“กปน.” พาหมอแถลงยืนยัน แม้น้ำเสียไหลลงคลองประปา ทำกลิ่นสีน้ำเปลี่ยน แต่คุณภาพน้ำยังผ่านเกณฑ์อนามัยโลก ดื่มได้ปลอดภัย ด้านผู้ว่าฯ กปน.เผยต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย 6 เท่า แต่ไม่เป็นไร มุ่งผลิตน้ำที่มีคุณภาพเป็นหลัก
ที่การประปานครหลวง (กปน.) วันที่ 7 พ.ย.นายวัชร บุญชูเศรษฐ์ ประธานกรรมการ กปน.ได้แถลงว่า ตามที่ได้เกิดวิกฤตน้ำท่วมจนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่ง กปน.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งแก้ปัญหาตลอดมา โดยเฉพาะคุณภาพน้ำดิบที่เปลี่ยนไป ดังนั้น กปน.จึงได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการบริโภคน้ำประปามากขึ้น
ด้าน นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการ กปน.กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมเข้าคลองประปา ทำให้ กปน.ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย สารเคมี และกระบวนการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า จากช่วงปกติ แต่ไม่เคยคำนึงถึง มุ่งแต่จะผลิตน้ำที่มีคุณภาพให้ประชาชนเป็นหลัก ขณะนี้ กปน.มีความมั่นใจว่า สามารถรักษาระบบผลิตน้ำประปาไว้ได้ โดยได้เตรียมป้องกันระบบผลิตและระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญไว้อย่างเต็มที่ จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดกรณีน้ำท่วมโรงงานผลิตน้ำ จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดผลิตน้ำประปา
ด้าน นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงคุณภาพน้ำประปาว่า คนส่วนใหญ่ได้เห็นด้วยตาว่าน้ำเสียไหลลงคลองประปา จึงเกิดความรู้สึกน้ำประปาไม่ปลอดภัย ประกอบกับกลิ่นและสีของน้ำประปาเปลี่ยนไป ทำให้ไม่กล้าที่จะดื่มน้ำประปา เรื่องนี้นักวิชาการต่างรู้สึกเป็นห่วง จึงได้ร่วมตรวจสอบกระบวนการผลิตน้ำและคุณภาพน้ำของ กปน.พบว่า มีกระบวนการผลิตน้ำที่เชื่อถือได้ น้ำประปายังอยู่ในมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกให้ความมั่นใจน้ำประปายังมีคุณภาพดี ดื่มได้ และปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรคแน่นอน
ขณะที่ นพ.ดร.พิทยา จารุพูนผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ทางคณะสาธารณสุขฯ ได้เข้าร่วมโครงการน้ำประปาดื่มได้กับการประปานครหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นทางคณะฯ ได้มีการตั้งทีมเพื่อสำรวจและตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาอยู่ตลอด ปรากฏว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้านเกณฑ์ทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ ล้วนแต่ผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
“การประปานครหลวงมีขั้นตอนการดำเนินงานตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกทุกอย่าง สาเหตุที่ทำให้น้ำประปาดูไม่สะอาดความจริงแล้วส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากน้ำท่วม และปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่เข้ามาปนเปื้อนภายในท่อ เช่น กรณีตึก อาคารสูงที่มีการใช้น้ำจากถังพักน้ำ หากมีน้ำท่วมไหลเข้าบ่อพักน้ำหรือบ่อรั่วชำรุด อาจทำให้น้ำท่วมเข้าไปปะปนกับน้ำประปาที่การประปานครหลวงส่งมาได้ เบื้องต้นจึงขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบด้วยตนเองก่อน” นพ.พิทยากล่าว