“ยิ่งลักษณ์” คอนเฟอเรนซ์แก้ปัญหาน้ำท่วม พบเชียงใหม่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ผอ.ทรัพยากรน้ำฯ เผยแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ขีดความสามารถในการรองรับน้ำหมดแล้ว เสนอเร่งระบาย ผลักดันน้ำท้ายคลองลัดโพธิ์ออกทะเล พร้อมให้ระบายอีกด้านผ่านไปทางคลองด่าน และแม่น้ำท่าจีนก่อนล้นท่วมกรุงเทพฯ ด้านลพบุรียังอ่วม แนะอพยพคนเข้าเขตทหาร นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ดูแก้ปัญหาประตูระบายน้ำบางโฉมศรี พรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) และได้คอนเฟอเรนซ์ไปยัง 15 จังหวัดที่ได้สั่งการให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ค้างคืนเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดย
ศอส.ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัย 23 จังหวัดว่า พายุเนสาดได้อ่อนกำลังลงแล้ว ส่วนพายุนาลแกที่จะเข้ามาใหม่จะมีผลต่อประเทศไทยระหว่างวันที่ 5-6 ต.ค.ซึ่งต้องติดตาสถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและแถวชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนฝนในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มคลี่คลายเนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูหนาว ภาคกลางฝนกระจายตัวไม่หนักมาก แต่จะเปลี่ยนไปกระจายตัวภาคตะวันออกและภาคใต้
จากนั้นรัฐมนตรีได้รายงานสถานการณ์จากแต่ละพื้นที่ อาทิ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ใน จ.เชียงใหม่ ว่า ขณะนี้ น้ำในแม่น้ำปิงลดลงต่ำกว่าระดับปรกติแล้ว บริเวณเขตเทศบาลนครเชียงใหม่น้ำลดเหลือประมาณ 10 ซม.ได้นำเครื่องสูบน้ำสูบออก และได้ปล่อยคาราวานเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กองบิน 41 มณฑลทหารบกที่ 33 ไปทำความสะอาดถนนหลังน้ำลด คาดว่าเย็นวันนี้ทุกอย่างคงเรียบร้อย
ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผวจ.เชียงใหม่ ได้ขอกระสอบทรายเพิ่ม 5 แสนใบ เพื่อเตรียมการป้องกันน้ำท่วม เช่น กรณีหากได้รับผลกระทบจากพายุนาลแก และขอสนับสนุนให้มีการตั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ เพราะเหตุการณ์น้ำท่วม อ.ฝาง อ.สันทราย อ.แม่แตง ทำให้รู้ว่า ถ้ามี ปภ.ระดับท้องถิ่น จะมีพลังทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือการจัดทำระบบเตือนภัย ที่จำเป็นต้องใช้ภาพดาวเทียมประกอบ และใช้สถานีมากกว่า 5 สถานีมาคำนวณพร้อมกันเพื่อหามวลน้ำ ซึ่งคิดว่าการจัดทำระบบไม่น่าจะทันปีนี้ เพราะต้องเปลี่ยนกระบวนการเตือนภัยใหม่ ในส่วนของอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงเปลี่ยนระหว่างพายุเนสาดกับนาลแกจะมีผลต่อบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับเหตุการณ์ปัจจุบัน ตนคิดว่าปัญหาทางภาคเหนือยังไม่หนัก แต่ในเดือน ต.ค.น้ำทะเลสูง และฝนภาคกลางมีอยู่ ขณะที่ขีดความสามารถในการรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาหมดแล้ว การผลักดันน้ำที่คลองลัดโพธิ์ แทนที่จะทำบริเวณต้นคลอง อาจต้องทำท้ายคลอง และต่อมา คือต้องเร่งระบายน้ำออกจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยอาจต้องผ่านเข้าทางสุวรรณภูมิแถวคลองสองข้าง ป้อนไปยังปั๊มระบายน้ำที่คลองด่านให้ทันประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งต้องประสานกันทั้งนครนายก ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และการระบายน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน ต้องระวังไม่ให้มีเรือขวางปากแม่น้ำเยอะเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 49 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอให้นายรอยลและกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแนวทางการผันน้ำลงทะเล เพื่อหาข้อสรุปสำหรับแก้ปัญหาระยะสั้นด้วย
