xs
xsm
sm
md
lg

“บัณฑูร” นายกฯน้อย คอมมานโดเฉพาะกิจ

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

บัณฑูร สุภัควณิช
ผ่านการทำงานมาได้เดือนเศษแล้ว สำหรับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากซีอีโอภาคธุรกิจผันตัวเองสู่เส้นทางการเมือง ที่เคยนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ ต้องมาทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ท่ามกลางการจับจ้องจากทุกคนทุกฝ่ายภายในประเทศ

“ยิ่งลักษณ์” ยังคงปรับตัวให้เข้ากับระบบการบริหารเมืองได้ไม่ดีนัก เพราะสิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตจนเชี่ยวชาญคือการบริหารเชิงธุรกิจ ดังนั้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อปรับอะไรให้มันเข้าที่เข้าทางขึ้น

จึงไม่น่าแปลกในที่ “ยิ่งลักษณ์” จะมีทีมงานเลขานุการ ที่ปรึกษา รายล้อมรอบตัวในช่วงต้นเยอะเป็นพิเศษ ยังไม่นับที่ปรึกษาสูงสุดอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังหลบหนีคดีอาญาอยู่ต่างประเทศ ทีมที่ปรึกษาพิเศษอย่างสมาชิกบ้านเลขที่ 111-109 ตลอดจนนักวิชาการในเครือข่าย

ทุกฝ่ายทุ่มกำลังพยายามประคับประคองนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ให้ก้าวเดินบนเส้นทางสายใหม่ให้มั่นคงตลอดรอดฝั่ง

เพราะภารกิจบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์” ถือว่าหนักอึ้ง สำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่อ่อนด้อยประสบการณ์การเมือง

วันนี้สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ในเชิงการเมือง “ยิ่งลักษณ์” ยังสู้รบปรบมือกับฝ่ายตรงข้ามไม่ไหว แรงกระแทกกระทั้นที่ถาโถมเข้ามาส่วนใหญ่ถูกผ่องถ่ายไปยัง นักการเมืองจอมเก๋า เฉลิม อยู่บำรุง จนคนป้องปากนินทากันให้แซดว่าบทบาทนายกฯตกไปอยู่ที่ร.ต.อ.เฉลิมหมดแล้ว

การเมืองประเทศไทยอย่างไรเสีย มันก็ต้องเกี่ยวพันกับการใช้สำนวนโวหาร วาทศิลป์ทางการพูดจาอย่างแยกไม่ออก ซึ่งจุดนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแหล่งในการสร้างบุคลากรลักษณะนี้ ลองได้เป็นฝ่ายค้านเมื่อไหร่ รัฐบาลไหนก็รัฐบาลนั้นถ้า ไม่มีลูกล่อลูกชนที่ดีพอ รับประกันซ่อมฟรี เจองานช้างแน่

เหลือบไปมองทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือโฆษกรัฐบาล ก็เห็นกันแล้วว่ายังอ่อนเชิงการเมือง การชี้แจงตอบโต้ยังไม่ทันเกมฝ่ายค้าน แต่ละราย แต่ละอนงค์ ล้วนหน้าใหม่ ไร้ประสบการณ์ เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

ตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งที่จะโฟกัสเข้าไปคือ “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” หรือที่คนเรียกขานว่า “นายกฯน้อย” ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็จะใช้ตำแหน่งนี้เป็น “กันชน” ให้นายกรัฐมนตรี ดูดซับแรงกระแทก พร้อมสะท้อนแรงเสียดทานกลับไป เหมือนเช่นสมัยพ.ต.ท. ทักษิณ ที่ตั้ง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” รับหน้าที่นี้

แต่วันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะตั้ง “บัณฑูร สุภัควณิช” เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับสมัยพ.ต.ท. ทักษิณ ที่ตั้ง “พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช” สมัยสมัคร สุนทรเวช ที่ตั้ง “ธีรพล นพรัมภา” ซึ่งมีภาพความเป็นนักการเมืองน้อย แต่ทำงานเก่ง มารับบทบาทตรงนี้

“บัณฑูร” อดีตผอ.สำนักงบประมาณ นับว่าเป็นคนดีมีฝีมือในระบบราชการ แต่ผลงานด้านการเมืองไม่ปรากฏ พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะใช้ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็นตัวกลั่นกรองงานในระบบราชการ งานด้านการบริหาร มากกว่ามาตอบโต้ห้ำหั่นทางการเมือง

เนื่องเพราะงานในระบบราชการมีกลไกที่ค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยาก เสี่ยงขัดต่อข้อกฎหมาย จึงอยากได้คนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยงานน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในส่วนนี้เป็นสำคัญ

