วิศวกรรมสถาน แถลงการณ์ ฉ.4 แนะรัฐเร่งป้องกันความเสียหายพื้นที่กรุงเทพฯ สั่งชะลอน้ำจากเขื่อน ก่อนดันน้ำที่จ่อหัวออกทะเลให้เร็วที่สุด โดยการเปิดประตูระบายน้ำทุกประตูไปยังทุ่งตะวันออก-ตะวันตก พร้อมเร่งกรมชลฯสูบน้ำเต็มกำลัง
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ (วสท.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เรื่อง การป้องกันความเสียหายร้ายแรง ที่อาจเกิดจากวิกฤตน้ำท่วม โดยระบุว่า เป็นที่แน่ชัดว่า หากปล่อยให้สภาวะน้ำท่วม เป็นไปตามสภาพปัจจุบัน จะมีโอกาสสุูงมากที่ กทม.และพื้นที่โดยรอบ จะได้รับความเสียหายในระดับรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มาก กล่าวคือ
ก.เมื่อมวลน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา (จังหวัดชัยนาท) ซึ่งมีจำนวนมหาศาลเคลื่อนตัวผ่านลงมาสบทบกับน้ำที่อยู่ส่วนล่าง คือมวลน้ำจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และ นนทบุรี ระดับน้ำทางด้านเหนือของ กทม.จะเพิ่มสูงขึ้นมาก
ข.หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตามสภาพที่เป็นอยู่ มวลรวมของน้ำดังกล่าวจะเกิดการสะสมจนไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ทัน มีผลทำให้ระดับน้ำทางด้านเหนือของ กทม.เพิ่มขึ้นสูงกว่าพนังกั้นน้ำของ กทม.และการเสริมความสูงของพนังกั้นน้ำจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันการ ทำให้เกิดน้ำท่วม กทม.ในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ (วสท.) จึงขอเสนอวิธีการและมาตรการ ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เป็นระบบ และเป็นขั้นตอน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวข้างต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ทำการชะลอน้ำที่จะลงมาสบทบจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยปรับการเปิดปิดประตูระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา อย่างมีนัยสำคัญ
2.ลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลงให้มากที่สุด เพื่อมิให้มวลน้ำเหนื่อเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มปริมาณโดยไม่จำเป็น
3.ทำการเปิดประตูระบายน้ำทุกบาน ที่จะระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไปยังทุ่งฝั่งตะวันออกและตะวันตก
4.การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ในทุ่งบริเวณ อยุธยา ปทุมธานี และ นนทบุรี สามารถเคลื่อนตัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและระบายลงสู่ทะเลได้ดีขึ้น
5.การชะลอมวลน้ำ จะทำให้ระดับน้ำลดลง และมีเวลาเพิ่มขึ้นในการซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำต่างๆ
6.น้ำที่ระบายไปทางทุ่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะเคลื่อนตัวไปถึงจังหวัดต่างๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการป้องกันความเสียหายโดยวิธีการต่างๆ เช่น
6.1.ทำการแจ้งเตือนล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสม
6.2.สร้าง หรือเสริมพนังกั้นน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันเขตตัวเมืองและเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ
7.กรมชลประทาน และ กทม.จะต้องร่วมดำเนินการดังนี้
7.1.กรมชลประทานจะต้องดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำอย่างเต็มกำลังทุกสถานี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานีทางด้านทิศตะวันออกและด้านใต้สู่คลองชายทะเล จังหวัดสมุทรปราการ
7.2.เร่งขุดลอกคลองระบายน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำให้สอดคล้องกับความสามารถของสถานีสูบน้ำ
7.3.เร่งระบายน้ำเข้าสู่ระบบคูคลอง และอุโมงค์ระบายน้ำของ กทมง อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสูบน้ำออกทางด้านใต้ของ กทม.ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
8.เมื่อดำเนินการตามวิธีการข้างต้นสำเร็จแล้ว จึงพิจารณาดำเนิการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตามความเหมาะสมต่อไป
วิธีการและมาตรการดังกล่าวจะได้ผลต่อภาครัฐ ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนข้างต้น และควรทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่างๆที่อาอจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน
ถามรายละเอียดได้ที่สำนักงาน วสท.โทรศัพท์ 0-2319-2410