รองนายกฯ เงา ปชป.ข้องใจ “กิตติรัตน์” โกหกคำโตกลางเวทีเอเปก อ้างน้ำท่วม ไม่ใช่ความผิดของภัยธรรมชาติ จี้พิสูจน์ตัวเองพร้อม ถามหาเหตุผลอะไรไปส่งสัญญาณว่า “ไทย” กำลังจะกลับสู่ภาวะปกติของการลงทุน
วันนี้ (16 พ.ย.) นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกรัฐมนตรีเงา กล่าวถึงกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลแต่เป็นภัยธรรมชาติว่า การที่นายกิตติรัตน์จะบอกว่าทั้งหมด คือ ภัยธรรมชาติก็จะมีปัญหาตามมาว่าแล้วปีหน้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบพอสมควร และท่าทีของรัฐบาลมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจของกลุ่มประกันภัยที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยด้วย อาทิ การชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย
“ถ้าสถิติมันฟ้องอย่างนี้แล้วจะปฏิเสธทั้งหมดว่าไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่า สัญญาณมีมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมแล้วว่าปีนี้จะมีมรสุมแล้วมีน้ำจำนวนมาก ดังนั้น การบริหารจัดการการปล่อยและระบายน้ำในแต่ละช่วงของแต่ละกลุ่มจังหวัดก็จะเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะต้องมีการพิสูจน์ตัวเอง” นายเกียรติกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่นายกิตติรัตน์ส่งสัญญาณในที่ประชุม เพื่อสะท้อนไปถึงชาวโลกว่าประเทศไทยกำลังจะกลับไปสู่ภาวะปกติของการลงทุน ทั้งที่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเพราะหลายจังหวัดน้ำก็ยังไม่ลด นายเกียรติกล่าวว่า ต้องไปถามว่าพูดด้วยเหตุผลอะไร เพราะการประเมินสถานะทางเศรษฐกิจปีหน้าของทุกสำนักอยู่ที่ 5% ก่อนที่จะมีวิกฤตการณ์ แต่หลังจากน้ำท่วมไปแล้วมีความเสียหายสูงมาก พอสูงมากก็ขึ้นอยู่กับว่าใน 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในการที่จะเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกัน ถ้าเยียวยาไม่ดีไม่ทั่วถึง ไม่สอดคล้องกับความเสียหายก็จะเป็นปัญหาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าการฟื้นฟูทำไม่ดี ภาคธุรกิจก็จะเดินต่อไม่ได้ และถ้าป้องกันไม่ได้โดยที่เหตุการณเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกก็จะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องชี้แจงประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวรัฐบาลสั่งบางหน่วยงานให้นำเสนอข่าวว่าการฟื้นฟูจะใช้เวลาเร็วกว่าข้อเท็จจริง เช่น ระยะเวลา 1 ปี ก็ให้ระบุว่าเป็น 6 เดือนแทน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นตรงจุดนี้ นายเกียรติกล่าวว่า ระยะเวลาขึ้นอยู่กับมาตรการและเม็ดเงินว่ามาตรการตรงกับปัญหาหรือไม่และสร้างความมั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก และการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ มีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและได้ผลหรือไม่ ก็ต้องคอยดูพอสมควรเพราะจนถึงวันนี้ก็เห็นชัดเจนว่าที่ผ่านมาหลายเดือนแล้วแต่รัฐบาลยังไม่ได้เสนอมาตรการที่ชัดเจนในภาพรวม อาจจะมีมาตรการเยียวยาบ้างบางกลุ่ม บางเรื่อง ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้น