนเขาตาย จำเลยติดคุก ส่วนอาญาติดคุกแปลว่าผิด เขาก็ฟ้องแพ่งให้ใช้ค่าปลงศพ ซ่อมรถให้เขา ส่วนแพ่งนำสืบเรื่องค่าเสียหายเท่านั้นเอง ไม่ต้องมาสืบแล้วว่าใครผิด ชนกันใครฝ่าไฟแดง ใครขับเร็ว ถือว่าจบแล้วเชิงอาญา อันนี้ก็เหมือนกัน ส่วนอาญาจบแล้วจึงมาพิพากษาส่วนแพ่ง

คุณเฉลิมแกก็ มันมีพวกสีแดง สีเหลือง เฉลิมเขาพวกสีข้าง ถูกเรื่อย

เติมศักดิ์- จะเอาคำพิพากษาศาลแพ่งมาเป็นเหตุให้รื้อฟื้นคดีตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญา ก็ไม่ได้

สุวัตร- ไม่ได้ การรื้อฟื้นคดีมีเงื่อนไขอยู่อย่างจำไว้ ที่ตัดสินลงโทษจำเลยว่าเขามีความผิด ต่อมาต้องมีหลักฐานใหม่ เช่น มีคนเห็นพยานคนหนึ่งแอบซ่อนในตู้ ออกไปก็ถูกฆ่า ต่อมาเอาพยานที่อยู่ในตู้มาเบิกความ ว่าไอ้นี่ไม่ใช่เป็นคนแทง นั่นเขาเรียกพยานหลักฐานใหม่ แต่คดีนี้คุณเฉลิมแกจะเอาขึ้นมาพิจารณาคดีใหม่ หลักฐานมันเก่าทั้งนั้น นำสืบกันมาสู้กันหมดทุกเม็ดแล้ว สู้กันมาหมดทุกอย่าง อำนาจฟ้องมีไหม การสอบสวนมีไหม เมียผิดไหมผัวทำอย่างนี้ สู้กันมาทุกประเด็นแล้ว เมื่อไม่มีหลักฐานใหม่การรื้อฟื้นคดีอาญาจะทำไม่ได้เด็ดขาด

เติมศักดิ์- การกลับสู่ฐานะเดิม ที่ดินกลับไปที่กองทุนฟื้นฟู เงินคืนคุณหญิงพจมาน ไม่ได้ทำให้คุณทักษิณไม่ผิด

สุวัตร- ไม่ ก็ผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะคุณผิดเขาจึงได้ตัดสินอย่างนี้

กัลยาณี- จริงๆ แล้วที่มีการพยายามจะอภัยอะไรให้คุณทักษิณ เราคนไทยเมตตา อภัยมันไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอะไรเลย ไม่กีดกันกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาเรื่องนี้ถามจริงๆ ว่า เท่าที่ฟังมาเป็นปี ที่เคยได้ยินคุณทักษิณร้องขอ เพราะข้อที่หนึ่งเธอไม่ยอมรับว่าเธอผิด เมื่อเธอไม่ยอมรับว่าเธอผิด เธอก็ไม่ร้องขออภัยโทษ

สุวัตร- 1. คุณทักษิณไม่ยอมรับว่าผิด แล้วบอกว่าศาลสองมาตรฐาน ศาลคือกระบวนการยุติธรรม เมื่อไม่รับว่าผิด องค์ประกอบที่ 2.สำนึกในการกระทำความผิด คุณทักษิณไม่เคยสำนึก บอกว่าแกล้งเขา กระบวนการยุติธรรมอยู่ใต้คณะปฏิรูปการปกครอง ยึดอำนาจมาแล้วมาแกล้งเขา แล้วศาลก็สองมาตรฐาน ประการที่ 3 ที่เขาจะได้รับอภัยโทษ หลักเกณฑ์ 1.ยอมรับว่าผิด 2.สำนึกผิด 3.ต้องขอโทษ การขอโทษแปลว่า ประกาศบุคคลทั่วไป คุณเติมศักดิ์ครับผมขอโทษนะครับ หรือว่าคนเข้าโบสถ์ ไปหาบาทหลวง หลวงพ่อลูกมาขอสารภาพบาป ลูกได้กระทำความผิด ลูกสำนึกผิดแล้ว ลูกขอโทษลูกจะไม่ทำอีก ประกาศเป็นสัจจวาจาว่าต่อไปนี้ฉันจะไม่ทำอย่างนี้อีก จึงจะอยู่ในเงื่อนไขที่จะพระราชทานอภัยโทษได้

กัลยาณี- ในขณะเดียวกัน สิ่งที่คุณทักษิณทำไม่มีการปฏิบัติตามคำพิพากษา ในเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ผิด แล้วยังไม่เปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ไม่มีศาลไหนมาบอกว่า คุณไม่ต้องรับโทษ เพราะฉะนั้นเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุด คุณก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ไม่อย่างนั้นแล้วจะถือว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้กำลังแทรกแซงอำนาจศาลหรือเปล่า

