xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอถึง "โกร่ง กกน" แก้ปัญหาต้องไม่มีอีโก้ ใช้ความคิดมากกว่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามางกูร
เสร็จสิ้นไปแล้วกับการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อขอความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่รัฐบาลกำลังเผชิญหน้าอยู่ หลังจากที่เดินหน้าทู่ซี้ยื้อจัดการปัญหาด้วยลำพังตัวเองมาระยะหนึ่ง แต่ยังไม่พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์​

ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ว. ได้สาดความคิด เสนอความเห็นให้รัฐบาลรับฟัง ซึี่งก็ยังไม่รู้แน่ว่าจะนำไปปฏิบัติให้เป็นมรรคเป็นผล หรือเป็นเพียงแค่พิธีกรรมตามธรรมเนียม

แล้วเอาหูทวนลม เข้าหูซ้่ายทะลุหูขวาให้พ้นๆ ไปแค่นั้น

หลายความคิด หลายมุมมอง ที่สะท้อนผ่านเวทีรัฐสภา ล้วนเป็นประโยชน์ และน่าสนใจ ไม่ต้องไปนับเนื้อหาที่จ้องโจมตี จ้องถล่มให้รัฐบาลพัังพาบไปแบบไร้สามัญสำนึก

ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะรับฟังแล้วแอบนำมาปรับปรุงแก้ไขมากน้อยแค่ไหน ไอ้เรื่องที่เอามาปฏิบัติกันโต้งๆ ทำตามแบบเป๊ะๆ เป็นไปไม่ได้หรอก มันเสียเชิงเกินไป เดี๋ยวถู​กครหาว่า “ไร้กึ๋น!”

ความเห็นที่เป็นประโยชน์นั้นมีแน่ ไม่เพียงเฉพาะจากนักการเมืองเท่านั้น นักวิชาการ นักคิด ผู้เชี่ยวชาญ ก็ได้นำเสนอให้รัฐบาลรับฟังอยู่เนืองๆ ด้วยเพราะสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองแผ่นดินเกิด ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด

รัฐบาลควรใช้มันสมองไตร่ตรอง แล้วรับฟังดูสักนิดเถิด เลิกคิดในมุมมองการเมืองตามที่ปากพร่ำบอก แต่ใจยังขัดขืนดื้อดึงเสียที

ลองมองว่า วิกฤติการณ์ครั้งนี้มีคนอยากช่วยเหลือมากกว่าซ้ำเติม ถ้าทำได้แล้วมันคงพบเสียทีกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ท่ามกลางวิกฤติได้มีนักคิดนักค้นคว้าระดับอาจารย์เสนอความเห็นที่ใช้เวลาวิจัยบ่มเพาะมานาน แบบไม่สงวนลิขสิทธิ์ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องหันมาทวนบริหารจัดการน้ำแบบจริงจังในทุกมิติ

รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยว่าได้ทำการศึกษามาตั้งแต่ปี 2538 จนเสร็จสิ้นเมื่อปี 2542 พร้อมนำมาปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีทั้งสิ้น 11 มาตรการ อาทิ การทำซูเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ การเวนคืนที่ดิน 2 ฟากฝั่งคลอง ทำถนนยกสูงเป็นมอเตอร์เวย์เป็นคันกั้นน้ำ ซึ่งมาตรการ 11 ข้อดังกล่าวจะครอบคลุมไปในทุกมิติทั้งโครงสร้าง การระบายน้ำ เรื่องภาษี เรื่องกฎหมาย ตลอดถึงการทำผังเมือง

"ธนวัฒน์" บอกว่านี่คือมาตรการสร้างประเทศไทยใหม่ หรือ "นิวไทยแลนด์" ที่ทำไว้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2542 ไม่ต้องขวนขวาย หา "โนฮาว" จากต่างประเทศที่ไหน คนไทยทำไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเปิดเผยรายละเอียดในสัปดาห์หน้า

น่าสนใจ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งสำหรับผลงานการวิจัยที่ใช้เวลาคิดค้นมา 4 ปี รัฐบาลและผู้มีอำนาจควรเหลียวหลังมารับฟังด้วยความตั้งใจ ก่อนที่จะมองหาตัวช่วยอื่นๆ

วันนี้แนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยของรัฐบาล ดูเหมือนจะมองไกล มองข้ามสิ่งที่อยู่รอบตัว การตั้งคณะกรรมการ กยอ. และ กยน. โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ มีขุนพลระดับซือแป๋มาเรียกความเชื่อมั่นเชื่อถือให้กลับคืนมา ก็นับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

