xs
xsm
sm
md
lg

“ปราโมทย์” ลั่นน้ำท่วมเหตุสุดวิสัย จัดการเขื่อนเป็นไปตามปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปราโมทย์” ป้องคนจัดการน้ำ ยันปล่อยจากเขื่อนเป็นปกติ มิ.ย.จำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้ แต่พอ ก.ย.ก็ล้นตลิ่งหมดแล้ว หากปล่อยเต็มที่จะเป็นการซ้ำเติม อีกทั้งปีนี้ร่องมรสุมอยู่นานทำฝนตกหนัก จนกระทั่งเขื่อนเต็มอั้น เลยต้องเร่งระบายออก ซึ่งตอนนั้นน้ำก็ท่วมอยู่ก่อนแล้ว ด้าน “ณรงค์” ข้องใจ เกิดมรสุมใน ก.ค.ไม่ทำให้คนดูแลเขื่อนฉุกคิดว่าต้องปล่อยน้ำบ้างหรือ พร้อมย้ำต้องฟ้องเพื่อช่วยคนจน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 11 พ.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายปราโมทย์กล่าวว่า ตนมีความเห็นแง่บริหารจัดการน้ำไม่สามารถบริหารน้ำมวลใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างใจ มันไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ องค์กรที่ชัดเจน ที่จะมาบริหารจัดการดูแลอุทกภัย เป็นงานฝากของกรมชลฯ ซึ่งภารกิจหลักของกรมชลฯคือมีหน้าที่จัดหาน้ำให้มีน้ำใช้ คลอง เขื่อน ที่มีอยู่ เน้นให้มีน้ำใช้ในหน้าแล้งมากกว่า ไม่มีคลองที่เน้นจัดการกับอุทกภัย จะเห็นว่าคลองเป็นแนวขวางหมด

ตั้งแต่ตนทำงานมา เวลาเกิดปัญหาน้ำท่วม มีปัญหาเรื่องการจัดการ น้ำมันต้องการทางไป แต่ไม่มีฟลัดเวย์ ไม่มีอุปกรณ์จัดการ มันก็ล้นตลิ่ง ตั้งแต่ต้น ก.ย. น้ำมารวมกองกัน จะว่าอะไรก็แล้วแต่มันผิดกันหมดตั้งแต่ต้น หรือถูกก็ถูกกันหมด เพราะมันไม่ได้เตรียมอะไรไว้ สมัยก่อนน้ำท่วมผู้คนอยู่กันได้ พอมีความเจริญมากขึ้น โรงงานไปสร้างในที่น้ำอยู่ ก็ไม่มีใครห้ามได้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบเลยในระบบที่จะบริหารจัดการอุทกภัย

“อยากพูดเรื่องราวเขื่อนภูมิพลฯ เขื่อนสิริกิติ์ ผมก็ทราบกระแสมาเหมือนกัน เขื่อนเก็บน้ำจะมีรูมเคิร์ฟ การโอเปอเรตอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประจำเดือนต่างๆ ช่วง 12 เดือนว่าเป็นอย่างไร สมมติพร่องน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย ผมก็ฟังทำไมไม่พร่องน้ำเดือน มิ.ย. ไปพร่องได้อย่างไร นี่มันต้นฤดูฝนของการที่จะเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ของวัตถุประสงค์หลักการสร้างเขื่อน วัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อนไม่ใช่บรรเทาอุทกภัย แต่อุทกภัยจะได้ประโยชน์อันดับต่อมา

พร่องน้ำ มิ.ย.ได้อย่างไร เป็นต้นฤดูฝน เพราะไม่มีใครทำนายก.ย.ได้ว่าอะไรเป็นยังไง ถึงแม้กรมอุตุฯ ทำนายว่าจะมีฝนตกหนัก ก็เชื่อไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องอนาคต วิศวกรเขื่อนเขาไม่เชื่อหรอก พร่องน้ำมิ.ย.พร่องไม่ได้ ต้องพยายามเก็บน้ำ พอต้นก.ย.อยากจะพร่อง น้ำล้นตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว พร่องก็ไม่ได้อีก

ส.ค.-ก.ย. รูมเคิร์ฟของเขื่อนเก็บน้ำภูมิพลฯ เขื่อนสิริกิติ์ ยังอยู่ในโอเปอเรตภายในรูมเคิร์ฟ ก็ไม่ได้ผิด และไม่มีใครที่จะทราบอนาคตว่าอะไรเป็นอะไร” นายปราโมทย์ กล่าว

