xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” โผล่ช่วย “น้องปู” ฉวยโอกาสดันเมกะโปรเจกต์แผนฟื้นฟู 9 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทวิตเตอร์ล่าสุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อเย็นวันที่ 1 พ.ย. 2554
ASTVผู้จัดการ – พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาทวิตหลังหายไป 4 เดือน แก้ตัวแทนน้องอุทกภัยหนักที่สุด อ้างตัวเองแค่ทำงาน และแนะนำอยู่ห่างๆ แต่แอบแฝงแผนเมกะโปรเจกต์ของตัวเองที่ค้างตั้งแต่ปี 48 ให้ต่างชาติเข้ามามีเอี่ยวการเกษตร-ที่ดิน-ทรัพยากรน้ำของประเทศเข้าไปด้วย อ้างต้องเร่งฟื้นฟูตามแผนของรัฐบาลก่อนต่างชาติหมดความเชื่อมั่น

วันนี้ (1 พ.ย.) เมื่อเวลา 17.29-18.13 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นพี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ทวิตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ @Thaksinlive เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคกลางของประเทศในขณะนี้ โดยระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้ถือว่าเป็นอุทกภัยครั้งที่หนักหนาสาหัสที่สุด โดยตนเองแม้จะเดินทางตลอด แต่ก็ทำงานอยู่ห่างๆ และให้กำลังใจคนทำงาน โดยระบุว่า วิกฤตครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้มีการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างถาวร

“สวัสดีครับ หายไปนานไม่ได้ทวิตมาเลย วันนี้ขออนุญาตส่งความห่วงใยมายังทุกท่านที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ความจริงผมแอบทำงานอยู่ห่างๆ ช่วงนี้ผมยังคงเดินทางเช่นเดิมแต่ก็ตรวจสอบข่าวคราวเหตุการณ์บ้านเมืองตลอดมีอะไรช่วยทำช่วยแนะนำก็ทำไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอุทกภัยที่หนักที่สุด” พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ และว่า “ผมได้ให้กำลังใจทุกคนไปว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส วิกฤตคราวนี้ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้คนไทยได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศ และจะเป็นโอกาสให้เราได้แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งถาวรเสียที เพราะเราเสียงบประมาณจำนวนมากแก้ปัญหาและเยียวยาแบบเฉพาะหน้าเฉพาะกิจครั้งแล้วครั้งเล่า

จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อ้างถึงนโยบายของตัวเองในปี 2548 ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่ ที่ตอนนั้นเรียกติดปากกันว่า “เมกะโปรเจกต์” ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ชักชวนให้ชาวต่างชาติมาลงทุน และให้เกษตรกรผ่อนด้วยสินค้าเกษตรแทน ทว่าตอนนั้นกลับเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน

“ถ้าท่านจำกันได้ตอนปี 2548 ผมเคยมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เชิญต่างประเทศมาลงทุนให้ก่อนแล้วผ่อนเป็นสินค้าเกษตร ซึ่งมีเรื่องน้ำรวมอยู่ด้วยแต่ผมถูกปฏิวัติเสียก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้เราเสียหายรวมกันทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐเฉพาะทางตรงน่าจะร่วมๆ สองแสนล้านบาท แต่ก็อยากให้สบายใจว่าหาเงินมาแก้ปัญหาได้” อดีตนายกฯ ผู้หลบหนีคำพิพากษาจำคุกระบุและกล่าวต่อถึงแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศด้วยว่า

“ผมได้คุยกับท่านนายกฯ และผู้รู้หลายท่านรวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศถึงแนวทางการฟื้นฟูครั้งนี้ ว่า ควรจะทำกันอย่างไรจะช่วยกันได้อย่างไร ทำอย่างไรจะทำให้เขามั่นใจที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจะไม่หนีจากเราเชื่อว่าท่านนายกฯ คงจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ก่อนไปประชุมเอเปก เพราะต้องถูกถามและต้องไปบรรยายให้นักธุรกิจฟัง น้ำท่วมครั้งนี้ ถ้าเราไม่ช่วยกันกอบกู้ความน่าเชื่อประเทศกลับคืนมาอนาคตจะลำบากมาก เราต้องเร่งแก้สิ่งที่ทำความเสียหายแก่ประเทศกลับคืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง การขาดหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายการแทรกแซงประชาธิปไตย

“แน่นอนครับเราต้องเร่งฟื้นฟูและเยียวยาทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทั้งภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ผ่านมา การฟื้นฟูครั้งนี้เป็นความท้าทายของคนไทยทั้งประเทศเพราะปัญหาใหญ่กว่า กินวงกว้างกว่าและยาวนานกว่าสึนามิที่ภาคใต้เราจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันครับ”

สำหรับการทวิตครั้งนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความยาวทั้งสิ้น 12 ข้อความ และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาใช้เครื่องมือสื่อเครือข่ายสังคมชนิดนี้ในการสื่อสารกับคนทั่วไปอีกครั้ง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า เกิดขึ้นในช่วงที่ความนิยมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นน้องสาว และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กำลังตกต่ำสุดขีดจากความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลาง

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การทวิตครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่การประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการหยิบยกโครงการฟื้นฟูประเทศที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “นิว ไทยแลนด์” ซึ่งมีการใช้งบประมาณกว่า 9 แสนล้านบาทขึ้นมาพูดถึง

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทวิตระบุว่า ในปี 2548 ตนเคยเสนอโครงการขนาดใหญ่โดยเชิญต่างประเทศมาลงทุนแล้วให้คนไทยผ่อนเป็นสินค้าเกษตรซึ่งมีโครงการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำรวมอยู่ด้วย ผู้สื่อข่าวตรวจสอบแล้ว พบว่า อาจจะเป็นโครงการกลุ่มเดียวกันกับที่ในปี 2551 ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเข้ามาในประเทศไทยหลังเหตุการณ์รัฐประหาร และได้นำนักธุรกิจจากตะวันออกกลางไปดูที่นาที่ จ.สุพรรณบุรี คือ นายวาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานบริษัท ซาอุดีซีเมนต์ บริษัทซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบีย และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกลุ่มบริษัท EA Juffali & Brothers กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบียและภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้ามาลงทุนทำนา หรือเช่าที่ดินทำนา หรือการส่งข้าวออกขายต่างประเทศ โดยขณะนั้นได้มีการจัดตั้งบริษัทรวมใจชาวนาขึ้นมาเพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียด้วย
ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมบุคคลสำคัญจากซาอุดีอาระเบีย เข้าพบ นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในปี 2551
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นโครงการเมกะโปรเจกต์ดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชน ว่า เป็นนโยบายขายชาติ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแย่งชิงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตรซึ่งควรจะถูกสงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ขณะที่ในความเป็นจริงชาวนาไทยเกือบครึ่งก็เป็นชาวนาที่ไร้ที่ดินอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นวิธีคิดที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามายึดครองภาคการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหารของประเทศอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น