“เอแบคโพลล์” เร็วทันใจ เปิดผลสำรวจความเห็นตำรวจเสียงส่วนใหญ่พบ “รักพี่เสียดายน้อง” เห็นด้วยตั้ง “เพรียวพันธ์” เป็น ผบ.ตร. แต่ “วิเชียร” ก็ยังมีความเหมาะสมที่จะเป็น ผบ.ตร.ต่อ ขณะเดียวกันตำรวจเห็นว่าหากมีการแก้ไข รธน.จะสร้างปมขัดแย้ง
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจแบบเรียลไทม์โพล เรื่องเสียงสะท้อนของนายตำรวจต่อกระแสข่าวตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยสำรวจข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ระดับผู้กำกับ และรองผู้กำกับ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ระดับสถานีตำรวจทั่วประเทศ 512 นาย
ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 เห็นด้วยต่อข่าว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะที่ร้อยละ 37.3 ไม่เห็นด้วย และเมื่อถามถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็นเรื่องความเหมาะสมตามระบบคุณธรรม หรือ ระบบอุปถัมภ์ พบว่า ร้อยละ 47.9 คิดว่า เหมาะสมตามระบบคุณธรรม ในขณะที่ร้อยละ 31.6 คิดว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 20.5 คิดว่า เป็นทั้งความเหมาะสมตามระบบคุณธรรม และอุปถัมภ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า นายตำรวจส่วนใหญ่ยังเห็นว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมเช่นกัน มุ่งมั่นทำงาน มีความประนีประนอมสูง ช่วยเชื่อมประสานความรักความสามัคคีของสังคมตำรวจ และใส่ใจดูแลสวัสดิการตำรวจชั้นผู้น้อยพอสมควร
แต่ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างผู้กำกับสถานีตำรวจและรองผู้กำกับที่ถูกศึกษา เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.5 เห็นว่าจะเป็นปัญหาขัดแย้งรุนแรง ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 45.5 ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา
ส่วนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปรับปรุงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 98.3 ระบุให้เพิ่มเงินเดือน รายได้ ค่าครองชีพ รองลงมาคือร้อยละ 87.4 ระบุแต่ง
ตั้งโยกย้ายให้เป็นธรรม ใช้ระบบคุณธรรมพิจารณา ขจัดปัญหาซื้อขายตำแหน่ง ร้อยละ 80.6 สร้างความสามัคคีในสังคมตำรวจ ร้อยละ 78.8 เพิ่มงบประมาณให้เหมาะสม ร้อยละ 74.5 แก้ไขกฎหมายให้ตำรวจทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 68.3 ปรับปรุงบ้านพักตำรวจให้น่าอยู่ ร้อยละ 62.5 เพิ่มกำลังพลให้เหมาะสมกับประชากรและปริมาณงาน ร้อยละ 61.4 ส่งเสริมอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ตำรวจชั้นผู้น้อย ร้อยละ 60.6 จัดวัสดุอุปกรณ์ อาวุธปืน เทคโนโลยีให้ทันสมัย และร้อยละ 34.7 ระบุอื่นๆ เช่น ให้ความสำคัญกับวิชาชีพตำรวจ แยกงานไม่เกี่ยวกับตำรวจออกไป และเรื่องสิทธิของตำรวจ
นายนพดลกล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับและรองผู้กำกับสถานีตำรวจที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกระแสข่าว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อสังคมตำรวจและสาธารณชนทั่วไป เนื่องจากมีการมองกันไปได้ทั้งในเรื่องของระบบคุณธรรมและระบบอุปถัมภ์เช่นกัน
ดังนั้น รัฐบาลต้องคำนึงถึงหลักเหตุและผลอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางที่น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ในช่วงจุดเปลี่ยนของประเทศผ่านพ้นไปได้ แต่ให้ระวัง “พลังของคนชั้นกลาง” ที่มีลักษณะบางอย่างเฉพาะตัวแบบคาดไม่ถึง หากถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาทนกันไม่ไหว พลังเหลืองคืนชีพ ความขัดแย้งแบบ “อคติระหว่างสองนครา” เกิดขึ้น บ้านเมืองก็จะอยู่ลำบาก แนวทางที่ประเทศมีนายกรัฐมนตรีหญิงในความคาดหวังของสาธารณชนเรื่อง ความประนีประนอม ยึดโยงความเป็นหนึ่งของคนในสังคมจึง “อาจ” เป็นทางออกได้
“แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าเรื่องตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ข้าราชการตำรวจระดับสูงของแต่ละสถานีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเกินครึ่งมองว่าจะก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชน แต่จำนวนไม่น้อยก็มองว่าไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ตัวเลขที่ค้นพบแบบนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะมีนัยสำคัญได้ทั้งฝ่ายที่คิดว่าเป็นปัญหาและฝ่ายที่คิดว่าไม่เป็นปัญหา ทางออกคือ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนรอบด้านด้วยเหตุและผลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเชิงเนื้อหา มากกว่าชูธงอย่างเดียวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชนได้ตามที่นายตำรวจระดับสูงของสถานีตำรวจสัมผัสถึงความขัดแย้งนี้ได้เช่นกัน และหากต้องการได้ใจจากข้าราชการตำรวจก็ต้องเพิ่มรายได้ ดูแลสวัสดิการ ใช้ระบบคุณธรรมบริหารองค์กรตำรวจ และมีกิจกรรมหนุนเสริมความรักความสามัคคีในสังคมตำรวจควบคู่ไปด้วย”