xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯ รุมยำ “ยิ่งลักษณ์-ศปภ.” ทุจริต-บริหารเละ-ไร้ภาวะผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ชำแหละถุงยังชีพพร้อมเปิดโปงอีกระแตตาเขที่หากินกับการขายข้าวสารในถุงยังชีพ
รายงานการเมือง

การประชุมรัฐสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณาปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่เช้าวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดนจวกหนักในหลายเรื่องหลายประเด็น เพราะเหตุปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสร้างความเสียหายทุกด้านอย่างมหาศาล

เป็นเรื่องปกติ พวก ส.ส.เพื่อไทยก็ใช้เวทีรัฐสภาชเลียร์เอาใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของ ส.ส.เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล หลายคนอภิปรายเอาหน้ายกก้นยิ่งลักษณ์จนเกินพอดี ชื่นชมจนเกินงาม

งานนี้ทั้งฝ่ายค้านและวุฒิฯ เตรียมพร้อมมาถล่มรัฐบาลเต็มที่ ขนาดสมาชิกวุฒิสภาหลายคนซึ่งก่อนหน้านี้มักแสดงตัวตนและท่าทีการเมืองสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อย่างนางนฤมล ศิริวัฒน์ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธ์ก็ยังสุดทน ต้องอภิปรายตำหนิความล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของยิ่งลักษณ์ รวมถึง ส.ว.อีกหลายสิบคนที่ลุกขึ้นตำหนิรัฐบาลอย่างดุดัน

เนื้อหาประเด็นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาหลายสิบคนตลอดหลายชั่วโมงของการประชุมน้ำท่วม สรุปประเด็นหลักได้เช่น

-รัฐบาลสอบตกในการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตโดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไร้ภาวะผู้นำในการตัดสินใจและวางแผน

-ผิดพลาดในการใช้คนให้เหมาะกับงาน ใช้นักการเมืองทำงานเป็นหลักแต่ขาดความเข้าใจ ความรู้ ในเรื่องน้ำ ทำให้รับมือกับปัญหาไม่ได้

-การนำของบริจาคที่ประชาชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ นำไปบริจาคให้ ศปภ.แต่นักการเมืองกลับมีการฉวยโอกาสนำของบริจาคไปแอบอ้างเป็นของตัวเองโดยใส่ชื่อเอาไว้ในของบริจาคแล้วไปแจกให้ประชาชนเพื่อหาเสียง โดยเฉพาะการนำของบริจาคไปแจกโดยใช้รถที่ติดป้าย จาก “คนแดนไกล”ทักษิณ ชินวัตร และ ส.ส.เสื้อแดง ทำให้คนเข้าใจผิดว่าทักษิณเอาของบริจาคมาให้ผู้ประสบภัย รวมถึงการนำของบริจาคก็จะแจกแบบเลือกปฏิบัติคือแจกให้กับคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากกว่าพื้นที่อื่น และการลงพื้นที่แจกสิ่งของของรัฐบาลและรัฐมนตรี ก็มักจะลงพื้นที่ในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก หากจะลงพื้นที่ของฝ่ายค้านการแจกของก็แจกไม่ทั่วถึง มีการเลือกปฏิบัติ

เช่นถุงยังชีพ หากแจกในพื้นที่เพื่อไทยก็นำถุงยังชีพราคา 800 บาทไปแจกแต่หากเป็นพื้นที่ฝ่ายค้านก็นำถุงยังชีพขนาดเล็กกว่าคือ 500 บาทไปแจก

- การทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพของสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ได้รับงบจาก ศปภ.ที่ฝายค้านแฉว่ามีคนใกล้ชิดนักการเมืองอย่าง “กระแต ตาเข”เข้าไปมีเอี่ยว โดยที่สิ่งของในถุงบริจาคของ ศปภ.รวมราคากันแล้ว ไม่น่าจะถึงตามราคาที่จัดซื้อ เช่น ถุงละ 500 บาท800 บาท จนทำให้ตอนนี้ไม่มีใครนำเงินและสิ่งของไปบริจาคให้ ศปภ.เพราะกลัวจะมีการทุจริตไม่โปร่งใส