ขณะที่ นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง รายงานสถานการณ์ จ.ลพบุรี ว่า จังหวัดอื่นผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหลายจังหวัด แต่ลพบุรี ปัญหาเพิ่งเริ่มต้น ขณะนี้มีพื้นที่น้ำท่วมถึง 2.6 แสนไร่แล้ว ต้องขนย้ายผู้คนไปพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำงานมาอย่างหนักราว 1 สัปดาห์แล้ว แต่เวลานี้น้ำยังไหลเข้าพื้นที่อีกวันละร้อยล้าน ลบ.ม.ส่วนหนึ่งเข้ามาทางประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งพื้นที่ป้องกันยิ่งยวดรวม 3 จุด คือ อ.เมือง อ.ท่าวุ้ง อ.บ้านหมี่ แต่ถ้าน้ำไหลเข้ามาจนสูงขึ้นอีก 1 เมตร จะกันไม่อยู่ และอาจต้องอพยพคนเข้าค่ายทหารถึง 4-5 หมื่นคน
“ขณะนี้ลพบุรียังวิกฤต และอารมณ์ในพื้นที่คนก็มีปัญหา เขาตั้งความหวังกับการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี นอกจากนี้ ในการช่วยเหลือประชาชน และได้เอาทีมงานกระทรวงการคลังมาเสริมในการจัดการด้วย”
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข ซึ่งลงพื้นที่ลพบุรีเช่นเดยวกัน รายงานเสริมว่า ที่ลพบุามีผู้ประสบภัยทั้งหมด 6 อำเภอ บ้านเรือนถูกน้ำท่วม 22,428 หลัง หนักสุดที่ อ.เมือง และ อ.บ้านหมี่ ประชาชนถูกน้ำท่วมบ้านจนอาศัยอยู่ไม่ได้ ต้องมาอยู่ที่จุดอพยพ 4อำเภอ 89 จุด 5,377 คน ประกอบด้วย อ.เมือง 29 จุด 4,060 ราย อ.บ้านหมี่ 33 จุด 651 ราย อ.ท่าวุ้ง 16 จุด 520 ราย อ.ชัยบาดาล 11 จุด 146 ราย จากการตรวจเยี่ยมที่จุดอพยพโรงเรียนเทศบาล 1 มีผู้อพยพประมาณ 100 คน ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ส่วนผู้ใหญ่ยังอยู่เฝ้าบ้าน ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเคลื่อนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ออกมาอยู่ที่จุดอพยพ และประสานให้ ทหาร ตำรวจ ออกดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อคลี่คลายความกังวลเรื่องทรัพย์สินในบ้านจะถูกขโมย รวมทั้งดูแลเรื่องความสะอาด สุขาภิบาล สุขา การกำจัดขยะซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 1 แสนตัน โดยใช้สารอีเอ็มดับกลิ่นน้ำเน่าเหม็น พ่นสารเคมีกำจัดยุงป้องกันโรคติดต่อ และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำทุกจุดอพยพ
ในส่วนสถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วม 33 แห่ง ไม่สามารถให้บริการได้ ต้องออกไปให้บริการที่จุดอพยพ 15 แห่ง ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พบผู้ป่วย 10,561 ราย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกเยี่ยมกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ 7 กลุ่มถึงบ้าน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ลมชัก จิตเวช ผู้พิการผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หญิงตั้งครรภ์ หลังคลอด รวมทั้งหมด 10,906 ราย
