xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเตือนจากนักลงทุนญี่ปุ่น ความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะเรียกประชุมหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจเพื่อประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งหาแนวทางและมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น เช่น มาตรการผ่อนปรนภาษี การช่วยเหลือภาคแรงงาน ฯลฯ

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า หากจะประเมินความเสียหายในขณะนี้นั้นยังเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละโรงงานความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมูลค่าเกินแสนล้านบาท นอกจากจะกระทบต่อด้านทรัพย์สิน ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศ การผลิตที่ต้องหยุดชะงัก ความเสียหายทางด้านแรงงาน

น้ำท่วมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นต่อชีวิต ทรัพย์สิน และการผลิตในภาคเกษตรกรรม แต่น้ำท่วมครั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยก้าวเข้าสุ่ยุคอุตสาหกรรม ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศต่อเนื่องมายาวนาน 50 ปี

นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้านแรงน้ำไม่ไหว พังทลายไปแล้ว ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในจังหวัดปทุมธานี อย่าง นวนคร บางกระดี และในเขตกรุงเทพฯ คือ นิคมลาดกระบัง รวมทั้งนิคมฯ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ต่างอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการจมน้ำ หากระบบการป้องกันไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้

นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความสำคัญในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญของโลก หรืออย่างน้อยที่สุดมีความสำคัญในระดับภูมิภาค โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก ฯลฯ ทั้งในและต่างประเทศ เป็น “ต้นน้ำ” ของห่วงโซ่อุปทาน หรือซัปพลายเชนของอุตสาหกรรมใหญ่ๆระดับโลก กระแสน้ำที่ทลายคันกั้นน้ำเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมโรจนะนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมแฟคตอรี่ แลนด์ ไม่ได้ทำลายเพียงทรัพย์สิน เครื่องจักรของโรงงานในนิคมเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ขาดสะบั้นลงทันที

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 2 ราย คือ โตโยต้า และฮอนด้า ต้องประกาศหยุดการผลิตรถยนต์เป็นการชั่วคราว แม้โรงงานประกอบรถยนต์จะไม่ได้ตั้งอยู่ในนิคมเหล่านี้ แต่ต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงงานในนิคมเหล่านี้ นอกจากนั้น บริษัทไพโอเนียร์ นิคอน โซนี่ และโรงงานผลิตชิ้นส่วน ไมโครชิป และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หลายแห่งก็ประสบความเสียหายอย่างหนักด้วย

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เฉพาะหน้าคือรายได้จากการส่งออกที่จะลดลง เพราะทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ล้วนเป็นสินค้าส่งออกที่อยู่ใน 5 อันดับแรกของสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด และการว่างงานของแรงงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน

ความสูญเสียในระยะยาวซึ่งจะตามมาหลังน้ำลด คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงทุนทางตรงในประเทศไทยมากที่สุด และมากกว่า 70%ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

ครั้งนี้เป็นการลงทุนของญี่ปุ่นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทย นอกจากทำเลที่ตั้ง เศรษฐกิจภายในที่มีเสถียรภาพและมีขนาดใหญ่ ค่าแรงงานต่ำ นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเป็นจำนวนมาก ก็คือการปลอดจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงแต่นับจากนี้ไปต้นไป ประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำท่วมอย่างรุนแรงและป้องกันไม่ได้ อยุธยา และปทุมธานี ซึ่งใกล้กรุงเทพฯ ใกล้สนามบิน ใกล้แหล่งแรงงานมีฝีมือ มีเส้นทางเชื่อมโยงกับฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำในภาคตะวันออก และท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในเขตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ต่อไปนี้คือพื้นที่เสี่ยงสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ทั้งที่เป็นการลงทุนใหม่ และการขยายการลงทุนที่มีอยู่แล้วคงไม่มีนักลงทุนชาติไหนอยากเสี่ยงกับภัยพิบัติที่เห็นแล้วว่ามีอยู่จริง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีอีกหากไม่มีพื้นที่อื่นที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ก็คงเลือกไปลงทุนในประเทศอื่นแทน

สำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบความเสียหายในครั้งนี้จะกลับมาดำเนินการต่อไป หรือจะถอนการลงทุนออกไปเลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหุ่นเชิดว่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการกอบกู้เยียวยาสถานการณ์ครั้งนี้ให้กลับเป็นปกติได้หรือไม่ และจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ในอนาคตได้อีกหรือไม่

นายเซ็ตซึโอะ อิอุจิ ประธานเจโทรด้านเอเชีย และเอเชียใต้ บอกว่า ยังเร็วเกินไปในตอนนี้ที่จะประเมินว่าจากอุทกภัยครั้งนี้จะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงในการลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหา (ของรัฐบาล) ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการทำให้น้ำลด และจะปฏิบัติต่อนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างไร หากปล่อยให้น้ำท่วมไปนานๆ นักลงทุนญี่ปุ่นอาจจะเริ่มมองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยง

ถือได้ว่าเป็นคำเตือนแบบอ้อมๆ ตามธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นที่ไม่นิยมการปะทะ วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ที่เตือนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์ และเป็นการให้เวลารัฐบาล และนายกรัฐมนตรีโคลนนิ่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงว่ามีความตั้งใจจริง และมีฝีมืออีกครั้ง หลังจากที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้

หากยังคงกระโดดขึ้นกระโดดลงเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินดูน้ำท่วมอยู่บนฟ้า และรับมอบสิ่งของจากผู้บริจาค ไม่มีภาวะผู้นำ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตัวเอง ไม่กล้าสื่อสารโดยตรงกับสังคม มอบหมายให้คนอื่นทำแทนโดยอ้างอิง “ท่านนายกฯ มีบัญชา” ขนาดคนไทยด้วยกันเองยังเบือนหน้าหนี กองเชียร์พวกเดียวกันเองยังตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก พูดไม่ออก ก็อย่าหวังเลยว่าคนต่างชาติที่มีทางเลือกมากกว่าคนไทยมากมายจะเชื่อมั่นในประเทศไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น