xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” โบ้ยออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษแม้ว ไม่เกี่ยวสภา อ้างเห็นใจนักโทษนับหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ จรรย์โกมล
ปธ.สภา เชื่อ รบ.ไม่เลื่อนศึกซักฟอก 27 พ.ย.นี้ เหตุอภิปราย รมต.คนเดียว ไม่หนักใจทำหน้าที่ตามข้อบังคับ ดักคอ ส.ส.ดื้อ ปชช.จะเป็นผู้ตัดสิน ด้าน “เจริญ” หวังผู้แทนฯประชุมพร้อมเพรียงแม้เป็นวันอาทิตย์ ส.ว.ล่าชื่อค้านอภัยโทษฯ “ทักษิณ” ชี้ พ.ร.ฎ.ไม่เกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องของรัฐบาล วอนกลุ่มค้านเห็นใจนักโทษอีก 2.6 หมื่นคนด้วย

วันนี้ (20 พ.ย.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจากฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยกำหนดวันอภิปรายไว้ในหนังสือคือวันที่ 27 พ.ย.ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะพร้อมหรือไม่ ถ้าพร้อมก็คงยืนยันตามนี้ แต่หากรัฐบาลแจ้งว่าไม่พร้อมก็อาจต้องเลื่อนเวลาออกไป ทั้งหากต้องเลื่อนไป และอาจไม่ทันสมัยประชุมนี้ รัฐบาลก็สามารถตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อขอขยายเวลาสมัยประชุมออกไปได้ ซึ่งอาจจะอาจยุ่งยาก ดังนั้น คิดว่า รัฐบาลคงไม่ยืดเวลา เพราะดูประเด็นแล้วไม่เห็นมีอะไรมาก และเป็นการอภิปรายรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางฝ่ายค้านระบุว่า การอภิปรายเพียงวันเดียวเป็นการตัดโอกาสที่จะนำเสนอข้อมูล นายสมศํกดิ์กล่าวว่า ในวันที่รับญัตติจากฝ่ายค้าน ตนก็แจ้งไปว่าใช้เวลา 1 วันก็น่าจะเพียงพอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คนอื่นก็ไม่เห็นโต้แย้งอะไร

“ที่ผ่านมา การยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลทั้งคณะ หรือรัฐมนตรี 7-8 คน ก็ไช้เวลา 2-3 วัน คราวนี้รัฐมนตรีแค่คนเดียวหนึ่งวันหนึ่งคืนยังไม่พออีกหรือ ส่วนตัวไม่หนักใจกับการทำหน้าที่ ยืนยันว่าจะยึดตามข้อบังคับ พวกที่อาศัยความดื้อจะเอาให้ได้ตามใจตัว ไม่ได้ดั่งใจก็โห่ ตรงนั้นคนดูทางบ้านจะเป็นคนตัดสินเอง ทุกอย่างอยู่ที่ข้อเท็จจริงอยู่ที่เหตุผล” นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เปิดเผยในเรื่องเดียวกันว่า ขณะนี้ทางสภาได้ประสานเพื่อแจ้งไปยัง พล.ต.อ.ประชาแล้ว โดยเบื้องต้นได้กำหนดให้มีการประชุมญัตติดังกล่าวในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ซึ่งแม้จะเป็นวันอาทิตย์ และไม่ใช่วันที่ประชุมตามปกติ ก็คาดว่า ส.ส.จะเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เนื่องจากช่วงเลือกตั้งต่างก็ระบุว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นการเข้าประชุมถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ

สำหรับกรณีที่มีกลุ่ม ส.ว.เตรียมล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ว่า ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ในความเห็นส่วนตัว การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯถือเป็นหน้าที่และเป็นอำนาจของรัฐบาล ซึ่งออกตามปกติ และเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด ส่วนที่ยังเป็นข้อถกเถียงเรื่องสาระบางประการ และอาจจะเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งของมวลชนสองฝ่าย หากรัฐบาลพิจารณาและเล็งเห็นถึงความสำคัญก็ควรจะทบทวน เพื่อป้องกันไม่ให้มวลชนออกมาปะทะกันได้ สำหรับผู้ที่ออกมาคัดค้าน เพราะมองเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นกลุ่มที่ยังคงมีความคิดที่ไม่พ้น หรือวนเวียนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการชุมนุมได้ แต่ประเด็นหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ นักโทษ 2.6 หมื่นคนที่จะได้รับอานิสงส์ ผู้คัดค้านก็ควรจะหยิบมาพิจารณาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น