รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณไทยพร้อมถก “จีบีซี” หาข้อยุติปมขัดแย้งไทย-เขมร เผยพร้อมถอนทหารส่ง ตชด.400 คนไปอยู่แทน ตั้งเงื่อนไข 3 ชาติร่วมสังเกตการณ์ต้องเป็นพลเรือน เสนอตรวจ 3 จุด “ประตูเหล็ก-วัดแก้ว-บันไดหัก” เตรียมส่งคนไทยเข้าวัดแก้วฯ เท่าเขมร หากเชิญพ้นวัดแก้วฯ ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงการส่งเอกสารข้อสังเกต กรณีความขัดแย้งชายแดนไทยกัมพูชาให้ศาลโลก ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ทำเอกสารเรียบร้อยแล้ว ตนได้เรียน รมว.ต่างประเทศ ขอให้นำรายงานการประชุมคณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ไป ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้กรอบในการเจรจาจีบีซีแล้ว และตนให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ประสานกับ พล.อ.เตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา ว่าไทยพร้อมพูดคุยและเจรจา โดยเราจะนำกรอบการเจรจาที่เราได้จากการประชุมเมื่อวานนี้ไปประชุมหารือกับ ทางกัมพูชา เพื่อให้ได้ข้อยุติในแต่ละข้อ ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทั้ง 5 ข้อ
“การปรับกำลัง การปฏิบัติต่อผู้สังเกตการณ์ การจัดจุดตรวจ การดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ยูเนสโก้ และการดำเนินการกับประชาชนในวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ เมื่อได้ข้อยุติออกมา จะเสนอรัฐสภาอีกครั้ง เราได้มีการพูดคุยถึงการปรับกำลังทหารในเขตปลอดทหาร 17.3 ตารางกิโลเมตรว่าจะให้เหลือเท่าไหร่ เพียงแต่ยังไม่ได้ตกลงกันเพราะในขณะนี้ทหารไทยที่อยู่ในพื้นที่ 700 กว่าคน ทางกัมพูชาพันกว่าคน ซึ่งกัมพูชาต้องถอนออกพันกว่าคน ทางไทยต้องปรับออก700 คน และต้องจัดกำลังตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และตำรวจภูธรเข้าไปฝั่งละ 400 กว่าคน เข้าไปดูแลพื้นที่ปลอดทหารตรงนั้น” รมว.กลาโหม กล่าว
พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ส่วนผู้สังเกตการณ์เราคุยกันว่า ต้องมี 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ชาติละ 9 คน โดยเขาจะต้องเป็นพลเรือน แต่งเครื่องแบบทหารไม่ได้ เพื่อแสดงอธิปไตยของชาติ ซึ่งจะไม่ได้ดูเรื่องถอนทหารเท่านั้น แต่ต้องดูว่า จุดตรวจทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเราเสนอจุดตรวจไป 3 จุด ที่ประตูเหล็ก ทางขึ้นวัดแก้วฯ เขาช่องบันไดหัก และจะจัดการอย่างไรกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในวัดแก้วฯ ให้ออกไป ถ้าไม่ออก ก็จะไม่ให้เข้าไปอยู่เพิ่ม และเราจะให้คนไทยเข้าไปอยู่เท่าๆ กับกัมพูชา ซึ่งทางกัมพูชายอมให้คนไทยเข้าไปอยู่ได้ ส่วนการสร้างถนนเพิ่มเติมนั้นเป็นการสร้างในพื้นที่เขาไม่ได้สร้างในพื้นที่พิพาท โดยทั้ง 5 ข้อนี้เราคุยส่วนตัวว่าจะผ่าน เหลือแต่เพียงรายละเอียดที่เราจะคุยเพิ่มเติม โดยการประชุมจีบีซีคงจะจัดให้เร็วที่สุด หากกัมพูชาแจ้งความพร้อมมา ถ้าไม่ทันเดือนนี้ก็เป็นเดือนหน้า แต่จะพยายามภายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลยังยึดกรอบของเอ็มโอยู 43 อยู่