“บัณฑูร” เป็นใครมาจากไหน อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก แต่ถ้าลองย้อนประวัติไปดูแล้วจะพบว่าไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหนสำหรับพรรคเพื่อไทย

อดีตผอ.สำนักงบประมาณ ชาวเมืองน้ำดำ บ้านเกิดจ.กาฬสินธุ์ มีธุรกิจกงสี “สุภัคโฮเต็ล” และเจ้าของโรงน้ำแข็ง ผู้นี้ มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนายใหญ่ พ.ต.ท.ทักษิณระดับคลุกวงในเลยทีเดียว เป็นเพื่อนเก่าแก่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนตั๊กกี้ ก่อนจะมาเป็นผอ.สำนักงบประมาณ

ช่วงปี 2515-16 บัณฑูร เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนตั๊กกี้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเรียนจบจากโรงเรียนนาย ร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ.2516) ก็ได้รับทุน ก.พ. เดินทางมาศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนตั๊กกี้เช่นกัน

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่าง บัณฑูร กับ ทักษิณ

อีกคนหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งร่วมก๊วนนี้คือ “ประภัตร โพธสุธน” กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา “ประภัตร”ได้เข้ามาเล่นการเมืองก่อนพ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณก็ใช้ความเป็นเพื่อนติดต่อดีลธุรกิจของตัวเองในภาคการเมืองผ่านทางนายประภัตรหลายต่อหลายครั้ง เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเรื่อยมา กินนอนเมามายเคียงข้างกันมาจนสนิทรู้ใจ โดยมีบัณฑูร ร่วมก๊วนด้วยเสมอๆ

เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาเล่นการเมือง ก็ช่วยเหลือเกื้อหนุนกับประภัตรแบบเข้าขารู้ใจ วันนี้เมื่อบัณฑูรเข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัว พ.ต.ท.ทักษิณก็จัดหนักให้ทันที เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถูกวางเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 13 แบบข้ามหน้าข้ามตาคนอื่นๆ พร้อมการันตีมีตำแหน่งในรัฐบาลแน่นอนถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง

สุดท้ายก็ถูกวางตัวมาเป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในโควตาสายตรงนายใหญ่ มุ่งหมายให้ช่วยเป็นธุระเรื่องงานบ้านเมือง กลั่นกรองเรื่องในระบบราชการให้นายกรัฐมนตรี

ผลงานที่ปรากฏชัดเจนว่า บัณฑูร ไม่เข้ามาข้องแวะเรื่องการเมืองสักเท่าไร งานสำคัญคือดูเรื่องงานเอกสาร ข้อระเบียบต่างๆ เช่นเรื่องการพิจารณาข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา ขั้นตอนการสรรหารายชื่อกสทช. ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ

เรื่องที่ดูเหมือน บัณฑูร มีบทบาทมากคือเรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร โดยทำการตีกลับคืนเรื่อง การขอเปิดอัตราจอมพลกลับไปยังกระทรวงกลาโหม ทำให้บัญชีโยกย้ายสะดุด ต้องปรับแก้กันเป็นโดมิโน ทำเอา ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เกาหัวแกรก ด้วยความเซ็งอารมณ์

มันเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องการปลัดกระทรวงกลาโหมชื่อ พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ตามที่รัฐมนตรีเสนอมา แต่ต้องการผลักดันพล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ให้เป็นแทน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของทางกองทัพพอดี งานนี้ ยุทธศักดิ์ เหมือนโดนสหบาทา

โดยมี “บัณฑูร” ออกหน้าลุยแทนนายกฯ และพรรคเพื่อไทย เมื่องัดข้อกันพักใหญ่สุดท้าย ยุทธศักดิ์ เองที่ต้องยอมถอย นี่เป็นบทบาทหนึ่งที่ “บัณฑูร” แสดงพาวเวอร์ให้เห็น ทำงานแบบเงียบๆ เรียบๆ แต่เมื่อถึงเวลาก็เงื้อดาบไล่ฟันเต็มที่ ถือเป็นขุนพลคู่กาย คอมมานโดลึกลับ รับภารกิจงานสำคัญเท่านั้น ไม่มีการแกว่งดาบซี้ซั้ว โฉ่งฉ่าง

น่าจับตาการทำงานต่อจากนี้ “บัณฑูร” ในฐานะนายกฯน้อย น่าจะเป็นคนทำเรื่องสำคัญๆ รับใบสั่งจากนายเหนือ นายใหญ่ เป็นหน่วยคอมมานโดเฉพาะกิจ จัดการแทนนายกรัฐมนตรี ไม่ให้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องเปลืองตัว!!
กำลังโหลดความคิดเห็น