สถานการณ์อุทกภัยยังคงตึงตัวอยู่กับสังคมไทย โดยเฉพาะคนเมืองหลวง เหตุการณ์เกิดขึ้นนานหลายเดือนแล้ว และวันนี้ประชาชนยังคงต้องทนทุกข์อยู่กับมัน
หลายคน หลายฝ่ายเริ่มปรับสภาพ คุ้นชินกับสถานการณ์ที่เผชิญหน้าอยู่ พร้อมทำใจทนอยู่กับมันอีกระยะหนึ่ง ด้วยคิดว่ามันจะผ่านพ้นไปไม่วันใดก็วันหนึึ่ง
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์ บนหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ เกิดขึ้นซ้ำๆ เดิมๆ จนชินตา ชินหู กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความรู้สึกเริ่มชาชินทีละเล็กละน้อย
สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น น้ำท่วมไม่ลุกลามแผ่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ไม่มีภาพเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกตกใจเหมือนที่ผ่านมาๆ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าวิกฤติการณ์นี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี
หลังจากที่รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ แนวบิ๊กแบ๊กที่กั้นกรุงเทพฯด้านเหนือได้ผลชะงัด พร้อมประสานงานกับกทม.เร่งระบายสูบน้ำ จนหลายพื้นที่น้ำลดลง บางพื้นที่แห้งสนิท และบางที่มั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมแล้ว จึงทำให้รัฐบาลใจชื้นขึ้น ตั้งสติแก้ปัญหาได้ดีกว่าที่เก่า
สถานการณ์ของรัฐบาลเริ่มหายใจหายคอได้คล่องขึ้นหลังที่อึดอัดหาทางออกไม่ได้มานาน สามารถควบคุมมวลน้ำให้ทรงตัวได้ อารมณ์คุกรุ่นขุ่นมัวของประชาชนจึงเริ่มคลี่คลายลงตามไปด้วย จากเสียงก่นด่า ก็กลายเป็นเสียงเงียบ
คะแนนนิยมที่หล่นวูบไปเริ่มทรงตัว ความเชื่อมั่นที่หดหายไปเริ่มพลิกฟื้นขึ้นมาได้บ้าง รัฐบาลและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจึงออกเดินสายสร้างภาพเรียกแต้มคืนกลับมา แต่ความเคลื่อนไหวในสถานการณ์เหล่านี้ย่อมหนีไม่พ้นสายตาของฝ่ายค้าน ที่จับกระแสสังคมได้เช่นเดียวกัน
เมื่อรัฐบาลกำลังจะใช้โอกาสนี้โงหัวขึ้นมาโผล่พ้นน้ำ ฝ่ายค้าน โดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรู้ทิศทางลมดี ย่อมไม่อาจปล่อยให้ความได้เปรีบบทางการเมืองผ่านพ้นไปด้วยการวางเฉย หลังนั่งบนภูดูรัฐบาลทุรนทุรายว่ายหนีน้ำมาช่วงหนึ่ง เมื่อเห็นว่ารัฐบาลสามารถเกาะเกี่ยวจับท่อนไม้รักษาชีวิตไว้ได้แล้ว จำต้องคิดอ่านวางแผนหาวิธีการกดหัวรัฐบาลให้จมไปกับสายน้ำให้ได้
โอกาสที่จะสั่นคลอน ถล่มรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายนั้นมีไม่มาก และไม่รู้ว่าต้องรอคอยอีกนานเท่าไหร่ จึงมีโอกาสเช่นนี้อีก ข่าวคราวการทุจริต ความบกพร่องในเรื่องของบริจาค กลายเป็นปมปัญหาที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก
เป็นข้อครหานินทาฉกาจฉกรรจ์ ที่รัฐบาลปัดสวะไม่พ้นตัว
พรรคประชาธิปัตย์จึงขยายปมนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประโคมข่าวทั้งสื่อกระแสหลัก โซเชียลมีเดีย จนรัฐบาลโอนไปเอนมาจากความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม และตั้งกระบวนรับไม่ทัน
หลังจากชำแหละแผลทุจริตในเวทีงบประมาณ และเวทีอภิปรายทั่วไปเรื่องน้ำท่วม จนสร้างบาดแผลให้รัฐบาล และทำให้สังคมตั้งคำถามแล้ว ก็เดินเกมตีเหล็กร้อนต่อเนื่องเรื่อยมา ในที่สุดก็ทำการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พุ่งเป้าไปที่เรื่องการทุจริตถุุงยังชีพ
ฟาดไปที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประบสบอุทกภัย (ศปภ.) เพียงผู้เดียว
