รัฐมนตรีคมนาคม โอ่ขนถุงทรายยักษ์วางประตูน้ำจุฬาฯ เสร็จกว่า 2 กม.ใช้รถไฟขน 3 ขบวน วางต่อกันบนรางจนถึงดอนเมือง คาด พรุ่งนี้เสร็จ 90% ด้านอธิบดีกรมทางหลวงเผย เส้นทางวิ่งเหนือ-อีสาน เลี่ยงน้ำท่วม ทางหลวงชนบท ชี้ เสียหาย 891 สาย รวม 6.8 พันล้าน
วันนี้ (2 พ.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีการใช้ถุงทรายขนาดใหญ่พิเศษ หรือบิ๊กแบ็ก กว่า 6,000 ถุง ทำแนวคันกั้นน้ำ บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ว่า ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วกว่า 2 กิโลเมตร จากที่กำหนดไว้ 6 กิโลเมตร ซึ่งสามารถทำงานได้เร็วขึ้น เพราะตอนแรกติดปัญหาเล็กน้อย เนื่องจากใช้รถไฟได้เพียงขบวนเดียว แต่ตอนนี้ได้สั่งให้รถไฟโดยสารที่วิ่งสายกรุงเทพฯ-อยุธยา ให้หยุดวิ่ง เพราะสามารถใช้รถเมล์ได้แล้ว ปัญหาเรื่องรถไฟโดยสารจึงไม่มี และให้เพิ่มรถไฟเป็น 3 ขบวน เพื่อนส่งบิ๊กแบ็ก โดยแต่ละขบวนบรรทุกได้ 400 กว่าถุง และใช้วิธีวางต่อกันบนรางรถไฟให้เป็นแนวยาว 6 กิโลเมตร จากบริเวณหน้าประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ถึงสถานีรถไฟดอนเมือง โดยต้องทำงานต่อเนื่องไม่มีหยุดพัก ใช้กำลังทหารและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้รวมเกือบ 1,000 คน
“บริเวณนี้เป็นจุดสำคัญมาก เพราะเป็นแนวกันน้ำทั้งหมดที่ไหลมายัง ถ.พหลโยธิน ถ.วิภาวดีรังสิต และคลองประปา จึงต้องแก้ไขตรงนี้ให้สำเร็จ คาดว่า เย็นพรุ่งนี้ (3 พ.ย.) จะเสร็จได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย.จะเป็นการตกแต่งและเสร็จก่อนมืด เชื่อว่า จะเสร็จทันเวลา ภายหลังจากคันเสร็จแล้ว กทม.ก็จะทำหน้าที่ระบายน้ำต่อไป” พล.อ.อ.สุกำพล ระบุ
ด้าน นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึงการเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ว่า หลายพื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางออกไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมสูงอยู่ ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ กรมทางหลวงจึงได้เปลี่ยนเส้นทางในการเดินรถ ดังนี้ โดยเส้นทางสายเหนือแนะนำให้ประชาชนใช้เส้นทางพระราม 2-อ้อมน้อย-เพชรเกษม-นครปฐม หรือเส้นทางนครปฐม-สุพรรณบุรี เข้าไปสายเอเชียที่อ่างทอง-สิงห์บุรี-ชัยนาท หรือสายเอเชีย นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ลำปาง ส่วนเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานสามารถใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์-ฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม สำหรับภาคอีสานตอนบน ให้ใช้เส้นทาง พนมสารคาม-กบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว-ปักธงชัย ส่วนอีสานตอนล่างให้ใช้เส้นทาง พนมสารคาม-ศรีมโหสพ-ปากพลี-บ้านนา-วิหารแดง-หนองแค
สำหรับความเสียหายของถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ถนนทางหลวงชนบทได้รับความเสียหายแล้วจำนวน 891 สายทาง ครอบคลุม 63 จังหวัด สามารถสัญจรผ่านได้แล้ว 682 สายทาง และยังผ่านไม่ได้อีก 209 สายทาง มูลค่าความเสียหายกว่า 6,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทางหลวงชนบทที่อยู่ในแต่ละจังหวัดที่มีถนนได้รับความเสียหาย ว่า หากพื้นที่ใดน้ำลดลงให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปรับปรุงถนน เพื่อให้ประชาชนสัญจรผ่านได้ทันที ซึ่งในเรื่องของบประมาณที่จะนำมาฟื้นฟูให้ใช้งานได้นั้นไม่มีปัญหา เนื่องจากทางหลวงชนบทมีงบฉุกเฉินกว่า 50 ล้านบาท ที่จะเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมถนนได้ทันที