xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทบ.รับอุทกภัยหนัก สั่งเปิดค่ายทหารอพยพ ปชช.เข้าพักชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  (แฟ้มภาพ)
ผบ.ทบ.รัฐสถานการณ์อุทกภัยปีนี้หนัก กองทัพระดมยุทธโธปกรณ์ช่วยเต็มที่แล้ว แต่ห่วงช่วยไม่ทั่วถึง วางแผนกำหนดโซนนิ่งส่งทหารลาดตระเวนเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่หน่วยราชการยังไปไม่ได้ พร้อมสั่งวิทยุทหารรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับทราบตลอด เตรียมอพยพผู้เดือดร้อนเข้าค่ายทหาร ด้าน “ประวิตร” นำทหารบูรพาพยัคฆ์ บริจาคช่วยน้ำท่วม รับห่วงภาคกลางเดือดร้อนสุด ปลุกอนุรักษ์ป่า ป้องกันน้ำท่วมระยะยาว


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมว่า กองทัพบกได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง และสั่งให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทุกกองทัพภาคเร่งมือเข้าไปสนับสนุน อำนวยการกับหน่วยที่เกี่ยวข้องตามนโยบายนายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาคือน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะ จ.ลพบุรี ที่มีประชาชนเดือดร้อนหลายหมื่นคน จึงสั่งการเพิ่มเติมให้ช่วยกรมชลประทานซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี จ.สิงห์บุรี โดยเจ้ากรมการทหารช่างที่ไปสนับสนุนกรมชลประทานในการซ่อมระบุว่า ต้องใช้ตะกร้าหิน 7,000 ตะกร้า แต่ขณะนี้ทำได้เพียงวันละ 1,000 ตะกร้า ซึ่งต้องเวลาทำไม่ต่ำกว่า 7 วัน เผื่อเวลาไว้อีก 2 วัน แต่เต็มที่ไม่น่าเกิน 10 วัน ตนจึงสั่งการขอให้ทำให้ได้ภายใน 10 วันหรือน้อยกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ในการขนหินเพราะพื้นที่แคบ แม้จะมีคนจำนวนมากก็ไม่สามารถทำให้เสร็จได้โดยเร็ว แต่จะพยายามทำให้ได้โดยเร็วที่สุด ขั้นต้นเป็นการซ่อมเพื่อปิดกั้นระดับน้ำในระดับหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมือคืนที่ผ่านมาได้มีน้ำไหลหลากมาจาก จ.เชียงราย และเชียงใหม่ทำให้ประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า ไม่ได้รับการช่วยเหลือจึงสั่งให้แม่ทัพภาคที่ 3 ลงไปดูแล และประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ตนเป็นห่วงในขณะนี้คือ การช่วยเหลือไม่ทั่วถึงและปัญหาความซ้ำซ้อนที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ตนจึงกำหนดให้วางแผนในลักษณะเดียวกันกับของทหาร โดยกำหนดพื้นที่โซนนิ่งให้ชัดเจน เพื่อเข้าไปลาดตระเวนดูแลว่า ส่วนราชการเข้าไปถึงหรือไม่ ถ้าเข้าไม่ถึงทหารจะนำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปช่วยเหลือได้อย่างไร รวมถึงการวางแผนอพยพครอบครัวออกมานอกพื้นที่

ส่วนพื้นที่ที่น้ำเริ่มเน่านั้น สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ ต้องอพยพประชาชนและสัตว์เลี้ยงออกมาก่อน และจะต้องนำดาต้าบอล หรือจุลินทรีย์โยนลงในน้ำเพื่อให้เกิดออกซิเจน ซึ่งจะต้องผลิตจำนวนมาก ต้องเข้าใจว่าปริมาณน้ำท่วมเป็นแสนไร่ แต่เชื่อว่าคงช่วยบรรเทาได้บ้างแม้จะไม่ได้ทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ทหารใน จ.ลพบุรี ได้สั่งให้หน่วยทหารในพื้นที่เตรียมอพยพประชาชนเข้ามาอยู่ในค่ายทหาร โดยเฉพาะโรงเรียนในหน่วยทหาร ซึ่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ได้เตรียมการวางแผน แต่ปัญหาอยู่ที่ประชาชนอยากอยู่ใกล้บ้าน ไม่อยากไป

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้จัดหาเรือทั้งติดเครื่องและไม่ติดเครื่องจากงบ ที่ได้รับบริจาค รวมถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ใช้ถ่านเพื่อรับฟังข่าวสารข้อมูล นำไปแจกให้กับประชาชน โดยจะให้สถานีวิทยุในเครือข่ายกองทัพกว่า 100 สถานีจัดรายการพิเศษขึ้นมาเพื่อสามารถติดต่อกับประชาชนให้ได้รับทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร

