ผ่าประเด็นร้อน
ในที่สุดรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ตัดสินใจย้ายศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) จากสนามบินดอนเมืองมาอยู่ที่อาคารเอนเนอร์ยี กระทรวงพลังงาน บริเวณห้าแยกลาดพร้าวถนนวิภาวดีรังสิต ได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว รวมไปถึงการทำลายความเชื่อมั่นจากประชาชน
ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงภาวะผู้นำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตกต่ำลงไปอีก เพราะการย้ายที่ทำงานของศูนย์ดังกล่าวมันหมายถึงความล้มเหลวในการประเมิน ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ทำให้มีผลต่อเนื่องได้อย่างดีว่าเป็นเพราะเหตุใดที่น้ำถึงได้ท่วมหนักหนาสาหัสอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งที่หากมีการคำนวณสถิติปริมาณน้ำเปรียบเทียบกับปีก่อนแล้วถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่เป็นเพราะขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดีอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้การแก้ปัญหารับมือภายหลังเหตุการณ์ก็เต็มไปด้วยความโกลาหล ขาดเอกภาพ ตัวบุคคลที่แต่งตั้งเข้าไปล้วนแล้วแต่เป็นพวกมือสมัครเล่น มองทุกอย่างเป็นการเมืองไปเสียทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์บานปลายเข้าขั้นเลวร้าย แต่กลับไม่ยอมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่สิ่งที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปก็คือยืนยันว่า “เอาอยู่” และเมื่อเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติก็จำต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัย มาตรา 31 เพื่อรวบอำนาจการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกมองว่า “สายเกินไป” อีกทั้งยังมีความหมายเพื่อต้องการเข้ามาล้วงลูกการทำงานของกรุงเทพมหานครภายใต้การนำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มาจากต่างพรรคเสียอีก
มีการแต่งตั้งให้รองอธิบดีกรมชลประทานเป็นผู้ถือกุญแจเปิดปิดประตูน้ำเพียงผู้เดียว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไร้ความหมาย ยังคงถูกชาวบ้านคัดค้านและทำลายคันกั้นน้ำอยู่ตลอดเวลา จนแทบจะเรียกได้ว่าสถานการณ์ไร้ความควบคุม และความเสียหายที่เกิดขึ้นมีจำนวนมหาศาลแค่ไหนไม่ต้องไปพูดถึงกันอีก
ขณะเดียวกันเมื่อสถานการณ์ได้พัฒนามาถึงขั้นนี้แล้ว หลายฝ่ายมองว่าการประกาศใช้กฏหมายพิเศษขึ้นมาควบคุมสถานการณ์ถือว่าไม่จำเป็น และไร้ความหมายแล้ว
อย่างไรก็ดีเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ต้น และพิจารณาถึงสาเหตุที่พยายามกีดกันไม่ให้กองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหา หรือเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็มีเหตุผลเข้าใจได้
อย่างแรกเป็นเพราะมีการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด “ดูเบา” กับปัญหา ยังใช้วิธีการด้าน “การตลาด”แบบพื้นๆเหมือนอย่างในอดีตมาตบตา เพื่อหวังผลทางการเมืองที่เคยใช้ได้ผลมานาน เพราะมีการประกาศใช้ “บางระกำโมเดล” รวมไปถึง “อุดรโมเดล” มีหลักการ “2 อาร์2พี” มาใช้อย่างโก้หรู แต่เมื่อทุกอย่างพลิกผันไม่เป็นอย่างที่คาดปริมาณน้ำสะสมอยู่ในเขื่อนจำนวนมาก โดยหวังว่าจะเป็นผลดีต่อการทำนาได้ทั้งปี รวมไปถึงส่งผลดีต่อโครงการประชานิยมจำนำข้าว ที่กำลังเริ่มโหมโรง
จนกระทั่งเมื่ออั้นต่อไปไม่ไหว เพราะมีพายุพัดถล่มประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหมาย ประกอบกับตัวบุคคลที่เคยมีการแต่งตั้งแก้ปัญหาล้วนแล้วแต่พวก “ของปลอม”จึงสร้างความล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น เพราะหากสังเกตให้ดีจะพบว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งให้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ มาเป็นแม่งานควบคุมศูนย์อะไรก็ไม่รู้ชื่อยาวเหยียดจนเวียนหัว ขณะที่ตัวเองก็เริ่มเดินสายไปเยือนต่างประเทศ ฝ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ทยอยเดินทางไปโค้งคารวะ ฮุนเซน เหมือนกับรายงานตัวก่อนเข้ารับตำแหน่งก็ไม่ปาน
จนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเลวร้ายจึงได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)ขึ้นมาซ้ำซ้อน โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการ แต่การทำงานก็เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ไม่เป็นเอกภาพต่างคนต่างทำ ไม่มีใครฟังใคร ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้พวก ส.ส.เพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงบางคนเข้าไปจัดการกับของบริจาคเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับมวลชนของตัวเอง นำไปหาเสียงกันหน้าด้านๆ จนมีข่าวเปิดโปงให้เห็นเป็นระยะ
ประการต่อมาแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ใช้กฏหมายพิเศษเข้ามาควบคุมปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ โดยให้ใช้กำลังทหารจัดการก็ไม่ยินยอม สาเหตุก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบทางการเมือง กลัวว่าทหารจะได้หน้าได้ตา แย่งผลงาน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วการเข้าไปช่วยเหลือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาทหารแทบทั้งสิ้น ขณะเดียวกันหากจะให้ทหารเข้ามาก็กลัวว่าจะขัดกับยุทธศาสตร์ที่ต้องการ “กดหัว” ลดบทบาทเอาไว้ เพราะอีกด้านหนึ่งกำลังจะแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม เพื่อจะรุกเข้ามาล้วงลูกการโยกย้ายในกองทัพในอนาคต ขณะเดียวกันหากสังเกตก่อนหน้านี้มีการเดินเกมให้ร้ายป้ายสีไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ ชินวัตรที่โจมตีเข้ามาว่าทหารบ้าอำนาจ ขัดขวางประชาธิปไตย ผสมโรงกับคำพูดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่กล่าวหาว่าทหาร “วางยา” แก้น้ำท่วมสารพัด
แต่เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อและสาหัสเกินคาดทำให้ต้อง “ยอมจำนน” หันมาเปิดรับข้อเสนอจากภายนอก ไม่ว่าใครจะเสนออะไรเข้ามาก็รับหมด ซึ่งก็เกิดขึ้นในช่วงที่ตัวเองใกล้จะจมน้ำ เห็นอะไรลอยมาใกล้ตัวก็รีบคว้าเอาไว้ก่อน ขณะเดียวกันปากแข็งบอกว่า “เอาอยู่” ตลอดเวลา ดังนั้นหากจะให้สรุปก็ต้องบอกว่าสถานการณ์ที่ล้มเหลวบานปลายอย่างที่เป็นอยู่อาจเป็นเพราะ ผู้นำบางคนเข้าข่ายโง่แล้วอวดฉลาด กลัวเสียหน้าแล้วดันทุรังมันก็เป็นต้นเหตุของหายนะอย่างที่เป็นอยู่ !!