-ความไม่มั่นใจของสมาชิกรัฐสภาต่อการจัดตั้งคณะกรรมการสองชุดล่าสุดของยิ่งลักษณ์คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ.ที่มีวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี-รมว.คลัง เป็นประธานคณะกรรมการและคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ซึ่งได้สุเมธ ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นที่ปรึกษากรรมการชุดนี้ ที่หลายคนอภิปรายว่าแม้จะเป็นเรื่องดีแต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะทำงานได้ผลสำเร็จหรือไม่ และรัฐบาลจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน

-ตำหนิระบบการแจ้งเตือนภัยประชาชนว่าทำได้ล่าช้า และข้อมูลสับสน อีกทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็ทำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

-เสนอให้มีการถกเรื่องผังเมืองและการบริหารจัดการน้ำ เป็นวาระแห่งชาติ โดยควรต้องมีกรรมการจากหลายฝ่ายร่วมด้วย เช่น ส.ว.-ฝ่ายค้าน-ภาคประชาชน ไม่ใช่มีแต่คนของรัฐบาล และข้าราชการอย่างที่รัฐบาลทำอยู่ในเวลานี้ในการตั้งคณะกรรมการหลายต่อหลายชุดซึ่งไม่เปิดพื้นที่ให้คนภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก

ทว่ารัฐบาล ก็ไม่ยอมโดนไล่ถลุงอยู่ฝ่ายเดียวมีการตอบโต้และปกป้องทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ แบบเรียงหน้าแย่งกันสร้างผลงานกันใหญ่ โดยเฉพาะพวก “เสื้อแดง”ในสภาฯ ทั้งจตุพร พรหมพันธุ์-วรชัย เหมมะ-จารุพรรณ กุลดิลก-ขัตติยา สวัสดิผล

เช่นการอ้างว่า เงินบริจาคน้ำท่วมมีคนบริจาคให้รัฐบาลชุดนี้มากกว่าน้ำท่วมสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ 10 เท่า หรือการโต้ว่าสิ่งของบริจาคที่นำไปบริจาคโดยรถขนส่งที่ติดป้ายชื่อทักษิณ ชินวัตร เป็นการบริจาคให้ทักษิณเป็นการส่วนตัวรวมถึงตัวทักษิณก็ใช้เงินส่วนตัวซื้อของนำไปบริจาคเอง พร้อมสวนกลับรัฐบาลชุดนี้ไม่มีการทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพเหมือนสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เอาปลากระป๋องเน่าไปแจกผู้ประสบภัยที่พัทลุง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้รัฐบาล-ศปภ.ก็คงต้องนำข้อคิดเห็นคำอภิปรายต่างๆ ไปปรังปรุงการทำงานให้ดีขึ้น รวมถึงต้องเคลียร์ข้อสงสัยหลายเรื่องให้จบไปด้วย

โดยเฉพาะการจัดซื้อถุงยังชีพ ที่ฝ่ายค้านสงสัยในเรื่องขั้นตอนการจัดซื้อที่พบว่ามีความรีบเร่งรวดเร็วผิดปกติ จนเรียกชื่อใหม่ว่าอาจเป็นถุงปลิดชีพ หากมีการสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดปกติในขั้นตอนการจัดซื้อ เช่น การให้เอกชนยื่นใบเสนอราคาเพื่อจัดซื้อถุงยังชีพ 1 แสนถุง มูลค่าถุงละ 800 บาท วงเงิน 80 ล้านบาท แยกเป็นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด พูนเจริญพาณิชย์ 6 หมื่นถุง และจากร้านเอื้อธนพัฒน์อีก 4 หมื่นถุง

อาจต้องมีคนที่เกี่ยวข้องโดนสอบสวนเอาผิดก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น