“ขณะนี้น้ำมีปริมาณท่วมและกระจายไปในทุกพื้นที่ กองทัพบกพยายามทำอย่างเต็มที่ เพราะถือว่า ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับพื้นที่สัญจรไปมาที่ไม่สามารถเดินทางได้ ผมสั่งให้กองร้อยขนส่งทหารบก นำรถบรรทุก 2 ตันครึ่งจำนวน 20 คันลงไปบรรเทาความเดือดร้อนที่ จ.ลพบุรี เพื่อรับส่งจากอำเภอหนึ่งไปยังอำเภอหนึ่ง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหีรับการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้จัดไปแล้ว 10 กว่าชุด แต่ยังไงก็คงไม่พอเพราะพื้นที่กว้าง และเราไม่มีชุดแพทย์จำนวนมาก คงต้องค่อยๆ แก้ไขไป ส่วนกรณีที่มีโจรไปขโมยสิ่งของ เรื่องนี้ต้องประสานกับตำรวจว่าดูแลอย่างไร ต้องประณามพวกที่กระทำ เพราะไปซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน แทนที่จะช่วยกัน พวกนี้ต้องลงโทษอย่างหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ในฐานะประธานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้บริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการบรรเทาทุกข์ขั้นต้นให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยมอบเรือพายจำนวน 18 ลำ และเครื่องเวชภัณฑ์จำนวน 5,000 ชุด ให้แก่กองทัพภาคที่ 1 โดยมลฑลทหารบกที่ 13 และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ โดยมี พล.อ.อุดมเดช สัตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับมอบเพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบภัยต่อไป

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งส่วนภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมกันบริจาคเงินและสิ่งของต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย เช่น มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 3 แสนบาท, พล.ท.สุพล ไชยพิณ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบกรามอินทรา บริจาคน้ำดื่มจำนวน 200 โหล, คณะนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 17 มอบเงินจำนวน 60,000 บาท, สถานีตำรวจนครบาลบุคคโล มอบเรือพายจำนวน 5 ลำ และน้ำดื่ม 100 แพก, ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร มอบชุดยาสามัญประจำบ้านจำนวน 5,000 ชุด โดยมี พล.อ.กิตตติพงษ์ เกษโกวิท อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมมาร่วมงานด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ลำพังมูลนิธิฯอย่างเดียวคงไม่มีอำนาจที่จะสื่อไปยังประชาชนได้ คงต้องอาศัยกองทัพในการนำสิ่งของอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ เหล่าบรรดาผู้ใจบุญทั้งจากภาครัฐ เอกชน และห้างร้านบริษัทต่างๆ นำมาบริจาคผ่านมูลนิธิฯไปมอบให้กับประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.อ่างทอง, สระบุรี และลพบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด และมูลนิธิฯ จะร่วมเป็นสื่อกลางรับบริจาคสิ่งของช่วยน้ำท่วมต่อไป

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พื้นที่ที่ห่วงมากเป็นพิเศษในขณะนี้ คือ พื้นที่ในส่วนภาคกลาง ใน จ.ลพบุรี, ชัยนาท และอุทัยธานี ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ คือ การช่วยสนับสนุนในทุกเรื่อง และช่วยอย่างเต็มที่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่ามีความน่าเป็นห่วงพอสมควร ในส่วนที่ตนทำได้ก็จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น การเปิดรับบริจาคสิ่งของ หากใครมีความประสงค์ที่จะบริจาคเราก็จะรับแล้วจัดทำเป็นถุงยังชีพส่งต่อไปช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะปลุกจิตสำนึกการปลูกป่าหรือไม่ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งของน้ำท่วมเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ เราก็ดูแลเรื่องป่าที่เป็นรอยต่อ 5 จังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งจากที่ตนเป็นประธานมูลนิธิมา 6 ปี ก็เห็นว่าสภาพป่าในช่วงนี้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เป็นต้นน้ำลำธารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งเรื่องนี้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ทรงเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะเป็นป่าที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ และเป็นป่าที่ยังสมบูรณ์เพียงแห่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งเดิมทีมีอยู่ 13 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกจนเหลือเพียงล้านกว่าไร่เท่านั้น พื้นที่ที่ตนรับผิดชอบประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก ซึ่งก่อนหน้าที่ตนจะมาดูแลก็มีเรื่องไฟป่าประมาณปีละ 500-600 จุด แต่ปัจจุบันไม่มีเลย ยิ่งเราไปเปิดการอบรมให้ความรู้ก็ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจดีขึ้น คิดว่าถ้าทุกคนทุกพื้นที่ช่วยกัน จะช่วยให้การรณรงค์ส่วนนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีใครทำได้หรอกนอกจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วม จะต้องช่วยกัน ซึ่งการบุกรุกป่าที่มีนายทุนเข้ามาในพื้นที่นั้น หากประชาชนไม่ร่วมมือนายทุนก็ทำอะไรไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น