แต่การที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา มองแล้วเป็น “พวกกกน.” ทั้งนั้น เช่น นาย "วีรพงษ์ รามางกูร" หรือ "โกร่ง กางเกง(ใน)แดง"ผู้่คร่ำหวอดอยู่กับเศรษบกิจ ตัวเลขเงินๆ ทองๆ พุ่งเป้ามองไปในเชิงธุรกิจ ใช้เงินแลกเงิน ใช้เงินนำหน้าฟื้นฟู นำหน้าความเชื่อมั่น ตามทีั่ตัวเองถนัด บางทีอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง

เป็นการแก้ปัญหาแบบคนรวย โดยไม่สำเหนียกว่า ชั่วโมงนี้ประเทศไทยต้องใช้เงินไม่รู้ตั้งเท่าไหร่เพื่อมากอบกู้ฟื้นฟูกิจการภายในประเทศหลังน้ำลด ชาวบ้านหมดเนื้อหมดตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ใช่นำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย จ้างต่างชาติ จ้างผู้เชี่ยวชาญจากเมืองนอกเข้ามาสร้างภาพช่วยแก้ไขปัญหาระยะยาว จะไปเอาเงินจากไหน!

ความจริงของดีในประเทศนั้นมีอยู่แล้ว ไม่ต้องอื่นไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของเรา พระองค์ท่านทรงวางแนวทางไว้ดีอยู่แล้ว ฝ่ายการเมืองเองต่างหากที่ไม่น้อมนำมาปฏิบัติ คิดแต่เล่นการเมือง คิดแต่เล่นแร่แปรธาตุกับงบประมาณ จนทำให้การต่างๆ ล่าช้า ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์

และความคิดความเห็นของนักวิชาการอย่างอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จั่วหัวออกมา เดี๋ยวก็จะได้รู้กันแล้วว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้นก็เป็นความคิดที่น่าสนใจทำตามอย่างจริงจัง

มีแนวทางอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณชาติให้เปลืองโดยใช่เหตุ ไม่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับคนต่างชาติก่อนคนไทย ใครเลยจะรู้ภูมิศาสตร์ รู้ปัญหาเท่ากับคนไทยที่เกิดบนผืนแผ่นดินนี้

แนวทางที่ “นายโกร่ง”กร่างออกมาร่างโรดแม็ปเอาไว้ก็ยังไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร มันอาจเป็นเพียงการสรุปแผนเฉยๆ ว่าจะทำอะไร โดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยก็ได้

วันนี้บ้านเมืองวิกฤติอยู่แล้่ว เรื่องการนำงบประมาณมาชดเชย ฟื้นฟู เป็นเรื่องใหญ่นับจากนี้ หากใช้จ่ายอย่างไม่รอบคอบรัดกุม มันจะสร้างภาระ สร้างหนี้สินให้ประเทศชาติอีกเท่าไหร่

ทุกคนทุกฝ่ายโกลาหล อลหม่าน โดยเฉพาะภาครัฐที่ดูร้อนรนสับสน หลังจากคลำเป้าแก้ปัญหาผิดทิศผิดทางเรื่อยมา ตั้งคณะกรรมการหลายชุดเต็มไปหมด เหมือนตั้งขึ้นมาเบี่ยงกระแส ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ สติสตางค์ยังไม่ค่อยสมประดีนัก ก็อยากให้เรียกสติกลับคืนมา ทบทวนแล้วแก้ปัญหาอย่างปราศจากอคติและอีโก้

วันนี้รัฐบาลต้องทบทวน ต้องค่อยๆ นึกว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรชะลอไว้ก่อน เลิกแก้ปัญหาแบบเลือดเข้าตา สาดงบ เทกระจาด หวังเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาท่าเดียว โดยไม่มองสิ่งที่น่าสนใจรอบข้าง ใกล้เกลือกินด่างไปเสียอย่างนั้น

ปัญหาอุทกภัยที่หนักหนาสาหัสนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรคิดในหลายๆ มิติ ไม่ใช่คิดแค่การฟื้นฟูเยียวยาความเชื่อมั่นประเทศอย่างเดียว หากขาดความคิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ มันก็จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก

หากว่าปีหน้าเกิดอุทกภัยใหญ่ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก จะเกิดเป็นกลียุคแน่ๆ วันนี้เมื่อรัฐบาลมีโอกาสใช้สมองคิดอ่านแก้ไข ป้่องกัน ก็ควรใช้สติพิจารณาอย่างรอบคอบ ควรใช้ความคิดความอ่านมากกว่าใช้เงิน

เพราะความรู้ที่เที่ยงแท้อยู่ไม่ไกลเลย อยู่รอบตัวเองนี่แหละไม่ต้องไปควานหาที่ไหน อยู่ที่จะเปิดใจรับฟัง แล้วทำอย่างจริงใจหรือไม่ แค่นั้น!
กำลังโหลดความคิดเห็น