นายปราโมทย์กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นวิศวกรเขื่อน ในภาวะปกติ ก.ค.เป็นเดือนที่ฝนตกน้อย ฝนทิ้งช่วง พอย่างเข้าส.ค.จะเริ่มมีฝน มีน้ำเข้า แบบนี้ตนคิดว่าน้ำก็อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้มากมายอะไร ไม่ได้เต็มเขื่อน อย่างนี้พร่องได้อย่างไร มันเป็นการเสี่ยง

นายณรงค์กล่าวถามว่า ก.ค.-ก.ย.มันมีพายุที่ทำให้ฝนตกผิดปกติ ไม่ทำให้คนฉุกใจคิดบ้างหรือ

นายปราโมทย์กล่าวว่า น้ำจากพายุก็ได้มาส่วนหนึ่ง ลงอ่างเก็บน้ำ ก.ค.พายุเข้าจังหวัดน่าน เขื่อนสิริกิติ์รับน้ำเต็มๆ ขณะนั้นพิษณุโลกก็น้ำเต็ม สิริกิติ์ก็กักน้ำไว้เพื่อบรรเทาอุทกภัยตัวเมือง พิษณุโลก จังหวัดพิจิตร ซึ่งก็มีน้ำปริ่มตลิ่ง แต่ยังไม่ถึงกับล้น ยังไม่เกิดอุทกภัย เขื่อนก็กักน้ำไว้ ตอนนั้นเขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำธรรมดา ส่วนเรื่องพายุเข้า ก.ค.แล้ว ก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า ส.ค.ต้องเข้า ก.ย.ต้องเข้า ตัวนี้สำคัญที่สุด

ตนมองเรื่อง 2 เขื่อนนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาโอเปอร์เรตไม่ผิดพลาด ไม่มีอะไรผิดพลาด ปล่อยส่วนหนึ่ง กักส่วนหนึ่ง พอถึง ก.ย.น้ำล้นตลิ่งหมด เขื่อนปล่อยแบบมากชัดเจนไม่ได้เด็ดขาด เป็นการซ้ำเติม ก็หาทางหน่วงหน่วงบ้าง ปล่อยบ้าง เผอิญปีนี้ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แช่อยู่ภาคเหนือนาน เกิดฝนตกหนัก พอมาถึงคราวสุดท้าย ต้น ต.ค. หรือก่อนกลางเดือน ต.ค. เขื่อนมันเต็มอั้น เขื่อนรับได้แต่มันเสี่ยง พอมาถึงก่อน 15 ต.ค. หรือต้น ต.ค. ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง น้ำท่วมเต็มไปหมด ช่วงนั้นเขื่อนก็อั้นเต็มที่แล้ว

เขาหน่วงไว้ ก็จำเป็นต้องปล่อย เขื่อนภูมิพลฯก็ไม่ได้ปล่อยหมด เกิดน้ำท่วมที่เชียงใหม่ ลงเขื่อนภูมิพลวันละ 250 ล้าน ลบ.ม. แล้วจะไม่ปล่อย 250 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างไร ช่วงที่ปล่อยมาน้ำอุทกภัยก็เต็มไปหมดอยู่ก่อนแล้ว น้ำเพิ่มที่มาจากเขื่อนไม่มาก นี่ตนมองด้วยความเป็นธรรม

ตนยังติงไปที่ผู้ว่าฯ กฟผ.ให้หรี่หน่อย เดี๋ยวคนไม่เข้าใจ ปีนี้มันเป็นหลายเรื่องประกอบกัน ฝนตกท้ายเขื่อนก็เยอะ เขื่อนก็พยายามกักไว้ แต่มาประจวบเหมาะช่วงท้าย น้ำท่วมหมดแล้ว กักไว้เต็มอั้นก็จำเป็นต้องปล่อย

นายปราโมทย์กล่าวต่อว่า การเตรียมการแก้น้ำท่วม หลักคือหาทางให้น้ำไปได้มาก เราต้องเตรียมไว้ 1 ปีข้างหน้า ต้องได้ที่เป็นเรื่องเป็นราวก่อน ว่าจะไปทางไหนแบบไหน ต้องมีที่ฟลัดเวย์ภายใน 1 ปี ที่ตรงนั้นอยู่ได้ก็ไม่เป็นสุข พอที่จะหาที่ได้ทาง ถึงแม้ไม่เป็นฟลัดเวย์สมบูรณ์แบบ ก็พอแบ่งน้ำออกไปได้

การทำให้เป็นฟลัดเวย์ มันมีนิคมอุตสาหกรรม ต้องไปดูแนวทางที่เดือดร้อนน้อยที่สุด ต้องซื้อที่ดิน ไปเอาของใครมาไม่ได้หรอก ที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่ดี เป็นที่เน่า ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเท่าไหร่แล้ว มีแต่เสี่ยง ถ้ามีการขายกับรัฐบาลในราคาที่เป็นธรรม แล้วสามารถทำทางน้ำไปได้ ก็จะลดปริมาณน้ำล้นตลิ่งได้ หลังจากนั้นก็มีระบบปกป้องจะเป็นคันหรืออะไรก็แล้วแต่ในพื้นที่เศรษฐกิจ