สุวัตร- ไม่ใช่แทรกแซงอำนาจศาล ทำลายอำนาจศาลเลย ศาลในพระปรมาภิไธย แล้วออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ในหลวงก็ต้องเซ็น ทำลายกันไหม อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ

กัลยาณี- ถ้าอย่างนั้น ศาลพิพากษาลูกหนี้ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเราขอให้คณะรัฐมนตรีท่านออกอะไรมาใหม่ไหม เราไม่ต้องใช้หนี้กันหมดเลย แล้ววันนี้ลูกหนี้ถูกฟ้องขับไล่ กู้เงินแล้วไม่มีที่ไป ถูกยึดบ้าน ไม่มีที่จะไปไปอยู่วัดก็ไม่ได้ ศาลยังจับติดคุกเลย แค่กู้เงินยังต้องนอนคุกเพราะศาลพิพากษา แล้วอย่างนี้ ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วท่านไม่ทำตามคำพิพากษาสักหน่อยหรือ เพราะฉะนั้นคณะรัฐมนตรีน่าจะแทรกแซงอำนาจศาลอยู่นะคะตอนนี้ ผิดไหม

สุวัตร- คณะรัฐมนตรีไม่ได้แทรกแซงอำนาจศาล คณะรัฐมนตรีกระทำความผิดทางอาญา คือช่วยผู้หนี้คดีไม่ต้องให้ถูกจับ และออกกฎหมายเพื่อช่วยคนหนีคดีโดยมีเจตนาทุจริต แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับคุณทักษิณ คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขัดเกือบทุกมาตรา คือออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 และมาตรา 157 ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ฝ่ายบริหารทำตามหลักนิติธรรมไหม ตัดสินแล้วไม่ต้องลงโทษ ตัดสินแล้วหนีไปได้ แล้วออกกฎหมายให้ คุณจะเอาหลักนิติธรรมตรงไหนมา นิติธรรมหมายความว่า มันเป็นธรรมตามกฎหมาย คนผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ให้โอกาสสู้เต็มที่แล้ว คุณสู้คดีแล้วบอกว่า ไม่ถูก ตัดสินไม่เข้าข้าง ไม่ได้ประโยชน์ แล้วบอกว่า ไม่ถูก ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

เพราะฉะนั้นคณะรัฐมนตรีผิดรัฐธรรมนูญ เมื่อผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ตัดสินตามหลักนิติธรรม ผิดมาตรา 7 บอกว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย คืออะไร แปลว่า นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เช็กแอนด์บาลานซ์ นี่คุณใช้อำนาจบริหารเข้าไปยกเลิกโทษที่ตุลาการลงโทษไว้ มันผิดเยอะแยะ ผมบอกว่าผิดรัฐธรรมนูญ นอกจากผิดมาตรา 3 มาตรา 7 มาตรา 29 วรรคสองประกอบวรรคสาม เขาบอกว่ากฎหมายที่จะออกบังคับใช้ต้องประกาศโดยทั่วไป และไม่มุ่งให้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการเจาะจง กฎหมายฉบับนี้ออกเพื่อใคร เห็นไหมผิดชัดๆ ผิดรัฐธรรมนูญ อ้าง 26,000 แล้วที่อยู่นอกคุกอีกตั้งเยอะ 26,000 แก่เท่านายทักษิณมีกี่คน ถึง 500 ไหม อย่ามาโม้บอก 26,000 ไม่ใช่เข้าเงื่อนไขคุณนะ 60 ปี โทษจำคุกเหลือไม่ถึง 3 ปีมีกี่คน

เติมศักดิ์- อย่างนั้นเขารับโทษแล้ว

สุวัตร- รับโทษอยู่แล้ว เขาประพฤติตนดี อยู่ในคุกอุตส่าห์ทำชั้น ตั้งแต่นักโทษชั้นกลาง เป็นดีมาก ดีเยี่ยม กว่าจะได้รับโทษเท่านี้ๆ นายทักษิณตัดสินแล้วหนีเลย ไม่รับโทษเลย แล้วได้รับสิทธิ์เท่ารับโทษดีเยี่ยม หลักความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

เติมศักดิ์- ที่เขาแถลง ตกลงยึดหลักเกณฑ์ปี 53 พ้นผิดไหมครับ

สุวัตร- ไม่พ้นถ้ายึดตามปี 53 คือโทษทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ปล่อยเลยไม่ได้

เติมศักดิ์- รัฐบาลออกมาแถลงยึดปี 53 ตกลงเขาพ้นผิด พยายามออกกฎหมายช่วยคนๆ เดียว

สุวัตร- มันผิดตั้งแต่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ย.แล้ว ความผิดสำเร็จแล้ว ขโมยไปแล้ว ดำเนินการไปแล้ว

