โฆษกประธานสภาฯ หนุน ส.ว.ยื่นขอเปิดประชุมร่วม อภิปรายปัญหาน้ำท่วม เชียร์สุดตัว ทุ่ม 9 แสนล้าน สร้างโปรเจกต์ “นิวไทยแลนด์” อ้างสมัย “แม้ว” นั่งนายกฯ เคยโดนขัดโครงการแก้มลิงและระบบระบายน้ำ 2 แสนล้าน ทำเมืองไทยเจอวิกฤตวันนี้
วันที่ 1 พ.ย. ที่รัฐสภา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 179 เพื่ออภิปรายทั่วไปเกี่ยวปัญหาการบริหารจัดการน้ำท่วมว่า เป็นสิทธิของทาง ส.ว.ที่จะสามารถยื่นญัตติได้ตามข้อบังคับ แต่ขอให้อยู่ในกลไกของรัฐสภา ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าการโจมตีผ่านสื่อ ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสามารถมาร่วมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนของประชาชนได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในสัปดาห์นี้ก็บรรเทาลงแล้ว เชื่อว่านายกฯ จะมาเข้าร่วมประชุมรัฐสภาได้ไม่ยาก เพราะที่ผ่านมาก็งดการประชุมทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เนื่องจากต้องลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมกันอย่างหนัก ซึ่งการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีขึ้นนั้น คงไม่ใช่การมาหารือเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาหลังน้ำลด และเพื่อเป็นการวางแนวทางระบบน้ำในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน หลังจากนั้นรัฐบาลจะนำไปปฏิบัติตามหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมเงิน 9 แสนล้านบาท ทำโครงการนิวไทยแลนด์นั้น นายวัฒนากล่าวว่า โครงการนี้รัฐบาลจะนำงบมาจากทุกกระทรวงโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ จะได้งบประมาณ 80,000 ล้านบาท ตั้งงบขาดดุลไว้อีก 50,000 ล้านบาท รวมแล้วจะมีงบ 130,000 ล้านบาท ที่เหลืออาจเน้นออกพันธบัตร หรือกู้เงินก็เป็นได้ หรืออาจจะขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เพื่อฟื้นฟู อย่าไปมองที่เม็ดเงินเป็นปัญหา อยากให้มองว่าแผนสำเร็จหรือไม่จะดีกว่า เพราะอยากเห็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ส่วนที่มองกันว่าทำไมไม่ใช้ตามกรอบงบประมาณปกติ เนื่องจากมีการใช้งบตามแผนงานโครงการที่วางไว้อยู่แล้ว ในส่วนนี้เรียกว่าเป็นงบฉุกเฉินมากกว่า เช่นเดียวกับสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีงบฯ ฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาทเช่นกัน
นายวัฒนากล่าวอีกว่า ถ้าหากมีการนำเรื่องนี้เข้าในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้มีข้อมูลมากขึ้น เพื่อที่นายกฯ จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.ก็ ถือเป็นตัวแทนของประชาชน ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตามทำนองผู้บริหารฟังเสียงประชาชนผ่านรัฐสภา ซึ่งนายกฯ น่าจะเต็มใจด้วยซ้ำที่ได้ฟังผู้รู้ให้ข้อคิด ส่วนโครงการนี้จะถูกคัดค้านซ้ำรอย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่นั้น เปรียบเทียบไม่ได้ ไม่เหมือนกัน เพราะครั้งนี้เน้นการบริหารตามโครงการพระราชดำริ การบริหารจัดการระบบน้ำที่ดี และการวางผังเมืองภาคกลางใหม่ เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยให้อยู่อย่างภูมิสังคมไทยด้วยดี ก็คือ ให้อยู่ตามสภาพแวดล้อมประเทศและสังคมไทยนั่นเอง
“เราต้องลงขันช่วยประเทศ ไม่ใช่เพื่อรัฐบาล แต่เป็นการวางระบบน้ำเพื่อประเทศ ให้ลูกหลานในอนาคตได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จากที่คนเคยเห็นแก่ตัวก็หันมาทำเพื่อส่วนรวมกันมากขึ้น เหมือนเช่นประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาสึนามิ แต่หลังจากนั้นทุกคนก็หวงแหนประเทศมากขึ้น ทั้งที่ประเทศไทยโดนน้อยกว่า เชื่อว่าจะนำมาซึ่งการฟื้นฟูประเทศได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาเราพูดแต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างซ้ำซาก เหมือนไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา การทุ่มงบประมาณ 9 แสนล้านบาทเป็นธรรมดา ในการวางระบบน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่กลับมาคัดค้านกัน เช่นเดียวกับสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยวางโครงการแก้มลิง และระบบวางน้ำท่อระบายน้ำ ด้วยงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ก็ถูกคัดค้านมาแล้วเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันที่พรรคเพื่อไทยก็มีแนวคิดทำเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อควบคุมน้ำ แต่ก็ถูกขัดขวาง ไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ต้องมากลัวน้ำทะเลหนุนสูงเช่นทุกวันนี้” นายวัฒนากล่าว