สองวันก่อน นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบคำถามนักข่าวเรื่องราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงลิตรละ 7 บาท ทำให้เกิดผลกระทบต่อน้ำมันแก๊สโซฮอล์จะมีวิธีแก้อย่างไร หลังจากแฉลบไปแฉลบมา งัดสคริปต์เก่าที่ท่องจำจนขึ้นใจแล้วมาใช้ อย่างเช่น ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานไปศึกษารายละเอียด, ต้องดูวิธีปฏิบัติก่อน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ไขในระยะยาว และขอเวลา ฯลฯ นายกรัฐมนตรีก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ในเรื่องที่เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกิจการพลังงาน ที่ผู้นำในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องรู้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ราคาน้ำมันเบนซิน 91 กับแก๊สโซฮอล์ควรจะห่างกันกี่บาท เพื่อให้คนกลับมาใช้ มากขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า
“รายละเอียดยังไม่ขอตอบ เพราะที่ผ่านมารัฐได้อุดหนุนน้ำมันเบนซินไปเยอะมาก ทำให้อัตราการใช้น้ำมันเบนซินมีค่อนข้างสูง จึงต้องหาวิธีให้กลับมาอยู่ในภาวะที่สมดุลก่อน จากนั้นค่อยมาดูเรื่องโครงสร้างราคาระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์”
คำตอบนี้สะท้อนว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สับสน ไม่เข้าใจว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไร การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เก็บไปทำไม เอาไปชดเชยอะไรบ้าง จากคำตอบนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดว่าประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซิน และเข้าใจผิดว่าการงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน คือการยกเลิกเงินอุดหนุนนี้
ความจริงที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานเชื้อเพลิง หรือ กพช. ต้องรู้คือ ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซิน มีแต่เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซล ไปอุดหนุนผู้ใช้แก๊สแอลพีจี และแก๊สเอ็นจีวี
การอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซิน ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นระหว่างเดือนมกราคม 2547 - 13 กรกฎาคม 2548 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นมาก โดยใช้ใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยส่วนต่างทั้งหมด จนเงินกองทุนน้ำมันหมด ต้องยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันเบนซิน ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 ตรึงราคาดีเซลอย่างเดียว จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ใช้เงินทั้งสิ้น 92,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่กองทุนน้ำมันต้องไปกู้มาจากธนาคารพาณิชย์ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเคลียร์หนี้ก้อนนี้ของกองทุนน้ำมันได้หมด
ปลายปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินระดับ 30 บาทต่อลิตร เพื่อชะลอการปรับขึ้นค่าขนส่งและราคาสินค้า ทำให้กองทุนน้ำมัน ต้องรับภาระมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธียกเลิกภาษีสรรพสามิตแทน
ความจริงอีกข้อหนึ่งคือ ผู้ที่ทำให้อัตราการใช้น้ำมันเบนซินสูงขึ้นอีก หลังจากลดลงมาแล้ว คือ รัฐบาลนี้แหละ ที่ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน ให้น้ำมันเบนซินมีราคาถูกลงมาถึง 7 บาทโดยประมาณ
ไม่รู้ว่าทีมงานเขียนสคริปต์ป้อนให้นายกรัฐมนตรีพูด เข้าใจผิด หรือว่านายกรัฐมนตรีจำผิด เพราะยาวเกินไป หรือว่าเป็นการพูดนอกบท จึงเกิดความผิดพลาดอย่างจังในสาระสำคัญ แม้ว่าไม่ควรจะไปถือสาหาความกับความไม่รู้ในทุกๆ เรื่องของนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า นายกฯ คนนี้ถูกตั้งโปรแกรมให้พูด ให้ทำ ไม่ได้พูดหรือทำจากความรู้ ความเข้าใจของตัวเอง แต่ความไม่ประสีประสาในเรื่องกิจการพลังงาน ที่ตัวเองเป็นประธาน กพช.อยู่ นี่เอง ที่ทำให้มาตรการเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ที่เพิ่งผ่านไปเพียง 4 วัน จึงส่งผลกระทบอย่างงรุนแรงต่อน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพราะมีส่วนต่างราคาเพียง 23 สตางค์ต่อลิตรเทานั้น สำหรับน้ำมันเบนซิน 91 กับแก๊สโซฮอล์ 91 ทำให้ผู้ใช้น้ำมันก๊าซโซฮอล์ เปลี่ยนไปใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ไปถึงผู้ผลิตเอทานอล และเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง และชาวไร่อ้อย
รัฐบาลเพิ่งจะตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จากที่ไม่เคยคิดอะไรเลย นอกจากอ้างว่า หาเสียงกับประชาชนไปแล้วก็ต้องทำให้ได้ ซึ่งเป็นคำพูดของยิ่งลักษณ์ที่บอกกับที่ประชุม กพช. ในวันที่ 26 สิงหาคม หลังจากที่มีผู้ท้วงติงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น วานนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. จึงต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยให้ลดลดการเก็บเงินเข้ากองทุนในส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1.07 บาทต่อลิตร จากที่เคยเก็บ 2.40 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.60 บาทต่อลิตร เพื่อให้ส่วนต่างระหว่างเบนซินกับก๊าซโซฮอลล์ ห่างกันประมาณ 3 บาทต่อลิตร
สำหรับการเก็บเงินเข้ากองทุนในส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.60 บาทต่อลิตร เนื่องจากปัจจุบันเก็บพียง 10 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น ในทางปฏิบัติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงต้อง “อุ้ม” แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 1.50 บาท ซึ่งจะเร่งให้เงินกองทุนเชื้อเพลิงหมดเร็วขึ้น จากที่คาดว่า จะต้องกู้เงิน 20,000 ล้านบาท มาใส่กองทุนน้ำมัน ในเดือนมกราคมปีหน้า ก็อาจจะต้องร่นมาเป็นเดือนธันวาคมปีนี้
หวังว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยังคงเป็นนายกฯ อยู่จนถึงตอนนั้น จะได้เห็นกันว่าจะแก้ปัญหากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเจ๊งอย่างไร