การประปาฯ แจงนายกฯ น้ำบริโภคได้ ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” แนะต้มหรือกรองก่อนเพื่อความสบายใจ รับเห็นใจชาวบ้านย่านดอนเมืองหลังแนวถุงทรายยักษ์ที่ต้องเจอกับน้ำท่วมสูง จี้ กทม.เร่งระบายน้ำโดยเร็ว หวั่นเอ่อล้นบิ๊กแบ็ก
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่โรงผลิตน้ำบางเขต การประปานครหลวง (กปน.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ นายยงยุทธ วิชัยดิฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายซิอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานป้องกันระบบผลิตและการควบคุมคุณภาพน้ำ ประปาในช่วงภาวะวิกฤติน้ำท่วม โดยมีนายเจริญ ภัสสระ ผู้ว่าการ กปน. ให้การต้อนรับ ร่วมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ Mr.David Sutherland ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) นพ.พิทยา จารุพูลผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาวิจัยแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมรายงานคุณภาพของการผลิตประปาด้วย
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ตนต้องการมาดูด้วยตัวเอง และต้องการคำยืนยันเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพราะช่วงนี้ข่าวลือเยอะเหลือเกิน ประชาชนขาดความมั่นใจในเรื่องคุณภาพของน้ำที่จะนำไปบริโภค โดยเฉพาะเรื่องสี และกลิ่น ซึ่งตอนนี้ทราบว่าได้มีการปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเห็นแล้วว่าทุกฝ่ายได้ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นใจ
ขณะที่นายเจริญ ได้ยืนยันว่า ขณะนี้ระบบการผลิตและควบคุมคุณภาพน้ำประปา ทาง กปน.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน และเป็นที่ยอมรับของ WHO โดยยืนยันว่าจนถึงขณะนี้สีและกลิ่นของน้ำประปาที่ประชาชนเคยร้องเรียนมา ได้แก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถใช้ดื่มได้ตามปกติ
ด้านผู้แทนจาก WHO กล่าวแสดงความมั่นใจว่า จากการที่ผู้แทนของ WHO ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ และร่วมตรวจคุณภาพน้ำกับ กปน.ของไทย โดยได้เห็นถึงขั้นตอนการผลิต ถือว่าผ่านการรับรองของ WHO สามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้
ส่วน นพ.พิทยา จารุพูลผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า จากการที่ได้เข้ามาร่วมเป็นภาคีกับ กปน.ตั้งแต่ปี 2542 มีการตรวจคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดปี 2553 ได้ใช้เกณฑ์ของ WHO 2006 จากการตรวจสอบมาตรฐานต่าง ๆ และหมวดที่เกี่ยวข้องกับโลหะหนัก และสารเคมี โดยเฉพาะสารปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง มีการเพาะเชื้อ เพื่อยืนยันว่าในน้ำประปาไม่มีจุลชีพในการก่อโรค รวมถึงการตรวจสารก่อมะเร็ง ยืนยันว่าทุกอย่างของน้ำประปาได้มาตรฐานทั้งหมด อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาภาวะน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ ทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดทีมไปเก็บตัวอย่างน้ำจากแหล่งผลิตในจุดต่าง ๆ ทั้งหมด 8 จุด ยืนยันว่าทุกจุดยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคุณภาพน้ำดิบ ยอมรับว่ามีการปนเปื้อนฝุ่นจำนวนมาก รวมทั้งสารที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น อุจจาระร่วง จึงได้มีการเพิ่มคลอรีน ด่างทับทิม และเพิ่มกระบวนการกรองให้มากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงไปได้ และได้เพิ่มออกซิเจนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น มาตรการทั้งหมดนี้ทำให้คุณภาพของน้ำดิบดีขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5-6 เท่า ซึ่ง กปน.และภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้น้ำประปาที่ผลิตออกไปได้คุณภาพตามเกณฑ์ สามารถบริโภคได้