ส่วนการดูแลด้านสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา จากโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะทาง เข้าดูแลผู้ประสบภัยทั้งหมด ร่วมกับทีมสุขภาพจิตของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี จากการตรวจคัดกรอง พบผู้ที่มีความเครียด ทั้งหมด 1,138 ราย ในจำนวนนี้เครียดสูง 48 ราย ซึมเศร้า 47 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 53 ราย และมีผู้ที่ต้องติดตามพิเศษเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายทุกราย แพทย์ต้องติดตามต่อเนื่องทั้งหมด 126 ราย ซึ่งสูงที่สุดในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมในขณะนี้
ภาพรวมของปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ประสบภัย 33 จังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจคัดกรองสุขภาพจิต พบมีความเครียด 32,944 ราย ในจำนวนนี้เครียดสูง 1,582 ราย ซึมเศร้า 3,326 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 443 ราย ต้องติดตามดูแลพิเศษ 685 ราย อันดับ 1 ได้แก่ ลพบุรี 126 ราย รองลงมาสิงห์บุรี 88 ราย สุโขทัย 86 ราย อุตรดิตถ์ 66 ราย พิจิตร 64 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งจะติดตามดูแลรักษาต่อเนื่อง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าฯ ลพบุรี กล่าวว่า วันนี้น้ำท่วม 74,000 กว่าครัวเรือน และมีการประเมินจะท่วมเช่นนี้มากกว่า 1 เดือน เด็กนักเรียนกว่า 8,000 คน หยุดเรียน ด้านนายสุชาติ ลายน้ำเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาประตูระบายน้ำบางโฉมศรีนั้น จะให้รออีก 15 วันคงไม่ไหว
นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย กล่าวด้วยว่า การที่ต้องปิดซ่อมประตูบางโฉมศรีนาน 15 วันทำให้ตนไม่พอใจ เพราะมีหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม มีประมาณ 300 โรงงานจาก 18 จังหวัดได้รับความเสียหาย นครสวรรค์ 72 โรงงาน รองลงมา ลพบุรี 50 โรงงาน รวมเสียหาย 700 ล้านบาท ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือโดยมาตรการต่างๆ อาทิ ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และปล่อยเงินกู้ซ่อมอาคาร
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบให้เพิ่มการประสานงาน เตรียมการในการป้องกันปัญหาจากน้ำท่วมให้รัดกุมมากขึ้น โดยครอบคลุมเรื่องปริมาณน้ำและความแรงของน้ำ พร้อม ฝากความห่วงใยถึงคนเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นที่กำลังเดือดร้อน
นอกจากนี้ยังฝากไปยังผู้ว่าฯ ให้ดูแลเรื่องการแจกถุงยังชีพให้ทั่วถึง และถ้าพื้นที่ไหนรถเข้าไม่ได้ ให้ประสานหน่วยทหารใช้เฮลิคอปเตอร์นำสิ่งของแจก โดยมอบให้นายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ประสานเรื่องนี้กับทางผู้ว่าฯทุกจังหวัด ในส่วนของ จ.ลพบุรี ที่มีปัญหาประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ในวันที่ 2 ต.ค.ตนจะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง และดูเรื่องการเร่งการซ่อมแซม ชะลอการระบายน้ำ
ส่วนที่ จ.ลพบุรีมีแผนสองจะอพยพประชาชนไปอยู่ในค่ายทหารนั้น ตนเห็นว่า แผนน่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันทีกับประชาชนบางส่วน นอกจากนี้ ขอฝากไปยัง กระทรวงการคลัง ทบทวนเรื่องระเบียบการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วม เร่งนำเงินเข้าสู่ระบบกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล ให้ประชาชนใช้เงินกองทุนนี้หลังน้ำลดได้ และขอฝากผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดในเรื่องการขุดลอกคูคลองเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย ทำความสะอาด และดูและเรื่องสาธารณสุข อาหารการกิน ดูแลทัศนียภาพ