ชาวโป่งอาง ซัดกลมชลฯเล่นสกปรก โผล่โต้กลุ่มค้านสร้างอ่างน้ำแม่ปิง ผ่านเว็บไซต์ แฉ เอาคน 13 คน ร่วมประชุม แต่เหมารวมชาวบ้านทั้งหมดมีส่วนร่วม-ปิดบังจุดประสงค์สำรวจระบบนิเวศ วอนเห็นใจคนในพื้นที่ต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ยันเดินหน้าคัดค้านจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่ปรึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พี แอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด และกรมชลประทาน เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านโครงการดังกล่าว พร้อมให้เหตุผลโต้แย้งต่อข้อคัดค้านของชาวบ้าน
เอกสารการชี้แจงเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้าน ดังกล่าวระบุว่า กลุ่มผู้คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ซึ่งอ้างว่าเป็นพี่น้องประชาชนบ้านโป่งอาง ม.5 ต.เมืองนะ ชุมชนลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน/ลุ่มน้ำแม่คอง เครือข่ายทรัพยากรอำเภอเชียงดาว พี่น้องปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม ได้จัดทำแถลงการณ์ เรื่อง “ขอคัดค้านการดาเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” [A] มีข้อสังเกตการศึกษาโครงการในประเด็นต่างๆ ซึ่งทางที่ปรึกษาและกรมชลประทานขอชี้แจงในแต่ละประเด็นดังนี้
1.การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการ ที่เป็นจริงรอบด้าน เช่น กรณีการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางคณะศึกษาได้เบี่ยงเบนประเด็น โดยพยายามอธิบายในเรื่องการพัฒนาและซ่อมแซมระบบชลประทานเดิมให้มีประสิทธิภาพ มิได้กล่าวถึงโครงการสร้างอ่าง (เขื่อน) แม่น้ำปิงตอนบนแต่อย่างใด
คำชี้แจง ในการดำเนินงานก่อนเริ่มงาน ได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือ ในช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม 2553จำนวน 4 เวที ประกอบด้วยเวทีที่ 1 ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง ผู้เข้าร่วมประชุม 13 คน เวทีที่ 2 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองนะ ผู้เข้าร่วมประชุม 23 คน เวทีที่ 3 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลพระธาตุปู่ก่ำ ผู้เข้าร่วมประชุม 22 คน และเวทีที่ 4 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว ผู้เข้าร่วมประชุม 93 คน โดยเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ พบว่า ในพื้นที่ อ.เชียงดาว ได้เสนอปัญหาเกี่ยวกับการชำรุดของโครงการชลประทานเดิม การพัฒนาฝาย/โครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ชุมชนเสนอ และเห็นด้วยกับการศึกษาอ่างเก็บน้าแม่ปิงตอนบน (อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมที่อาจจะมีความรุนแรงในอนาคต
ผลจากการประชุมปรึกษาหารือดังกล่าว กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้นำมาจัดทำกรอบและแผนการศึกษาโครงการ นำเสนอในการประชุมปฐมนิเทศโครงการในวันที่ 21 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การจัดทำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน และการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน โดยในการจัดทาแผนพัฒนาแหล่งน้ำประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ การปรับปรุงโครงการเดิม การพัฒนาแหล่งน้ำระดับชุมชน และการพัฒนาแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ (อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน) ส่วนการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ประกอบด้วย ขั้นตอนการศึกษา การสำรวจ และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศ ทส.29 ธันวาคม 2552
หลังจากการนำเสนอแผนการดำเนินงานในการปฐมนิเทศโครงการ (Public Scoping) แล้ว ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการชลประทานเดิม แผนการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดกลางและขนาดเล็กในลุ่มน้ำ และการกำหนดที่ตั้งโครงการ นำมาเสนอในการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 มีนาคม 2554 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 96 คน เปิดโอกาสให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็น และสรุปผลการประชุมส่งให้กับเทศบาลตำบล และหน่วยงานราชการในอำเภอเชียงดาวในวันที่ 5 เมษายน 2554