ขณะที่ตัวแทนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวว่า จากปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านเคมีได้ตรวจพบว่าคุณภาพน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปา พบว่าเลวลงจริง มีสารปนเปื้อนจำนวนมาก นักวิชาการจึงได้ประสานงานผู้ว่าฯ กปน.เพื่อขอรับทราบกระบวนการผลิตอีกครั้ง รวมทั้งได้ตรวจสอบล่าสุดพบว่ามีการพัฒนาและปรับปรุงวิธีการ จนได้มาตรฐาน แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าต้นทางจ่ายน้ำของ กปน.จะดีจริง แต่ผู้ใช้น้ำในบ้านเรือนที่อยู่ปลายทาง ที่ใช้ถังน้ำใต้ดิน บางครั้งอาจมีน้ำสกปรกซึมเข้าไปในถังน้ำ ดังนั้นอยากให้ตรวจสอบให้ดีก่อน รวมทั้งผู้ที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมและอพยพกลับไปอยู่ สิ่งแรกที่ต้องดูคือถังน้ำใต้ดิน
จากนั้นในช่วงสุดท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคทุกคนมีความห่วงใย เราเองก็ห่วง จึงได้สั่งการ รมว.มหาดไทย และผู้ว่าฯ กปน.ดูแลตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ร่วมกับภาคีต่าง ๆ รวมทั้งตัวแทนจากไจก้าที่ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ซึ่งทุกภาคส่วนก็ยืนยันว่าน้ำที่เราใช้วันนี้สะอาดและปลอดภัย แต่เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อาจทำให้สีและกลิ่นอาจไม่เหมือนที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอันตรายต่อการบริโภค ซึ่งผู้ว่าฯ กปน.จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ ความจริงแล้วคุณภาพของน้ำประปาวันนี้มีความปลอดภัยสามารถใช้ดื่มได้เลย โดยไม่ต้องต้ม แต่เพื่อความสบายใจของผู้บริโภค หากมีเวลาก็อาจจะต้มหรือกรองก่อน เพื่อให้สีและกลิ่นดีขึ้น จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้ได้รับทราบด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับแผนฟื้นฟูระยะสั้นนั้น ตนได้มอบหมายให้ รมว.มหาดไทยไปทำแนวเขื่อนถาวรป้องกันคลองประปาให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในปีหน้า
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าแนว Big Bag หรือกระสอบทรายยักษ์ของรัฐบาลยังสร้างไม่เสร็จ โดยเฉพาะแนวถนนจันทรุเบกษา ส่งผลให้ป้องกันน้ำทะลักเข้า กทม.ได้เพียงแค่ 50 % ว่ายอมรับว่าการกั้นแนว Big Bag อาจจะไม่ได้ผล 100 % จึงต้องมีวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหาก กทม.เห็นว่าจุดไหนยังไม่เรียบร้อย ก็ต้องลงไปชี้จุดให้รับทราบ ส่วนที่นายเสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการด้านน้ำ ระบุหากกั้น Big Bag แล้วยังไม่สามารถระบายน้ำได้ ก็จะทำให้น้ำก้อนใหญ่ทะลักเข้าพื้นที่ กทม. จนทำให้วิกฤติซ้ำอีกครั้งนั้น ตนเคยบอกแล้วว่าการกั้นแนวกระสอบทรายต่างๆ ไม่ได้เป็นการหยุดน้ำ แต่คือการชะลอน้ำ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องหาทางให้น้ำระบายออกไป ถ้ายิ่งกันมากน้ำก็จะชะลอเป็นมวลใหญ่ และเกิดการทะลักได้ ดังนั้นต้องเร่งระบายน้ำออกจาก กทม.โดยเร็ว
เมื่อถามถึงกรณีที่ชาวบ้านที่อยู่หลังแนว Big Bag บริเวณถนนวิภาวดี ประท้วงและขู่ปิดทางด่วนโทลล์เวย์ ไม่พอใจที่ทำให้ระดับน้ำที่อยู่หลังแนว Big Bag สูงขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องพูดคุยกัน เพื่อหาทางระบายน้ำ นี่คือจุดสมดุลที่เราต้องมาคุยกัน เพราะถ้าเรากั้นด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ทุกข์ทรมาน ซึ่งตนก็เห็นใจ ดังนั้นทางออกที่ดีทีสุดคือหาทางให้น้ำระบายลงได้อย่างสะดวกที่สุด และระบายลงสู่เครื่องสูบน้ำของ กทม.ที่มีประสิทธิภาพมาก