เบื้องหลัง นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้นำศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ตัวจริง ดิ้นหาทางกู้น้ำท่วมที่กำลังจ่อท่วมกรุงเทพมหานคร
ไม่ให้ท่วมทะลักจนอาจทำให้รัฐบาลจมไปกับสายน้ำ ด้วยการประกาศใช้มาตรา 31 ของพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
กฎหมายนี้มีสาระสำคัญ คือ การปรับการใช้อำนาจจากเดิมที่ยิ่งลักษณ์ตั้ง ศปภ.โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาเป็นใช้มาตรา 31 พ.ร.บ.ป้องกันภัยฯ ที่จะทำให้ทุกหน่วยราชการ-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่จะใช้อำนาจผ่าน ศปภ.
แม้กรุงเทพมหานครจะเป็นองค์กรปกครองพิเศษ แต่ตัวคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 17/2554 จะลงรายละเอียดที่กรุงเทพมหานครก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี-ศปภ.หากหลีกเลี่ยงจะมีความผิดตามกฎหมาย
อันมีแนวทางปฏิบัติเช่นการตั้ง ศปภ.ส่วนหน้าที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วยการให้คนของกระทรวงมหาดไทยเช่นพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทยไปนั่งประจำการ
เห็นได้ชัดว่า มันคือการกระชับอำนาจจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามให้ข่าวว่าไม่ได้รับความร่วมมือจาก กทม.ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝ่ายประชาธิปัตย์ที่บริหารกรุงเทพฯ ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้น้ำเข้า กทม.
แต่รัฐบาลและ ศปภ.ต้องการระบายน้ำออกไปให้เร็วและมากที่สุด เพื่อลดการขังของทุ่งน้ำจำนวนมาก ที่ยังเจิ่งนองกักขังอยู่อีกหลายพื้นที่
กว่าที่ยิ่งลักษณ์จะคลอดมาตรา 31 นี้ออกมา ว่ากันตามจริงถือว่าล่าช้าด้วยซ้ำ เพราะตามข่าววงใน ศปภ.บอกว่า มีการหารือกันมาครั้งแรกตั้งแต่ 8 ตุลาคม หลังการเปิดศูนย์ ศปภ.หนึ่งวันคือเปิด 7 ตุลาคม
ตอนนั้นยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ใน ศปภ.เสียงแตก บางส่วนก็เห็นด้วย แต่อีกบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เพราะประเมินกันว่ารัฐบาลน่าจะเอาอยู่
ข่าววงในบอกว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มวิกฤต นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งพังทลาย และเริ่มเห็นปัญหาการทำงานกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แนวคิดการให้นายกรัฐมนตรีบังคับใช้มาตรา 31 พรบ.ป้องกันฯ ก็เริ่มถูกพูดถึงอีก ในระดับผู้บริหาร ศปภ.
จนมีการส่งเรื่องไปขอคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการจากฝ่ายกฎหมายในพรรคเพื่อไทย โดยคนที่ได้รับมอบหมายงานนี้คือ นายพิชิต ชื่นบานส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทย ทนายความผู้โด่งดังจากคดีที่ดินรัชดาฯ กับกรณีเงิน 2 ล้านบาท
เพื่อให้ตรวจดูข้อกฎหมายว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน จะมีผลดีผลเสียอย่างไร และต้องออกคำสั่งอะไรมารองรับด้วยหรือไม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายดูแล้วก็เห็นดีด้วย และเสนอแนะให้ทำทันที
ขณะที่อีกทางหนึ่ง กลุ่มอดีตไทยรักไทยในมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย เช่น โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา-พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี-วิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรมช.มหาดไทย ก็ไปเปิดสำนักงานของมูลนิธิ 111ย่านนางเลิ้งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งวงเสวนาเรื่อง “พาไทยฝ่าวิกฤตอุทกภัย เพื่อประชาชนพ้นภัยรวดเร็ว”
มีการพูดถึงแนวคิดเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 31 พรบ.ป้องกันฯ ว่า สมควรใช้แนวทางนี้ดีกว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
หลายข้อเสนอที่ตรงกันออกมาแบบนี้ จึงเป็นที่มาของการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นทางการเมื่อ 21 ตุลาคม บนความเห็นชอบด้วยกันทั้งหมดจากรัฐมนตรี-ศปภ.-ผู้นำเหล่าทัพที่ไปประชุมกันที่ ศปภ.ดอนเมืองเมื่อ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา
กว่าจะคิดและทำอะไรได้ สมแล้วกับที่ชื่อ “ปู” ที่เชื่องช้าเสียเหลือเกิน