“จาตุรนต์” สั่งลุยแก้มาตรา 291 ตั้ง ส.ส.ร.ทำประชามติ อ้างความชอบธรรมเพื่อให้ปชช.มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงวาระรัฐบาล ด้าน “สุธาชัย” ยันใช้บรรทัดฐานปี 40 เป็นหลัก ซัด ตุลาการฉิบหายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตั้งฉายา รธน.50 “รธน.กึ่งสภากึ่งอำมาตย์” แย้มปฏิรูประบบตุลาการ พร้อมเร่งเยียวยาเสื้อแดง เดินหน้านิรโทษกรรมคดีการเมือง หนุน หากอภัยโทษแล้วบ้านเมืองเดินหน้าได้ต้องทำ
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ 2550 : สิ่งที่ตกค้างจากการทำรัฐประหาร” จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เนี่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญตามวิธีการที่รัฐบาลเสนอ ขั้นตอนแรกจะทำอย่างไรให้กระบวนการนี้เริ่มได้ นั่นคือจะต้องแก้มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร. หลังจากนั้นให้ทำประชามติ และรัฐบาลจะอยู่หรือไปไม่สำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้จะยังอยู่ ประการสำคัญคือจะทำอย่างไรจะให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดี ใครต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและเกิดนิติธรรมก็จะต้องสนับสนุน ทั้งนี้ ต้องมีวิธีที่จะสื่อสารกับ ส.ส.ร.เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี ซึ่งจะต้องเข้าร่วมกับผู้ที่สนใจประชาธิปไตย องค์กรเพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหญ่ในการรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะสาเหตุที่ประชาชนต่อต้านรัฐธรรมนูญ 50 นั้น เนื่องจากมีการทำในแค่บางจังหวัด ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้จะทำอย่างไรให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เราจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว วันหนึ่งก็อาจถูกฉีกได้ แต่สำคัญอยู่ที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้ประขาชนตื่นตัว ซึ่งจะเป็นหลักประกัน ไม่ใช่แต่เพียงกระดาษ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญนี้จะแก้หรือไม่แก้มีคนคิดต่างกัน เพราะคิดว่าปัจจุบันนี้บ้านเมืองเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ตนคิดว่าหากไม่แก้จะวิกฤติมากกว่านี้ จะอาจจะเกิดรัฐประหาร ซึ่งสังคมต้องเลือกเอา
“หากมีการถามว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไหม สังคมไทยต้องเลือกเอาจะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะรอฉีกรัฐธรรมนูญแล้วค่อยไปสู้กัน ซึ่งจะทำอย่างนั้นทำไม ให้สังคมอยู่ดีๆ ไม่ดีกว่าหรือ ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องให้มีกระบวนการยกร่าง และทำการแก้มาตรา 291 จากนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการที่ประชาชนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งอนยู่ในตัวมันเอง แต่ผมเชื่อมั่นได้ว่าหากประชาชนเข้าร่วมกันอย่างจริงจัง เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” นายจาตุรนต์กล่าว
ต่อมา ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องใช้รัฐธรรมนูญ 40 เป็นตัวตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ค่อนข้างจะตายตัว โดยจะไม่ให้นักการเมืองเฉไฉไปจากที่ฝ่ายอำมาตย์กำหนด รัฐธรรมนูญ 50 นั้นค่อนข้างมีปัญหาอย่างมากในกรอบคิดของมันเอง เป็นกรอบของอมาตยาธิปไตย คือมาจากการไม่เชี่อมั่นในระบบสภาผู้แทนราษฎร และระบบเลือกตั้ง จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่บิดเบือน ใช้ระบบตุลาการตรวจสอบนักการเมืองมากเกินไป จนละเมิดอำนาจประชาธิปไตย ดังนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอำมาตย์ คำตอบง่ายๆคือ สิ่งที่อำมาตย์จะทำไม่บรรลุผลเลย เพราะความต้องการของอำมาตย์ในตอนนั้นคือต้องการจัดการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ความล้มเหลวที่สุดคือ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณทำนั้นทุจริต
“ความล้มเหลวของตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งต้องยอมรับว่า 5 ปีที่ผ่านมา ตุลาการฉิบหายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ฝ่ายตุลาการพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ว่าตัวเองทำหน้าที่อย่างยุติธรรม และอีกอย่างที่สะท้อนให้เห็นคือปรากฏการณ์ตาสว่างของประชาชน ที่ไม่เอาอำมาตย์มากขึ้นทุกวัน และสุดท้าย ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีมักจะได้รับความเห็นชอบจากอำมาตย์ แต่หลังปี 2549 ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีแต่ละคน ล้วนแต่เป็นคนที่ฝ่ายอำมาตย์ไม่ปลื้มจนต้องล้าถอย” ผศ.ดร.สุธาชัยกล่าว
ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 เป็นสิ่งที่มีไว้ล้มล้างระบบเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เป็นการเดินทางที่สวนทางกับระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้ ด้วยการยุบพรรค ทำให้การย้ายพรรคง่ายขึ้น ทำให้พรรคไม่มีความเข้มแข็ง ถูกแทรกแซงได้ง่าย ส่งเสริมให้ ส.ส.มีอิสระ และทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอลงด้วย มีตรวจสอบและกำกับที่มากขึ้น ประการสำคัญคือ เพิ่มอำนาจในการกำกับในฝ่ายควบคุมอย่างอมาตยาธิปไตย ซึ่งจะเห็นได้จากล้มลงของรัฐบาล 3 ชุดที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วมาจากศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกรัฐธรรมนูญ 50 ว่า “รัฐธรรมนูญกึ่งรัฐสภา” คือยอมรับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยังมีฝ่ายอำมาตย์คอยควบคุมดูแลอยู่ ดังนั้น สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ ตนคิดว่าการมีอำนาจของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะต้องมีมากกว่าฝ่ายข้าราชการเพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น
“การแก้รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเกิดอยู่แล้ว เพียงแต่ผมคิดว่ามันยังมีกฎหมายที่เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายอำมาตย์อยู่เยอะมาก ดังนั้น การมีส่วนรวมของคนทุกฝ่ายมีความสำคัญ ไม่เฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง แต่รวมไปถึงกลุ่มพลังต่างๆ ดังนั้น เราจะต้องสร้างระบบการเมืองที่จะทำให้ประชาชนมีเสรีภาพ เสมอภาค มีกลไกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งระบบแบบนี้จะทำให้เราสามารถเข้าไปสร้างความปลี่ยนแปลงที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และหากวันหนึ่งมีโอกาสเราจะได้เห็นกระบวนนั้น เราจะนำสังคม ไม่ใช่เพียงแค่คนเสื้อแดง แต่จะทำให้ทุกคนสังคมก้าวเดินต่อไป มีอนาคตร่วมกัน เราจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน” รศ.สมชายกล่าว
ขณะที่ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะกรรมการสถาบันและมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 นั้นถือเป็นการรอมชอมกันระหว่างพลังประชาธิปไตยรัฐสภากับพลังอมาตยธิปไตย จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับกึ่งรัฐสภากึ่งอมาตยาธิปไตย ภารกิจของขบวนการประชาธิปไตยในหลายปีข้างหน้า คือทำให้กฎหมายสูงสุดเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แน่นอนย่อมมีแรงต่อต้าน แรงเสียดทานจากพลังอมาตยาธิปไตย แต่พลังเหล่านี้ไม่สามารถทัดทานกระแสธารของประชาชนได้ในปัจจุบัน ดังนั้น หากมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วยังมีการฉีกรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอีก มวลชนจะออกมาเต็มท้องถนน ดังนั้น หน้าที่ของ ส.ส.ร.อีกอย่าง คือ จะต้องทำหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศไทยด้วย เพราะประเทศไทยหลีกเลี่ยงการปฏิรูปประเทศไม่ได้ และจะต้องปฏิรูปด้วยพลังประชาชน โดยการทำจะต้องยึดโยงกับภาคประชาชน เพราะสสร.มาจากการเลือกตั้ง
“ภารกิจของกระบวนประชาธิปไตยต่อจากนี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะมีหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้ง ที่มาของ ส.ว. ที่มาขององค์กรอิสระ และยังทำให้สถาบันพรรคการเมืองมีความอ่อนแอลง ทั้งนี้ ในประเด็นการให้อำนาจกับองค์กริสระนั้นไม่เป็นปัญหา แต่การตั้งองค์กรอิสระขึ้นมานั้นมันไม่ได้มาอย่างถูกต้อง เพราะมาจากคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมในประเทศไทยและเกิดกระแสว่าจะต้องปฏิรูประบบตุลาการหรือไม่ และระบบตุลาการจำเป็นจะต้องยึดโยงอำนาจกับประชาชนในทางใดทางหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาสิ่งเหลานี้ก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทย โดยมีการแบ่งแยกกันชัดเจน” ดร.อนุสรณ์กล่าว
ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ความสงบในบ้านเมืองจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่ทำความจริงให้ปรากฏ หน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งมาโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว เราควรจะต้องเอามารวบรวมข้อเท็จจริงให้หมด ต้องไปหาความจริงจากข้อเท็จจริง เพราะคนเหล่านั้นต้องได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด โดยต้องมาดูว่าจะต้องมาเยียวยาวกันอย่างไร ตลอดจนพวกที่โดนคดีทางการเมืองทั้งหลายจะต้องคืนความเป็นธรรมให้ทั้งหมด เราจะต้องนิรโทษกรรม แม้จะมีความผิด เนื่องจากเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้อภัยกันได้ เพื่อสังคมจะเดินหน้าไปด้วยกันอย่างสงบสุข จึงจำเป็นต้องอภัยโทษ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่ทำแบบนี้ หากความข้ดแย้งมันขยายวงมาก ดังนั้นจะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ด้วย
“จะนิรโทษ หรืออภัยโทษให้ใคร จะต้องดูหลักนิติรัฐว่าขัดกันไหม หากขัดย่อมไม่อาจทำได้ เพราะถ้าทำจะเกิดปัญหาขึ้นมา และการจะนิรโทษจะต้องไม่ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะต้องทำให้ทุกคน เพื่อความเสมอภาค ซึ่งบ้านเมืองจะเดินหน้าได้ ส่วนหนึ่งเป็นของประชาชน และอีกส่วนหนึ่งคือชนชั้นนำที่จะต้องเสียสละ” ดร.อนุสรณ์กล่าว