ผ่าประเด็นร้อน
เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้คดีสอบสวนกระบวนการสรรหาและคัดเลือก กสทช.เป็นคดีพิเศษจึงให้ดีเอสไอเข้าไปสอบสวนเรื่องนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ทำท่าจะยึกๆ ยักๆ
ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องการจะทูลเกล้าฯ รายชื่อว่าที่ 11 อรหันต์ กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
สำหรับเรื่องคดี ประธานคณะกรรมการคดีพิเศษโดยตำแหน่งคือนายกรัฐมนตรี แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝายความมั่นคงรับผิดชอบเข้าประชุมแทนไป 7 กันยายนที่ผ่านมา
แต่เมื่อเสียงเตือนจากนักกฎหมาย-ส.ว. รวมถึงผู้ได้รับการคัดเลือกเป็น 11 กสทช.ประสานเสียงตรงกันว่า ยิ่งลักษณ์ไม่มีอำนาจชะลอการทูลเกล้าฯ ใดๆ ได้เลย จะอย่างไรก็ต้องทูลเกล้าฯ เท่านั้น
ไม่เช่นนั้นก็เสี่ยงจะโดนถอดถอนออกจากตำแหน่ง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกพวก 11 กสทช.ยื่นฟ้องหรือเอาผิดได้ ความผิดทำให้เสียหายเนื่องจากตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ชัดเจนดังนี้
“ให้ผู้ได้รับการเลือกเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ประชุมร่วมกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการครบจำนวนแล้วเพื่อคัดเลือกผู้สมควรเป็นประธาน
กรรมการคนหนึ่งและรองประธานกรรมการสองคน แล้วแจ้งผลให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป”
การจะยื้อเรื่องไม่ทูลเกล้าฯ รายชื่อกสทช.จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนที่กฤษฏีกากำลังดูข้อกฎหมายอะไรต่างๆ อยู่ เพราะตอนนี้เรื่องการเลือกกสทช.มีคนร้องไปหลายช่องทางเหลือเกิน
มีทั้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ดีเอสไอ และอาจจะมีบางคนก็พยายามจะยื้อให้ได้ โดยไปร้องศาลปกครองอีกเพื่อหวังล้มกสทช.
ทว่า กฤษฎีกาก็คงได้แค่ดูตามข้อกฎหมายพรบ.องค์กรฯ เท่านั้น แล้วก็ทำความเห็นเสนอยิ่งลักษณ์และ ครม.
สุดท้ายเรื่องนี้ยากที่ยิ่งลักษณ์จะไม่ทูลเกล้าฯ
หากเรื่องจะพลิกขึ้นมาจริงๆ ในช่วงต่อจากนี้ ก็น่าจะต้องเป็นเรื่องที่ได้ข้อสรุปเบ็ดเสร็จก่อนจะมีการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเช่นคำตัดสินขององค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีการชี้ก่อนว่า การสรรหา กสทช.ชุดนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แค่ความเห็นเบื้องต้นของดีเอสไอที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
ตอนนี้ 11 กสทช.ก็เดินหน้าไปมากแล้ว กำลังจะได้ตัวว่าที่ประธาน กสทช.กันแล้วในสัปดาห์นี้ ว่าที่ กสทช.ทั้ง 11 คนได้นัดประชุมเพื่อเลือกประธาน-รองประธานอีกสองคน เพื่อจะได้ส่งชื่อไปให้ยิ่งลักษณ์นำขึ้นทูลเกล้าฯ
โดยตัวเต็งประธานกสทช.ยังเดากันไม่ออก และคงยากจะบอกได้ว่าใครจะได้รับความไว้วางใจสูงสุด ท่ามกลางข่าวว่า เต็งหนึ่งคนยังมองว่าน่าจะเป็น พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี อดีตเสนาธิการทหารอากาศและรองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่มีอาวุโสและมีประวัติการทำงานที่สูงที่สุดในบรรดา 11 คน แต่ปรากฏว่าช่วงหลังเริ่มมีชื่อคนอื่นเข้ามาเป็นแคนดิเดทขอแข่งด้วยโดยเฉพาะในว่าที่ กสทช.สายทหารที่มีด้วยกันถึง 5 คน
ใครจะได้เป็นประธาน กสทช.คนแรก จะมีพลิกโผประธานไม่ใช่พวกอดีตคนในเครื่องแบบหรือไม่ ต้องรอดูกันวันจันทร์นี้
นั่นเป็นเรื่องของกรณี กสทช. แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเผือกร้อนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คือ การที่รัฐบาลพยายามจะเดินหน้าช่วยเอาทักษิณ ชินวัตร พี่ชายยิ่งลักษณ์กลับประเทศอย่างไรให้เร็วที่สุด