นอกจากนี้ ในการประชุมทุกครั้ง ได้มีการพบปะผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การประชุม ข้อมูล และรายละเอียดในการประชุมแต่ละครั้ง พร้อมทั้งเชิญผู้มีส่วนได้เสียของโครงการให้เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง อีกทั้งในเอกสารประกอบการประชุมปฐมนิเทศโครงการในวันที่ 21 มกราคม 2554 ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน และขั้นตอนการศึกษา การสำรวจโครงการอย่างละเอียด
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในการศึกษาโครงการตั้งแต่เริ่มศึกษา ได้มีการชี้แจงและให้ข้อมูลข่าวสาร การดำเนินงานของโครงการทุกระยะและทุกด้าน ทั้งในส่วนของแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ และการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ผ่านทางผู้นำชุมชน การประชุม ติดประกาศตามเทศบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ ในอำเภอเชียงดาว
2.กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มีการดึงเอาหน่วยงานราชการ ชุมชนนอกพื้นที่ มาเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาโครงการเป็นหลัก
คำชี้แจง ในกระบวนการมีส่วนร่วมได้เปิดโอกาสให้คนในชุมชนโดยเฉพาะบ้านโป่งอางเข้ามามีส่วนร่วมและตัดสินใจ โดยก่อนเริ่มศึกษาโครงการ ได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือในลักษณะ Focus Group ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และในระหว่างการศึกษาโครงการ ได้เชิญผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง
สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาโครงการ ได้มีชาวบ้านโป่งอางได้สมัครเข้าร่วมเป็นอาสาท้องถิ่น ตั้งแต่เดือนตุลาคมจำนวน 8 คน และได้ร่วมสำรวจในด้านแหล่งท่องเที่ยว สัตว์ป่า ป่าไม้ คุณภาพน้ำ นิเวศทางน้ำ การประมง แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ และด้านสุขภาพ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างอาสาท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทำให้การศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การศึกษายังได้นำเอาข้อคิดเห็น และคำแนะนำจากคนในชุมชนที่เสนอในการประชุมและพบปะแต่ละครั้งเข้ามาประกอบการศึกษาโครงการ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำขอให้มีการใช้ประโยชน์ในชุมชนอำเภอเชียงดาวเป็นลำดับแรก ไม่มีการผันน้ำไปยังลุ่มน้ำอื่น มีการระบายน้ำในฤดูแล้งเพื่อรักษาระบบนิเวศ การศึกษาต้องเน้นที่ความปลอดภัยของอาคารหัวงานและชุมชนในพื้นที่ สิทธิประโยชน์ของการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการที่จะมีในอนาคต เช่น ให้สิทธิในการประมงในอ่างเก็บน้ำ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งส่วนแบ่งรายได้อื่นๆ ที่จะเกิดจากการพัฒนาโครงการ ขอให้พิจารณาชุมชนหมู่ 5 เป็นลำดับแรก ซึ่งคณะผู้ศึกษาได้นำมาเป็นกรอบการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการระยะต่อไป
3.ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรีบในการดำเนินการ ขัดหลักวิชาการ ขาดรายละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างรอบด้าน
คำชี้แจง การศึกษามีระยะเวลา 20 เดือน (ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ) กระบวนการศึกษาและขั้นตอนในการดำเนินการ เป็นไปตามหลักการของกรมชลประทานและครอบคลุมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศ ทส.29 ธันวาคม 52
โดยในระหว่างการดำเนินการ จะมีการประชุมย่อยหลายครั้งเพื่อนำเสนอผลการศึกษาในแต่ละขั้นตอน ได้แก่ การจัดทำแผนการพัฒนาลุ่มน้ำ การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ความก้าวหน้าการศึกษา การคัดเลือกองค์ประกอบ รายละเอียดโครงการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบ ซึ่งครอบคลุมทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาจะนำรายละเอียดทั้งหมดไปเสนอต่อชุมชนเพื่อให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
4.ที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนโป่งอางดังกล่าว อยู่ห่างจากชุมชนเพียงแค่ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้าแม่ปิง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ป่าชุมชน ของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนผ่านระบบเหมืองฝายของหมู่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่ จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
คำชี้แจง ที่ตั้งของโครงการได้พิจารณาจากแนวทางเลือก 3 ทางเลือก โดยทางเลือกที่คัดเลือกจะมีปริมาณน้ำท่ามาก และตำแหน่งที่ตั้งโครงการที่อยู่ใกล้เคียงกับชุมชน ทำให้การเข้าถึงพื้นที่โครงการสะดวกกว่าทางเลือกอื่น ช่วยส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของชุมชนได้ (ข้อมูล จากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 และการพบปะผู้นำชุมชนในช่วงเดือนมีนาคม 2554)
