xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์”เอาไม่อยู่ กทม.จม –น้ำลดเจอเช็คบิล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


การออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแบบกระทันหันของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อคืนวันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2554 ถือได้ว่าเป็นการยอมรับต่อประชาชนโดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการครั้งแรก

ว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยไม่รอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไปได้

แต่นายกรัฐมนตรีหญิงก็ยังพยายามให้คนกรุงเทพฯ มองโลกในแง่ดีว่า ความสูงของน้ำจะไม่มาก ต่ำสุด 10 เซนติเมตร แต่สูงสุดก็น่ากลัวไม่น้อยคือ 1.5 เมตร กระนั้นสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็คือมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาทำให้รัฐบาลเอาไม่อยู่ เช่นพนังกั้นน้ำแตก บนการหยอดคำสุดท้าย

“พวกเราจะฝ่าไปด้วยกัน” 

การออกทีวีพูลเช่นนี้ สิ้นเสียงของยิ่งลักษณ์ก็ทำให้คนกรุงเทพฯต้องดิ้นรนช่วยตัวเองกันแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ย้ำมาตลอดทุกครั้งว่า

“เอาอยู่ กรุงเทพฯปลอดภัยแล้ว”
หรือ “90 เปอร์เซนต์กรุงเทพฯจะไม่ท่วม”
และ “ศปภ.ดอนเมืองน้ำจะไม่ท่วมมาถึง”

แต่ทุกคำยืนยันก่อนหน้านี้ทั้งจากยิ่งลักษณ์-พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ก็เห็นชัดแล้วว่า

ต้มคนไทยซะเปื่อย  

 “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”จับกระแสคนในสังคมทุกหย่อมหญ้าไม่ว่าจะยากดีมีจน อาชีพไหน แม้แต่คนที่ไปเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ต่างมีความรู้สึกคล้ายกันว่า

ผิดหวัง-สิ้นหวัง กับยิ่งลักษณ์และศปภ.

ต้องยอมรับว่า ขณะนี้กระแสความไม่พอใจต่อตัวยิ่งลักษณ์ที่ล้มเหลวและไม่มีภาวะผู้นำในการสู้กับศึกน้ำ มีสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก่อนหน้านี้นับแต่เกิดศึกต่อสู้กับอุทกภัยน้ำท่วมตามหลายจังหวัดทั่วประเทศ รัฐบาลก็รับมือไม่ได้ ทั้งที่ ชัยนาท-นครสวรรค์-อยุธยาฯ -ปทุมธานี-นนทบุรี-ลพบุรี  ส่งผลให้มีผู้เดือดร้อนหลายล้านคน

กระแสประชาชนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อจากนี้ถือเป็นเรื่อง”อันตรายยิ่ง” หากคนกรุงเทพฯ-บริษัทห้างร้าน หลายล้านคนในกทม.ต้องเดือดร้อนเหมือนกับที่คนอยุธยาฯ-ปทุมธานี-นนทบุรีเจอ ประชาชนต้องอพยพหนีตายทิ้งบ้านเรือนชีวิตและทรัพย์สิน คนตกงาน บริษัทห้างร้านเสียหายจำนวนมาก

หากเกิดภาวะเช่นนี้ แม้การลุกฮือของประชาชนจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็ยากที่ยิ่งลักษณ์จะอยู่ในตำแหน่งได้อย่างราบรื่นท่ามกลางกระแสไม่เอารัฐบาล เพราะคนกรุงเทพฯที่ส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เห็นได้จากผลการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมาซึ่งเพื่อไทยพ่ายแพ้อย่างย่อยยับให้กับประชาธิปัตย์

ถ้าคนกรุงเทพฯต้องเจอภาวะ เดียวกับคนอยุธยา-นนทบุรี-ปทุมธานี แม้ไม่เสียหายขนาดนั้นก็ตาม แต่หากคนส่วนใหญ่ต้องได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแม้จะเป็นภัยธรรมชาติแต่ก็ต้องมีการเรียกร้องคนมารับผิดชอบ และเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัฐบาลและตัวยิ่งลักษณ์  

การรับมือกับสิ่งนี้ คนในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย-แกนนำพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่กับตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็คงคิดอยู่ว่าจะเตรียมหาหนทางเอาไว้ทางไหนบ้าง เพื่อกู้ภาพลักษณ์และศรัทธาความเชื่อถือให้ยิ่งลักษณ์อยู่ได้ และค้ำยันรัฐบาลไม่ให้ล้มไปเสียก่อน

ทั้งนี้กระแสการเมืองเริ่มพูดกันหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าหลังธันวาคมนี้ น่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยอาจไม่รอถึงกุมภาพันธ์ที่รัฐบาลจะมีอายุครบ 6 เดือน   หากว่ารัฐบาลยังอยู่ถึงตอนนั้น!

 ทิศทางของเรื่องนี้ “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”อ่านจากการขยับของคนในรัฐบาลเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยที่มีระดับแกนนำพรรคพวก 111-109 อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งเยาวภา-สมชาย วงศ์สวัสดิ์ -นพดล ปัทมะ-จาตุรนต์ ฉายแสง

 ตั้งแต่น้ำเริ่มจ่อกรุงเทพฯ  คนในกลุ่มนี้ก็วางแผนการโยนความผิดพลาดในการรับมือน้ำท่วมแล้วว่า เกิดจากรัฐบาลและตัวยิ่งลักษณ์ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนจากหน่วยงานอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทยซึ่งก็คือ กรมชลประทาน ที่พรรคชาติไทยพัฒนารับผิดชอบ