เติมศักดิ์- ถูกจับได้เอาเงินคืนเจ้าทรัพย์

สุวัตร- ก็ความผิดสำเร็จ ส่วนจะลงโทษขนาดไหนเป็นอีกเรื่อง นอกจากนั้นยังผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 อีก เพราะการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องส่งเสริม ดำเนินการเป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประเทศชาติเป็นสำคัญ

คุณออกกฎหมายเพื่อให้คุณทักษิณพ้นผิดอยู่คนเดียว ชาวบ้านลุกขึ้นมาตีกันเพื่อผลประโยชน์ชาติไหม ชาติวุ่นวาย น้ำท่วม กำลังแหวกว่ายอยู่ในกระแสธารา คุณออกกฎหมายซ้ำเติมอย่างนี้ก็ผิด ผิดมาตรา 81 ว่ารัฐต้องดำเนินตามแนวนโยบายของรัฐและความยุติธรรม ต้องบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็ว เป็นกระบวนการยุติธรรม คือทำลายกระบวนการยุติธรรม ผิดมาตรา 178 ผิดเยอะแยะไปหมด นี่ว่าเป็นน้ำจิ้ม ซึ่งจริงๆ ผมเตรียมร่างไว้ทั้งหมด

เติมศักดิ์- แม้มาแถลงยึดปี 53 เหมือนเดิม ก็ความผิดสำเร็จไปแล้ว

สุวัตร- คำพิพากษาศาลฎีกามีเยอะแยะไปว่า ตอนนั้นคดีตามใจ ขำภโต หาว่า คุณตามใจอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทหนึ่งแล้วกิจการธนาคารกรุงไทยเจ๊ง ต่อมาปรากฎทางนำสืบ บริษัทนั้นคืนเงินหมดเลยที่อนุมัติสินเชื่อไป คืนทุกบาททุกสตางค์ คืนแม้กระทั่งดอกเบี้ย ศาลฎีกาตัดสินว่าความผิดสำเร็จตั้งแต่ชั้นต้นแล้ว พิพากษาจำคุก ต่อมาคุณตามใจ ยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก็ทรงอภัยโทษให้ ติดคุกอยู่ไม่กี่เดือน คุณทักษิณทำไมไม่ทำตามคุณปุระชัยว่าล่ะ เป็นตำรวจ ชายชาติตำรวจ ตำรวจของไทย ก็อย่างสุภาพบุรุษซิ มาเข้าคุก แล้วจะยื่นทูลเกล้าถวายฎีกา พันธมิตรฯ จะไปทำอะไรได้

เติมศักดิ์- สุดท้ายคุณกัลยาณีอยากจะฝากอะไร เชิญครับ

กัลยาณี- เรายังลากไปไม่ถึงเรื่องน้ำท่วม จริงๆ เรื่องของการปล่อยน้ำ มันหมายถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการปลูกข้าว การเกี่ยวข้าว จะเกี่ยวเร็วเกี่ยวช้า ปัญหาคือลากโยงไปว่า ที่ดินเหล่านั้นไปอยู่ในมือของใครกลุ่มหนึ่งได้อย่างไร ด้วยวิธีการอะไร มันก็คือเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ดินรัชดาทั้งสิ้น มันคือเรื่องเดียวกันทั้งหมด

สุวัตร- เอาชัดๆ อย่างนี้ น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่แอคออฟกอด ไม่ใช่การกระทำของพระเจ้า แต่เป็นฮิวแมนแอคติง คือการกระทำของคนไร้เดียงสาที่ปล่อยให้น้ำท่วม แล้วตรงนี้ ในหลวงพูดแล้วนะครับว่า ที่ดินฟลัดเวย์ของท่าน 5 หมื่นไร่ สมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่มเป็น 6 หมื่นไร่ สมัยรัชกาลที่ 6 บัดนี้เหลือ 3 พันไร่ ให้ไปตามมาซิว่า ที่ดินแปลงนั้นอยู่ตรงไหน ผมบอกได้เลยว่า ต่อไปใครมีอำนาจรัฐ ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใครจะถือครองกี่ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์นะ ไม่อย่างนั้นผมให้คุณสนธิยึดท้องสนามหลวงไปนานแล้ว เพราะเราไปใช้กันบ่อย

เติมศักดิ์- ถึงได้บอกว่าที่ดินรัชดาเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง การที่ที่ดินไปอยู่ในมือผู้มีอิทธิพล นักการเมือง เอสซี แอสเซท, ประไหมสุหรี พวกนี้มันเป็นส่วนหนึ่งด้วย

กัลยาณี- ไปได้อย่างไร ใช่ค่ะ มันเป็นหลักใหญ่ของการประเมินราคาที่ดินด้วยนโยบายเชิงทุจริต เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนั้น เพียงตัวอย่างเดียว อย่างว่า คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต เพราะสิ่งที่คุณทำมาเลยถูกจับได้

สุวัตร- คุณคิดว่าคุณฉลาดแต่คุณไม่เฉลียว

เติมศักดิ์- วันนี้ขอบคุณมากครับทั้ง 2 ท่าน คนเคาะข่าววันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น