ส่วนด้านความปลอดภัยของโครงการ ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของหัวงาน โดยเฉพาะด้านแผ่นดินไหว รวมถึงได้ศึกษาวางแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ และการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับโครงการ ในรูปแบบเดียวกับเขื่อนขุนด่านปราการชล (จ.นครนายก) ที่ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับเขื่อนและสามารถต่อยอดในด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ (พื้นที่น้ำท่วม) อยู่บริเวณชายขอบอุทยานแห่งชาติผาแดง และบางส่วนมีการให้สิทธิทำกินกับชาวบ้านในหมู่ 5 แล้ว โดยพื้นที่อ่างเก็บน้ำจะจำกัดอยู่ในบริเวณช่องเขา ซึ่งไม่กระทบกับพื้นที่อุทยานส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และป่าชุมชน ที่สำคัญของคนในชุมชน
และในการศึกษา จะพิจารณาแนวทางการแก้ไขและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ส่วนการไหลในแม่น้ำปิง อ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่กักเก็บชะลอน้ำส่วนเกินในฤดูฝน นำไปใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่ อ.เชียงดาว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการระบายน้ำรักษาระบบนิเวศในฤดูแล้ง จึงไม่เกิดผลกระทบต่อการไหลในลำน้ำในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
อย่างไรก็ตาม นางสาวธิวาภรณ์ พะคะ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง แสดงความเห็นต่อ กรณีการชี้แจงข้อมูลผ่านเว็บไซต์โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน กรมชลประทาน ว่า คำชี้แจงนี้ทางบริษัทที่รับจ้างและกรมชลฯ ควรจะตอบต่อหน้าชาวบ้านมากกว่า การอาศัยชี้แจงเหตุผลผ่านทางเว็บไซต์เช่นนี้เป็นการใช้วิธีการที่สกปรกมาก พร้อมระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวไม่มีความโปร่งใส ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในโครงการนี้ เพราะหากมีการก่อสร้างโครงการจริงชาวบ้านจะต้องได้รับผลกระทบ แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยความจริงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
“ชาวบ้านต้องถูกเวนคืนที่ดินหรือย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แล้วเราจะต้องได้รับผลกระทบอีกมหาศาล ความเป็นพี่เป็นน้องก็ต้องมีการแยกจากกัน วัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่อยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในพื้นที่อำเภอเชียงดาวก็จะไม่หลงเหลือ”
“อยากจะฝากผ่านทางกรมชลประทาน ให้มีความเมตตาชาวบ้าน และทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เรามีความเชื่อว่าจะจบลงที่กรมชลประทาน ถ้ากรมชลประทานยุติ หรือเลิกสัญญาจ้างกับทางทีมที่เข้ามาศึกษาโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมา ทีมศึกษาฯ นั้นได้มาหลอกทั้งชาวบ้านและหลอกทั้งกรมชลประทาน โดยการใช้ทุกวิธีต่างๆ ซึ่งมาถึงตอนนี้ ชาวบ้านทุกคนก็ยืนยันจะไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อน ไม่ยอมให้เข้ามาศึกษาอีกต่อไป ถึงแม้จะมีการส่งทีมใหม่เข้ามาศึกษาอย่างไรก็ตาม ทางชาวบ้านเองก็จะไม่เอาอยู่แล้ว” นางสาวธิวาภรณ์ กล่าว
ขณะที่ นายกลิ้ง ผู้อาวุโสหมู่บ้านโป่งอาง วัย 74 ปี กล่าวว่า ทุกวันนี้ นอนไม่หลับ ก็เพราะการเครียดเรื่องของเขื่อนที่เขาจะมาสร้างนี่แหละ มันมีความน่ากลัว เปรียบเสมือนจมูกที่เกิดการอุดตัน และลำน้ำเป็นร่องเล็กๆ เวลาที่ถูกปิดกั้นลำน้ำก็จะขึ้นสูง ถ้ามีการเก็บกักก็จะเทียบเท่ากับตึก 20 กว่าชั้นเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ผู้อาวุโสของหมู่บ้านโป่งอางยังเรียกร้องไม่ให้มีการก่อสร้างหรือการสำรวจกระบวนการศึกษาต่างๆ เนื่องจากคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง
“ที่ผ่านมา พวกเขาบอกข้อมูลแต่ส่วนดี และพยายามจะเข้ามาอยู่ แน่ละ พอเขื่อนสร้างขึ้นมาแล้ว พวกท่านไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ท่านอยู่ที่อื่น อยู่ที่กรุงเทพหรือที่ไหน ที่ไม่ใช่พื้นที่สร้างเขื่อน และท่านก็จะบอกว่าสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่ชาวบ้านต้องอยู่ที่นี่ชาวบ้านจะเป็นตายร้ายดีช่างมัน แล้วถ้าเกิดพังขึ้นในวินาทีเดียว เวลากลางคืน เวลาคนนอนหลับ เงียบ ไม่รู้นอนคดคู้อยู่ ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ก็ตายทั้งหมด ไม่มีใครที่จะเอาตัวรอดได้ แม้กระทั้งสัตว์” นายกลิ้ง กล่าวทิ้งท้าย