ผ่าประเด็นร้อน
งดประชุมกันมาร่วมเดือนทั้งสภาล่าง-สภาสูง หลังเกิดเหตุอุทกภัย บรรดา ส.ส.-ส.ว.เลยหยุดงาน แต่ไม่หยุดรับเงินเดือนแสนกว่าบาท เลยเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าอิจฉาในช่วงน้ำท่วม ที่ไม่ต้องทำงานก็มีเงินเดือนเป็นแสนประเคนให้
แต่ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง เรื่องปัญหาน้ำท่วมจะเป็นไฮไลท์หลักในการอภิปรายของ ส.ส.-ส.ว. ทั้งวาระหารือ และวาระปกติ ตามแต่จะเปิดช่องให้
นำร่องก่อนเลยก็จันทร์ที่ 7 พ.ย.นี้ ตั้งแต่ 10.30 น. วุฒิสภาจะประชุมเพื่อหารือวาระเร่งด่วนปัญหาน้ำท่วมหนักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข่าวว่าจะมี ส.ว.หลายคนขอลุกขึ้นอภิปราย เชื่อได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องถูกอภิปรายทั้งโดนซัดหนักและถูกพาดพิงจาก ส.ว.หลายคนถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ล้มเหลว
แม้ที่ผ่านมายิ่งลักษณ์จะใช้ทั้งไม้แข็ง-ไม้อ่อนสารพัด กรีดน้ำตา พร่ำบอกสงสารประชาชนที่เดือดร้อน ทั้งในตอนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและขณะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน
ล่าสุดก็วันเสาร์ที่ผ่านมา ชาวนครสวรรค์และคนไทยทั้งประเทศได้เห็นได้ยินนายกฯ ยิ่งลักษณ์ร่ำไห้เสียงสั่นเครือ ตาแดงก่ำ ปราศรัยผ่านไมโครโฟนตอนลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนบอกขอให้อดทน เราจะสู้ฟันฝ่าไปด้วยกัน
ไม่รู้คนนครสวรรค์จะหลงเคลิ้มมายาภาพ ซาบซึ้งจนเลิกด่ารัฐบาลหรือเปล่า
จึงเห็นได้ว่า ยิ่งลักษณ์แสดงทุกบทบาท บทดราม่าก็ทำแล้ว บททำขึงขังก็ไม่ละเลย เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกระตือรือล้น พยายามแก้จุดอ่อนที่เป็นปัญหาในการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มีมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการประสานงา ไม่ประสานงาน ขาดเอกภาพ
ยิ่งลักษณ์ ก็พยายามอุดรูรั่วไม่ให้มวลน้ำมาทำให้ศปภ.ถูกประชาชนก่นด่าจนทัพแตกให้ได้ แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
หลายวิธีการทั้งตั้งกรรมการสารพัดชุด ทั้งสกัดน้ำท่วม ป้องกันดูแลสถานที่สำคัญ คอยติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ หรือการบังคับใช้มาตรา 31 ของพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อกระชับอำนาจการบูรณาการแก้ไขปัญหาก็ทำแล้ว
แม้แต่การเปลี่ยนตัวทีมโฆษก ศปภ. ดึงระดับพวกนักวิชาการด็อกเตอร์ ข้าราชการจอมแหลอย่างธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา หรือ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. มาเสริมทีมโฆษก ศปภ. ก็ยังไม่ได้ทำให้คนเชื่อถือศปภ.มากขึ้นแต่อย่างใด
ทำได้แค่ฟังรื่นหู แต่หาสาระไม่ได้
ก็ไม่รู้ว่า อีกหนึ่งไม้ตายที่ยิ่งลักษณ์ หวังให้เป็นเรือนแพเพื่อให้รัฐบาลและศปภ.กอดลอยคอไปได้ในช่วงน้ำท่วมจนถึงน้ำลด ในช่วงที่กรุงเทพมหานครใกล้มิดน้ำเกือบหมดแล้วจะใช้ได้หรือไม่
คือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2554 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการ และกลไกการปฎิบัติงานฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
อันเป็นคำสั่งที่จะมีกรรมการชุดใหญ่ คือ ชุดเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย หรือ กฟย.ที่มียงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยเป็นประธานกรรมการ คุมภาพรวมทั้งหมดของการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่จะมีกรรมการชุดย่อยและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการที่เป็นชุดเล็กๆ อีก 9 ชุด อยู่ในโครงสร้างตามคำสั่งนี้
โดยมีนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นคนคุมภาพรวมการประสานงานทั้งหมดในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนในชื่อ “คณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบภัย” หรือ “กบภ.” วัตถุประสงค์หลักคือเร่งดำเนินการฟื้นฟูระบบต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อีกครั้งหนึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี
ถือเป็นการดิ้นของยิ่งลักษณ์อีกครั้ง ซึ่งยังคงคิดแบบเดิมว่า ระบบการแก้ปัญหาแบบรัฐราชการที่ทำงานผ่านกรรมการชุดต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นด้วยอำนาจฝ่ายบริหารจะทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมขับเคลื่อนไปได้ เหมือนกับการตั้งกรรมการอีกหลายชุดก่อนหน้านี้ ที่ล้มเหลวมาตลอด
จึงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น อะไรกับคำสั่งดังกล่าว เพราะจะตั้งอะไรไป สุดท้ายอำนาจทั้งหมดก็อยู่ภายใต้อำนาจตามโครงสร้าง ศปภ.และอำนาจในมือยิ่งลักษณ์ ที่หนึ่งเดือนของการมีศปภ.ก็เห็นแล้วว่า มีแต่ทำงานตามน้ำไปเรื่อยๆ น้ำโผล่ที่ไหน ทะลักจุดไหน ก็แก้จุดนั้น อุดตรงนั้น
จะตั้งอีกสัก 20 ชุดก็เท่านั้น หากว่าประเทศยังมีผู้นำที่แก้ปัญหาไม่เอาอ่าวแบบนี้
แม้จะมีเรื่องให้น่ากล่าวถึงทางการเมืองบางประการกับคำสั่งยกเครื่องศปภ.
