xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพโพลล์ชี้นักเศรษฐศาสตร์ค้านตั้งกองทุนมั่งคั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรุงเทพโพลล์” สำรวจพบนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ค้านรัฐบาลดันตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ เหตุเศรษฐกิจโลกผันผวน อัตราเสี่ยงสูง แถมระบบการเมืองไทยไม่เอื้อ เสี่ยงเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน-ทุจริต ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยที่แบงก์ชาตินำกองทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 29 แห่ง จำนวน 67 คน พบว่า ส่วนใหญ่ 50.7% ค้านแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาล โดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนที่ไม่ใช่เงินของคลังหลวง เงินหนุนพันธบัตร และทองคำหลวงตามหาบัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูงและมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตขึ้นอีก ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนและอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ดังนั้น ประเทศไทยควรเน้นรักษาสภาพคล่องไว้ใช้ในยามฉุกเฉินมากกว่านำมาลงทุน

ขณะเดียวกันยังเห็นว่า ระบบการเมืองและระบบราชการไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการจัดตั้งกองทุนฯ อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการทุจริตคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ยังมองว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นสินทรัพย์ที่มีเจ้าของ หรือเจ้าหนี้ (นักลงทุนต่างชาติ) และเมื่อหักเงินจำนวนนี้แล้วทุนสำรองที่เป็นของคนไทยเองก็ไม่ได้มีมากมายที่เพียงพอที่จะนำไปลงทุนอย่างคุ้มค่า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเห็นว่า หากจะมีการจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวขึ้นแล้วจะนำไปลงทุนในแหล่งพลังงาน เช่น บ่อน้ำมันในต่างประเทศ แต่เห็นด้วยที่จะนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภายในประเทศ

ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.2 ยังไม่เห็นด้วยต่อการบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปัจจุบันที่เน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

นักเศรษฐศาสตร์ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฯ ได้แก่ 1.ให้ตั้งคณะทำงานที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการศึกษาในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุน แหล่งที่มาของเงินลงทุน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน กรอบในการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยง เป็นต้น

2.เงื่อนไขที่สำคัญในการจัดตั้งกองทุน คือ ความพร้อมของฝ่ายการเมืองที่ต้องไม่มีคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน และต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุน อีกทั้งควรมีระบบติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ความโปร่งใส และมีหลักธรรมาภิบาล และ 3.แหล่งที่มาของการจัดตั้งกองทุนควรมาจากแหล่งอื่นๆ มากกว่าที่จะมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่น การระดมทุนจากประชาชน เงินกำไรจากรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น