ด้าน นายณรงค์กล่าวว่า เรื่องฟ้องร้อง ในฐานะนักวิชาการไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ตนมองปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก เราเห็นปัญหาที่เราสะสมความบกพร่อง 4 ประการ

1.ประวัติศาสตร์ก็บอกอยู่แล้วว่า กทม.เป็นเมืองปากอ่าว ในโบราณอยู่ใต้น้ำด้วยซ้ำไป อยุธยาในอดีตก็คือหนอง ปทุมธานีก็มีบัว มีน้ำ

คำถามคือ ปี 2485 น้ำท่วมต้องพายเรือไปประชุม ก็มีบทเรียนมาแล้ว แล้วทำไมการพัฒนาเศรษฐกิจเราไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมขวางทางน้ำ สนามบินหนองงูเห่า พระราชดำรัสประมาณปี 17-18 ท่านก็เคยดำรัส เป็นที่มาที่ตนต้องออกมาคัดค้านไม่ให้สร้างหนองงูเห่า ทำไมไม่หาที่ดอนสร้าง แต่ก็เงียบไป สุดท้ายก็สร้างกันจนได้ เป็นความผิดสะสมของการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องโทษทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

2.กรมชลฯ มีข้อมูลดี ตนเป็นชาวบ้านธรรมดามองว่าจริงๆ น้ำผิดปกติไม่น่าเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมทุกปีท่วมแค่ตาตุ่ม แล้วทำไมปีนี้ถึงอก มันเกิดอะไรขึ้น น่าสังเกตว่าความผิดปกติเกิดจาก 2 ประการ 1.น้ำผิดปกติ 2. การจัดการผิดปกติ

3.ตนเป็นเด็กบ้านนอก อยู่ภาคใต้ น้ำท่วมทุกปี เวลาน้ำหลากตลิ่งเราก็กั้นคันตลิ่งให้น้ำหลากลงมา แล้วก็กั้นคันที่ 2 ให้น้ำหลากลงมาอีก แล้วก็กั้นคันที่ 3 เวลาถึงคันที่ 3 น้ำมันหยุดแล้ว แล้วก็วิดออก จับปลา ถามว่าระบบพร่องน้ำธรรมชาติของชาวบ้าน มันนำมาประยุกต์ใช้ไม่ได้หรือ ถ้ารู้ตั้งแต่ต้นว่าน้ำมาก ทำไมต้องกั้นคันชั้นเดียว

4.การจัดการน้ำ ทำไมเทไปทางตะวันตก ในเมื่อรู้ว่าระบบระบายน้ำแย่มาก นี่คือคำถามของชาวบ้าน ทำไมต้องระบายไปทางนั้นเพราะอะไร แล้วเรื่องบริหารคน คนโน้นคนนี้ไปพังคัน รัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบ ปล่อยได้อย่างไร

"พวกผมเป็นคนชั้นกลาง พอรับผิดชอบตัวเองได้ เสียหาย 1-2 แสนพอไหว แต่ผมทำงานกับคนจน บางคนออมเงินแสนบาท ใช้เวลา 10 ปี 7 วันหมด เศรษฐีหายไป 100 ล้าน เขายังมีรถเก๋งขับ คนจนหายไป 5 หมื่น ชีวิตแตกสาแหรกขาด ไฟช็อตตาย แล้วคุณไม่ได้พูดถึงชีวิตเขาเลย ผมไม่ค่อยสนใจความเสียหายที่เป็นตัวเลข ผมสนใจความเสียหายในชีวิตของคน จากนี้ไปคนขายของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ขายของ 1-2 เดือนจะอยู่อย่างไร คนงานตกงาน 6 แสนคน จะอยู่อย่างไร ปีหน้าข้าวแพงขึ้นเขาจะกินอะไร ดังนั้นผมต้องฟ้อง ไม่ได้เอาผิดอะไรมากมาย

ผมมองว่าคุณสร้างคันกั้นเขื่อนตรงนี้ เพื่อให้กรุงเทพฯ ปลอดภัย เขาต้องอยู่กับน้ำที่ท่วมมากกว่า เพราะเอาน้ำไปขังตรงนั้น ขอเพียงว่าชดเชยให้เขามากกว่าได้มั้ย แค่นี้ เมื่อผลักภาระให้เขา ชดเชยให้เขามากได้มั้ย แค่นี้ทำได้หรือเปล่า” นายณรงค์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น