ล็อกปม ขยายแผลสด ทันทีทันควัน แม้ก่อนหน้านี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน จะเล่นบทพระเอก บอกว่าจะไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจซ้ำเติม สร้างภาระให้รัฐบาล ในตอนนี้ แต่เมื่อลูกเข้าตีน มีหรือจะเขี่ยทิ้งไปเฉยๆที่เข้าทางกว่านั้น ก็เมื่อรัฐบาลแอบเดินเกมตามน้ำ อาศัยลูกชุลมุน สอดไส้ พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษในปีมหามงคล วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนักโทษหนีคดีทุจริต อย่างยากที่จะปฏิเสธ
เป็นปมเงื่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จับจ้องไว้อยู่นานแล้ว และไม่มีทางปล่อยให้ทำได้อย่างสะดวกโยธิน จะต้องเดินเกมคัดค้านเข้มข้นอย่างแน่นอน
ซึ่งก็ประจวบเหมาะเข้าล็อกว่า การเดินเกมเสี่ยงๆ นี้มันเกี่ยวพันไปถึง รมว.ยุติธรรม ที่เป็นตัวเดินเกมหลักโดยบังเอิญ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถปล่อยให้เกมดำเนินไปตามใจรัฐบาล จัดหนักจัดเต็มใส่รัฐบาล แม้จะบริหารประเทศมาเพียงไม่กี่เดือนก็ตาม
รัฐบาลเองได้ทำการประเมินแล้วว่า คงไม่มีช่วงเวลาเหมาะที่สุดที่จะทำเรื่องเสี่ยงๆ นี้ เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้นก็จะถึงโอกาสมหามงคล โดยอ้างธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนเช่นที่ผ่านมาๆ แต่เป้าหมายหลักนั่นคือการเดินเกมเพื่อช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่ที่ยังหลบหนีคดี
พรรคประชาธิปัตย์จะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจชำแหละประเด็นนี้อย่างหนัก ตีเหล็กที่กำลังร้อน ขยายปมให้สังคมเห็นเล่ห์กลของรัฐบาล ฉวยจังหวะความเดือดร้อนประชาชน สร้างโอกาสให้นายใหญ่ของตัวเอง
การเดินเกมนี้รัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าเสี่ยงตกเป็นเป้าโจมตีของสังคม แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคประชาธิปัตย์จะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถล่มรัฐบาลจนสังคมคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหน
ก่อนที่จะมีการอภิปรายในช่วงปลายเดือนนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มเปิดเกมโหมโรงต่อเนื่อง ด้วยการส่งรองโฆษกออกมายื่นหนังสือคัดค้าน พร้อมปลุกกระแสในโซเชียลมีเดียอย่างหนัก เป็นออเดิฟ ก่อนเสริฟชุดใหญ่ในเวทีซักฟอก
เช่นเดียวกับการซักฟอกปมทุจริตถุงยังชีพ ได้ลากส.ส.อีก 6 คนเข้ามาเกี่ยวพันว่ากระทำผิดเข้าไปรับตำแหน่งทางราชการ ยื่นถอดถอนพ่วงไปกับพล.ต.อ.ประชา จากนี้ไปจนถึงวันอภิปรายก็จะมีการเดินเกมอุ่นไฟให้ร้อนบนหน้าสื่อ เป็นระยะ และรอวันเผาสดในสภา
น่าสนใจว่ายุทธศาสตร์เดินเกมเร็ว ตีเหล็กร้อนของพรรคประชาธิปัตย์จะได้ผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ปมทุจริตถุงยังชีพ ปมสวมรอยแอบอ้างของบริจาคของบรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทย ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจขอเปิดซักฟอกในสมัยประชุมนี้ มั่นใจว่าจะทำให้ถุงยังชีพเป็นถุงปลิดชีพรัฐบาลได้ เพราะคนชงข้อมูลให้ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่มือธรรมดา แต่ส่วนหนึ่งมาจากสองพี่น้องตระกูลชิดชอบ “เนวิน-ศักดิ์สยาม”นั่นเอง
ถ้ารัฐบาลไม่สะดุดขาตัวเอง คงไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ฝ่ายค้านนำไปชำแหละ หากพรรคประชาธิปัตย์สามารถใช้เวทีซักฟอกพูดจาให้สังคมเห็นความล้มเหลวผิดพลาดจากการแก้ปัญหาอุทกภัยของรัฐบาลได้อย่างโป๊ะเช๊ะแล้ว แน่นอนว่ากระแสไม่เอารัฐบาลย่อมกลายเป็นคลื่นใหญ่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะ “เอาไม่อยู่”แน่นอน
สิ่งที่รัฐบาลคิดวางแผนหลบหลีกยืดอายุออกไปด้วยการปรับครม. อาจมาเร็วกว่าที่คาด และอาจจะมีรัฐมนตรีชื่อ "ประชา พรหมนอก" ต้องตกเป็นแพะเซ่นสังเวยบูชายัญให้ความผิดพลาดของรัฐบาล เพิ่มไปอีกคน!