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ เรียกใช้บริการของ เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่หายหน้าไปนาน ไม่รู้ว่ามัวแต่ไปสร้างแนวป้องกันไม่ให้บ้านริมคลอง ย่านบางบอน น้ำทะลักหรือเปล่า สั่งให้มาคุมศูนย์ปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และการจราจรโดยมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ว่าที่ ผบ.ตร.เป็นเลขานุการ
ทั้งที่ก็ไม่เห็นจำเป็นอะไรเลย ต้องมาตั้งศูนย์นี้ ก็หน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและการจราจรเป็นหน้าที่หลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเฉลิมคุมสตช.และเพรียวพันธุ์เป็น ผบ.ตร.อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็เข้าข่ายละเว้น ตั้งทำไมให้ยุ่งยาก กลัวเฉลิม-เพรียวพันธุ์จะไม่ได้เดินเข้าตึก ศปภ.ไม่ได้ออกสื่อ กลัวประชาชนไม่รู้ว่ามีผลงานหรืออย่างไรไม่ทราบ
รวมถึงเมื่อดูโครงสร้างกรรมการและศูนย์ทั้งหมดจะพบว่า คำสั่งนี้จะให้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นจุดรวมใหญ่ของการทำงานด้านการฟื้นฟูหลังน้ำลด คือคุมภาพรวมการฟื้นฟูในสามด้านคือด้านเศรษฐกิจ -สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชน ขณะที่ ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา แม้จะได้เป็นกรรมการในบางคณะเช่นกรรมการใหญ่ชุดฟื้นฟูที่มียงยุทธเป็นประธาน แต่ก็ไม่ได้เป็นประธานกรรมการชุดใดๆเลยในคำสั่งนายกรัฐมนตรีรอบนี้
หากมองในเชิงการเมือง โดยนำกระแสข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีหลังน้ำลด มาจับทิศทางเรื่องนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย
กับข่าวที่ว่า ยงยุทธและธีระ คือสองรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายจะถูก ทักษิณ ชินวัตร พิจารณาปรับออกจากคณะรัฐมนตรีหรือปรับให้ไปอยู่ตำแหน่งอื่น
เพราะที่ผ่านมานับแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมประเทศ ยงยุทธ ที่เป็นเบอร์สองของรัฐบาลแถมคุมมหาดไทย กลับแทบไม่สามารถโชว์ความสามารถในการทำงานและการเอาอำนาจรัฐในมหาดไทยมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เลย
นอกจากแค่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไปเปิดโรงครัวมหาดไทย อยู่ข้างกระทรวงมหาดไทย ริมคลองหลอดเพื่อรับของบริจาคและทำกับข้าวไปแจกคนน้ำท่วม
ทั้งที่น้ำท่วมต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครมาร่วมสี่เดือนแล้ว สิ่งที่เบอร์สองของรัฐบาลอย่าง ยงยุทธ คิดได้มีแค่อย่างเดียวคือ เปิดโรงครัว
อีกทั้งก่อนหน้านี้ยิ่งลักษณ์ก็เคยให้ยงยุทธ เป็นคนดูแลเรื่องน้ำท่วมทั้งหมดของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงสิงหาคม แต่ยงยุทธก็ทำงานไม่เป็น ตื่นตัวช้า
กว่าจะรู้อีกที น้ำท่วมประเทศ จนยิ่งลักษณ์กำลังจะจมน้ำตายอยู่ตอนนี้
การให้งานใหญ่ ยงยุทธ คุมเรื่องการช่วยเหลือทุกภาคส่วนจากเหตุการณ์น้ำท่วมโดยให้เริ่มงานนับแต่นี้ หากยงยุทธ ยังทำงานแบบเดิม ไม่มีผลงานความคืบหน้าอะไรไปแสดงฝีมือให้ทักษิณเห็นไม่ได้ ก็น่ากลัว อาจหลุดจากเก้าอี้มท.1 เหลือแค่รองนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว
ส่วน ธีระ วงศ์สมุทร รายนี้ ข่าวว่า เป็นเต็งหนึ่ง โดนปรับ ครม.แน่นอน และทักษิณ ไม่สนใจอยู่แล้ว หากคิดปรับจริงหลังน้ำลด ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจ บรรหาร ศิลปอาชา ไม่อย่างงั้นก็หาคนมารับบาปแทนยิ่งลักษณ์หลังน้ำลดไม่ได้
ข่าวปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นพ่วงมากับคำสั่งตั้งสารพัดกรรมการเพื่อยกเครื่องศปภ.ที่เน้นกระจายอำนาจไปให้รัฐมนตรีแต่ละคน แต่รวมศูนย์การตัดสินใจในเรื่องสำคัญไว้ที่ยิ่งลักษณ์คนเดียว
ดูไปแล้ว มีนัยยะที่มาที่ไปทางการเมืองแน่นอน เหมือนกับคนในพรรคเพื่อไทยหวังให้ทั้งสองเรื่องก่อให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้นในการทำงาน หลังจากที่รัฐมนตรีหลายคนหายไปกับสายน้ำ ทำงานในภาวะวิกฤตไม่ได้
บางรายพื้นที่ตัวเองก็น้ำไม่ท่วม แต่แทบไม่เคยออกมาช่วยงานศปภ.และรัฐบาลเลย คนเหล่านี้ ทักษิณ ดูปราดเดียวก็รู้ ว่าคนไหนต้องเอาออก