โดยเฉพาะให้ทันภายในเดือนธันวาคม เพื่อให้ทักษิณ ได้กลับมาร่วมงานแต่งงาน ลูกเอม-พินทองทา ชินวัตร หลานสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี
เพราะคงไม่มีพ่อคนไหนไม่อยากมางานแต่งงานลูกตัวเอง ยิ่งเอม คือลูกคนแรกของทักษิณ ที่จะเข้าพิธีวิวาห์ ทักษิณ คงใจจะขาดรอนๆ หากต้องอวยพร งานแต่งงานลูกตัวเองผ่านวิดีโอลิงก์ ยิ่งลักษณ์ น้องสาวก็คงอยากให้พี่ชายมีความสุขได้กลับบ้านและไปเป็นประธานงานแต่งงานลูกสาวตัวเอง
แต่เวลานี้ การจะเดินหน้าช่วยทักษิณด้วยการเร่งยื่นเรื่องถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตร ผ่านฎีกาเสื้อแดง ก็ดูจะทำให้ รัฐบาล ติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเข้ามาทำงานไม่เท่าไหร่ ผลงานยังไม่มีอะไร นอกจากปูนบำเหน็จเสื้อแดง-พรรคพวกตัวเองให้มีตำแหน่งการเมืองและในสายข้าราชการประจำ
นอกนั้นก็จ้องวางแผนจะช่วยทักษิณผ่านขบวนการต่างๆ
ทั้งการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือล่าสุดคนในรัฐบาลมาเปลี่ยนว่าเป็นฎีการ้องทุกข์ หากไม่ทันในเดือนธันวาคมก็ต้องใช้มาตรการระยะยาวไปเลย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการออกกฎหมายประเภทนิรโทษกรรม
แม้ยิ่งลักษณ์จะพยายามบอกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีการเร่งรัด ไม่มีนโยบายอะไรเกี่ยวกับทักษิณ แต่ดูเหมือนยิ่งพูดคนก็ยิ่งไม่เชื่อ เพราะทุกอย่างมีการวางไว้เป็นขั้นตอน
อย่าง การตั้ง คณะทำงานกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีคณะบุคคลฯ ทูลเกล้าถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ดูก็รู้แล้วว่าเป็นแค่การเอากรรมการมาประทับตรา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการถวายฎีกาฯให้ทักษิณ เท่านั้น
แม้ผลประชุมนัดแรกของคณะทำงานฯชุดนี้จะตั้งประเด็นเบื้องต้นไว้ 3 เรื่อง คือ
1.ผู้ลงชื่อถวายฎีกามี สิทธิจะยื่นฎีกาตามกฎหมายหรือไม่ และต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ว่ามีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดอย่างไรบ้าง
2.วิธีการยื่นฎีกาได้ยื่นถูกต้องหรือไม่ จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์มหนังสือราชการหรือไม่ และยื่นกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบถูกต้องมากน้อยเพียงใด
3.มีข้อกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใดบ้าง ผู้จะได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องอยู่ในฐานะธรรมเนียมปฏิบัติกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใดบ้าง ผู้จะได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องอยู่ในฐานะต้องรับโทษหรือถูกบังคับคดีหรือไม่
ข่าวลึกๆ บอกว่า กรรมการบางคนก็มีธงไว้ล่วงหน้าแล้วในการหาทางช่วยเหลือทักษิณ
บางรายก็สุดโต่งไปเลยถึงขั้นบอกว่า หากเป็นไปได้ ก็จะทำความเห็นไปให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมไปเลยว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมีการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเรื่องการขออภัยโทษปี 50 สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อปลดล็อกข้อกฎหมายทั้งหมด เพราะทักษิณไม่ได้ทำผิดอะไร
และคนในคณะทำงานที่มีแนวคิดสุดโต่งแบบนี้ ไม่รู้ว่าคณะทำงานอีก 10 คนจะเอาด้วยหรือไม่ แต่บอกได้ว่า คนคนนี้เป็นคนที่จะมีบทบาทสูงมากในการให้ข้อคิดเห็นด้านกฎหมายต่อคณะทำงาน
ก็ไม่รู้ว่า คณะทำงานชุดนี้จะได้ข้อสรุปเมื่อใด แต่ให้ประเมินกันยาวๆ หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ละวาง ยังมัวแต่สาละวนอยู่กับการหาช่องทางเพื่อช่วยทักษิณ
สิ่งที่ยิ่งลักษณ์พูดไว้ วันแรกที่ประกาศลงเล่นการเมืองว่าทุกอย่างจะอยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรม มันจะไม่ใช่แค่ดีแต่โม้ แต่มันถ่มน้ำลายขึ้นฟ้าแล้วรดหน้าตัวเองเลยทีเดียว