xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ฝ่ายการเมืองเอี่ยวพลังงานทางทะเลได้ด้วยการมีหุ้นใน บ.ที่ได้สัมปทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“พล.ร.อ.ถนอม” จี้ตั้งซับเจทีซีดำเนินการเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อเดินหน้าเจรจาผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน นำพลังงานใต้ดินมาใช้ ระบุฝ่ายการเมืองจะได้ประโยชน์จากพลังงานทางทะเลได้วิธีเดียวคือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เชื่อการเปลี่ยนตัวประธานเจบีซีไม่กระทบแผนเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา

วันนี้ (28 ก.ย.) พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ในคณะกรรมการเจรจาเขตแดนทางทะเล ฝ่ายไทย กล่าวก่อนเข้าร่วมการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ปัญหา MOU พ.ศ. 2544 : เขตไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา ไทยเสียเปรียบจริงหรือ?” ถึงกรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา จากนายอัษฎา ชัยนาม มาเป็นนายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ ว่าโดยส่วนตัวมองว่าคงจะไม่กระทบต่อแผนการเจรจาพื้นที่เขตแดนทางบกที่เคยได้ดำเนินการมา เพราะเรื่องดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่ได้วางแนวทางการเจรจาไว้ทั้งหมดแล้ว ที่สำคัญหากการเจรจามีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนนั้น จำเปึนต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญมาตรา

อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่ารัฐบาลสามารถกำหนดขอบเขตและแนวทางการเจรจาเรื่องเขตแดนได้โดยผ่านทางประธานเจบีซี

พล.ร.อ.ถนอมกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่เขตแดนทางทะเลนั้นขณะนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีความคืบหน้า เพราะรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการตั้งหัวหน้าคณะเจรจาด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ซับเจทีซี) ขึ้นมาทำหน้าที่ ทั้งนี้ ตนมองว่าสาเหตุมาจากความหวาดระแวงว่าฝ่ายการเมืองจะเข้าไปมีผลประโยชน์ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าหากฝ่ายการเมืองจะเข้าไปมีผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้มีเพียงวิธีเดียว คือ เข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานในแหล่งพลังงาน

พล.ร.อ.ถนอมแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า หากไม่เร่งตั้งซับเจทีซีอาจทำให้ประเทศไทยเสียเวลาจำนวนมากในขั้นตอนการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อน และอาจกระทบต่อการใช้พลังงานด้านปิโตเลียมในอนาคตได้ เพราะจากตัวอย่างการเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานระหว่างไทย-มาเลเซียที่ผ่านมา ต้องใช้เวลาเจรจานานกว่า 13 ปีกว่าจะสามารถนำพลังงานมาใช้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น