รัฐบาลจัด 4 ชุดคณะทำงานฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม ก.แรงงาน เตรียมฝึกอาชีพให้ผู้ใช้แรงงานกว่าครึ่งล้าน พร้อมจ่ายชดเชยร้อยละ 50 ตามเกณฑ์ พม.มั่นใจศูนย์พักพิงเอาอยู่ ด้าน ศธ.สั่ง ขรก.หยุดงานยาว 10 วัน พร้อมของบเพิ่ม 3 พันล้าน ให้ครูกู้
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม)
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ว่า จากการประเมินพบว่า มีผู้ใช้แรงงานราว 6.2 แสนคน ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะว่างงานจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เบื้องต้นนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการฝึกอาชีพระยะสั้นในระหว่างว่างงาน รวมถึงการสำรวจข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือ จากผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ เพื่อนำมาประมวลผลในภาพรวมทั้งหมด ทั้งนี้ ยังมีส่วนของกองทุนประกันสังคมที่จะชดเชยรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบถึงขั้นเลิกจ้าง โดยจะได้รับค่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ของกองทุนประกันสังคม คือ ร้อยละ 50 ของรายได้ ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง
ขณะที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ทางกระทรวงมีความพร้อมที่จะดูแลผู้ประสบภัย โดยเฉพาะการตั้งศูนย์พักพิงและสนับสนุนศูนย์พักพิงของหน่วยงานอื่น รวมทั้งทำการสำรวจข้อมูลของผู้ที่มาอยู่ในศูนย์ว่ามีความเดือดร้อนด้านใดบ้าง อาทิ ที่อยู่อาศัย อาชีพ และสุขภาพ ที่จะได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะเข้าไปดูแล
ขณะที่ ด้านสุขภาพจิต นายสันติ กล่าวว่า ได้มีหน่วยสร้างสุขเข้าไปดูแลอยู่ตลอดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของประชาชน นอกจากศูนย์พักพิง 30 แห่งที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ดูแลอยู่ ได้มีการจัดตั้งโรงครัว 240 แห่ง ทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะริมถนนที่ประชาชนพักอาศัยชั่วคราว ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานได้ระดมเจ้าหน้าที่จากจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบมาช่วยเหลือ ทำให้มั่นใจว่าคนทำงานจะเพียงพอ
นายสันติ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งรัดกำหนดแผนงานเยียวยาสำหรับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่กำลังถูกมวลน้ำโจมตีอย่างหนัก ส่วนการส่งแผนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ทำแผนระยะสั้นก่อนภายใน 15 วันนี้ และหลังจากนั้น อีก 15 วัน ให้กำหนดแผนในระยะที่ 2 ต่อไป
ด้าน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมได้มีการแบ่งคณะทำงานเป็น 4 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานกลั่นกรองโครงการ โดยมีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯเป็นประธาน 2.คณะติดตามกำกับการทำงาน มีปลัดสำนักนายกฯเป็นประธาน 3.คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน และ 4.คณะประสานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ ในเบื้องต้นนั้นได้รับการประสานจากสถานทูตไทยในต่างประเทศว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาสของต่างประเทศ จะมีชาวต่างชาติแจ้งความประสงค์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของการประสานความช่วยเหลือให้กับประชนด้านศูนย์พักพิง ยังไม่มีการตั้งศูนย์อพยพที่เป็นศูนย์กลางจากรัฐบาลเพิ่มเติม เพราะขณะนี้ได้ใช้โรงเรียน 338 แห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาฯเป็นที่พักพิงอยู่ ซึ่งหากประชาชนต้องการเข้ามาพักพิงหรือติดต่อ สามารถโทรศัพท์ตรวจสอบได้ที่หมายเลข 1579 หรือวิทยุของศูนย์เสมารักษ์ได้
นายวรวัจน์ ยังได้กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการว่า ได้มีคำสั่งให้ตั้งแต่วันที่ 20-30 ต.ค.นี้ ข้าราชการให้หยุดทำงานประจำ และให้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประภัยน้ำท่วม ส่วนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้สั่งให้มีการเก็บสิ่งของขึ้นไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนความเสียหายของสถานศึกษาในสังกัด ล่าสุดมีจำนวน 2,396 แห่ง เบื้องต้นในการประชุม ครม.วันที่ 25 ต.ค.นี้ จะมีการเสนอของบประมาณเป็นจำนวน 1.4 พันล้านบาทเพื่อซ่อมแซม นอกจากนั้นทางกระทรวงศึกษาฯอยู่ระหว่างสารหาช่องทางช่วยเหลือนักเรียนที่อุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนเสียหาย ว่า จะให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร เบื้องต้นอาจจะมีการประสานไปทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯเพื่อขอรับบริจาค หรือจัดซื้อทดแทน
ขณะที่ ด้านบุคลากรทางการศึกษา เตรียมที่จะปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 2-3 ปี ให้กับบุคลากรที่บรรจุเป็นข้าราชการกู้ในวงเงิน 1-2 แสบบาท เพื่อนำๆไปซ่อมแซมที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นทางกระทรวงได้มีงบประมาณที่จะปล่อยกู้แล้ว 700 ล้านบาท แต่คาดว่าไม่เพียงพอ จึงเตรีมเสนอของบประมาณอีก 3,000 ล้านบาท จากกระทรวงการคลังเพื่อนำมาปล่อยกู้เพิ่มเติม
สำหรับกรณีภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายวรวัจน์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดถึงกรณีดังกล่าว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหากให้ทหารเข้ามีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหา ก็คงจะไม่สามารถแก้วิกฤตนี้ได้ อีกทั้งหากให้เจ้าหน้าที่ทหารลงปฏิบัติงานในพื้นที่ อาจทำให้เกิดกระกระทบกระทั่งกับประชาชนได้ เนื่องจากทหารส่วนใหญ่ยึดติดระบบทหารและเอาแต่ใจ ซึ่งในพื้นที่ใดที่มีความเครียดอยู่แล้ว ก็อาจเพิ่มความตรึงเครียดให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า รัฐบาลยังรับมืออยู่