ซึ่งคนในทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยอ้างว่า กรมชลประทานไม่ป้อนข้อมูลเรื่องระดับน้ำ การกักน้ำ การระบายน้ำ ให้ยิ่งลักษณ์ทำให้การตัดสินใจรับมือล่าช้าและประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง

และหากน้ำลด พรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณให้ลูกหาบในพรรคทั้งพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อดีตส.ส.สิงห์บุรี-สหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี-สุชาติ ลายน้ำเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(เฉลิม อยู่บำรุง)อดีตส.ส.ลพบุรี รวมถึงพวกส.ส.อีสานในพรรคเพื่อไทยที่เคยออกมาแสดงความเห็นให้พรรคเพื่อไทย คุมกระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาติไทยพัฒนาคุม

โดยจะให้พวกนี้ออกมาหวดชาติไทยพัฒนาอีกรอบใหญ่ 

ก็เป็นการโยนความผิดการเมืองให้พรรคชาติไทยพัฒนารับไปเต็มๆ จากนั้นก็ตามด้วย การปรับครม.ที่อาจจะมีการดึงกระทรวงเกษตรฯมาดูเองทั้งหมด โดยแลกกับกระทรวงอื่นที่เพื่อไทยดูแลอยู่

แม้ต่อให้ บรรหาร ศิลปอาชา ที่บ้านย่านจรัลสนิทวงศ์กำลังจ่อจะท่วมอีกหนึ่งคน ทำฮึดฮัดไม่ยอม แต่ถ้าเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร เอาจริง ชาติไทยพัฒนามีหรือจะกล้า เพราะตอนนี้กระแสสังคมส่วนหนึ่งก็เห็นแล้วว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น กรมชลประทาน ที่ชาติไทยพัฒนาดูแลอยู่ คือตัวการใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบ 

นี้คือจังหวะที่ดีที่สุดของยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ที่ต้องหาแพะบูชายัญ ที่คงไม่ใช่แค่นักการเมืองในกระทรวงเกษตรฯ-ข้าราชการในกรมชลประทาน แต่อาจมีอีกหลายส่วน ตรงนี้ต้องจับตาดูให้ดี

หลังเกิดกรณีการเด้ง พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผวจ.ปทุมธานี เข้ากรุผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย โดยไม่รอให้ถึงช่วงฤดูโยกย้าย ก็เป็นการบ่งบอกให้เห็นแล้วว่า มันคือการที่รัฐบาลหาคนที่ต้องรับผิดชอบกับการปล่อยให้น้ำท่วมปทุมธานีโดยไม่มีระบบป้องกันและเตือนภัยรวมถึงช่วยเหลือประชาชนที่ดีกว่าที่ควรจะเป็น  ซึ่งการเชือดนายพีระศักดิ์มีคนปทุมธานีหลายส่วนไม่เห็นด้วยเพราะมองว่านายพีระศักดิ์ทำงานดีแล้ว

การหาแพะรับบาป ที่จะเกิดขึ้นหลังน้ำแห้ง ก็เป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องทำไปเพื่อลดแรงเสียดทาน ก่อนที่จะถูกประชาชนขับไล่ ถ้าสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นคนกรุงเทพฯครึ่งค่อนเมืองต้องอพยพหนีน้ำออกจากบ้าน-ที่พักเป็นแรมเดือน  ไม่มีใครยอมแน่นอน

 แม้ตอนนี้ยิ่งลักษณ์จะพยายามแก้ปัญหาด้วยหลายมาตรการที่ออกมาทั้งการบังคับใช้มาตรา 31 พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 -การออกมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ 27-31 ตุลาคม 2554 เป็นวันหยุดราชการยาว 5 วันในพื้นที่ภัยพิบัติ 21 จังหวัด

หรือการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายความรับผิดชอบป้องกันดูแลพื้นที่สำคัญ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯเช่น พื้นที่สำคัญอาทิพระบรมมหาราชวัง โรงพยาบาลศิริราช มีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหมรับผิดชอบ

คำสั่งแบ่งพื้นที่ดังกล่าว ก็คือการมอบอำนาจไปแล้ว หากรัฐมนตรีคนไหนทำงานล้มเหลว ป้องกันพื้นที่ตามคำสั่งไม่ได้ จะถูกประเมินผลงานโดยทักษิณแน่นอนว่าจะให้อยู่ต่อหรือปรับออกในการปรับครม.   

หรือการออกมาตรการเยียวยาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ออกสารพัดแพคเกจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยใช้งบเพื่อการนี้กว่า  3.25 แสนล้านบาท รวมถึงการออกมาตรการจูงใจเพื่อรักษาการลงทุนในประเทศไทย หลังจากมีโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมเกือบ9,859 โรงงานได้รับผลกระทบหยุดการดำเนินการ  รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 237,410 ล้านบาท

รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อสร้างแรงจูงใจจำนวนมากอาทิสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนนิคมอุตสาหกรรมจะคิดดอกเบี้ย 3เปอร์เซนต์เป็นระยะเวลา 3 ปีหรือการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าลงทุนใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม หรือฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหาย อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะแรก

          ทุกมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูประเทศ ก็ต้องทำไป ล้วนเป็นสิ่งที่ดี และต้องทำ ทุกคนล้วนสนับสนุน แต่ในทางการเมือง ก็ต้องแยกออกมา เมื่อน้ำแห้ง ยิ่งลักษณ์ จะอยู่ต่อไปอย่างไรท่ามกลางความสูญเสียจำนวนมากขนาดนี้ของประเทศ

 นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาใหญ่ของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย-ประเทศไทย ที่หวั่นวิตกแล้วว่าจะยอมให้ประเทศบริหารโดยผู้นำอ่อนหัดแบบนี้ต่อไปได้หรือ?

                

กำลังโหลดความคิดเห็น