xs
xsm
sm
md
lg

แฉมือมืดล็อบบี้อัยการไม่ฎีกาคดีภาษีหุ้นชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีภาษีหุ้นชินฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา
แฉขบวนการวิ่งเต้นล็อบบี้อัยการไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินฯ 546 ล้าน หวังยุติคดีแค่ชั้นอุทธรณ์ หลังศาลฯ พิพากษากลับยกฟ้อง “คุณหญิงอ้อ” พร้อมเลขาฯ ส่วนตัว และลดโทษ “บรรณพจน์” เหลือจำคุก 2 ปีพร้อมรอลงอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับและพิพากษาแก้คดีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน จงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 546 ล้านบาท โดยได้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา ส่วนนายบรรณพจน์ให้รอลงอาญาโทษจำคุก 2 ปี และปรับเป็นเงิน 1 แสนบาทแล้วนั้น ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า กำลังมีความเคลื่อนไหววิ่งเต้นไม่ให้อัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ ยื่นอุทธรณ์คดีในขั้นฎีกาต่อไป เพื่อให้คดียุติเพียงแค่นี้

คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ให้คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์มีความผิด ต้องจำคุกคนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภาจำคุก 2 ปี แต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับยกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางสาวกาญจนาภา ส่วนนายบรรณพจน์ พิพากษาแก้ให้เหลือโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 1 แสนบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนับเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจำเลยทั้งหมดเป็นคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ และอาจจะใช้อำนาจรัฐที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ให้การลบล้างความผิดของตัวเอง ซึ่งคดีที่ประชาชนให้ความสนใจมากขนาดนี้ อัยการในฐานะโจทก์จะสู้คดีจนถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งอัยการต้องตรวจรายละเอียดคำพิพากษาทั้งหมดก่อนจึงมีความเห็นได้ว่าจะฎีกาคดีหรือไม่ในประเด็นใดบ้าง โดยตามขั้นตอนอัยการคดีพิเศษซึ่งรับผิดชอบคดีจะตรวจรายละเอียดคำพิพากษาแล้วจะมีความเห็นในเบื้องต้นเสนอตามสายบังคับบัญชาให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดพิจารณาและมีความเห็นอีกครั้งว่าจะยื่นฎีกาคดีหรือไม่

ส่วนระยะเวลาตามกฎหมายอัยการโจทก์จะมีเวลา 30 วันในการยื่นฎีกา แต่หากเห็นว่าจะดำเนินการไม่ทันภายในกรอบเวลาก็จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตศาลขยายระยะเวลาออกไปอีก ขณะที่ประเด็นการยื่นฎีกาสามารถที่จะพิจารณาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น