ร่างแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว เตรียมแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 สิงหาคมนี้ นโยบายหลักที่ต้องใส่ไว้แน่นอน
คือเรื่องของความปรองดองสมานฉันท์ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับนโยบายเร่งด่วนจำนวน 16 ข้อ ของรัฐบาลเป็นที่จับจ้องของฝ่ายค้าน เล็งเอามาขึ้นเขียงชำแหละกระซวกกันกลางสภา โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ แรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ที่ฝ่ายค้านออกมาตั้งข้อสังเกตว่า
บิดพลิ้ว ปรับเปลี่ยนถ้อยคำ เลี่ยงบาลีในเชิงปฏิบัติ
เช่นเดียวกับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท เรื่องการเลิกเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมัน ที่สุดท้ายจะทำเพียงปีหนึ่ง หรือครึ่งปีเท่านั้น
นโยบายสำคัญที่เป็นเผือกร้อนๆ หยิบจับมาเมื่อไหร่เป็นต้องมีการต่อต้านทุกครั้ง ไม่ว่ารัฐบาลไหน เพราะจ้องแต่จะแก้ไขให้เข้าทางตัวเองที่มีเสียงข้างมากทุกครั้งไป เสียงต่อต้านจึงดังระเบิดระเบ้อทุกทีไป
นั่นก็คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งรัฐบาลนี้บรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วน พร้อมระบุเสร็จสรรพให้มีการทำประชามติอย่างเป็นจริงเป็นจัง
หนีไม่พ้นถูกพรรคประชาธิปัตย์หยิบเอามาถล่มยับเยินแน่ เพราะถ้าแก้ไขให้เอื้อต่อพรรคเพื่อไทยมากขึ้นไปอีก โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะหวนกลับคืนมาสู่รัฐบาล แทบมองไม่เห็น
ลำพังแค่แก้ระบบเลือกตั้งส.ส.จากพวงใหญ่เป็นพวงเล็ก ยังแพ้รูดทะราดขนาดนี้ หากแก้ไขเพิ่มเติมอีกมันจะยิ่งไปกันใหญ่
ดังนั้นต้องขัดขวางกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถ้าไม่พอก็เอาเครือข่ายนอกสภามาขวางซ้ำขวางซ้อนอีกหลายกระทอก ดีไม่ดีอาจกลายเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่
พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องยกการ์ดสูงไว้ก่อนในช่วงนี้ หลังจากปล่อยประเด็นแหลมคมออกมาท้าทายสังคมหลายต่อหลายช็อต นอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้แล้ว ไม่ทันไรยังมีการขยับเขยื้อนที่เกี่ยวโยงไปถึงพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หลบหนีคดีอยู่ต่างแดนอย่างโจ๋งครึ่ม
ยังไม่ทันได้แถลงนโยบาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศป้ายแดง บ่าวผู้ภักดีนายใหญ่ ก็เล่นเอาล่อเอาเถิดจนถูกพรรคประชาธิปัตย์เดินเกมถอดถอนเสียแล้ว เรื่องการคืนพาสปอร์ต การร้องขอรัฐบาลญี่ปุ่นอำนวยความสะดวกให้พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าประเทศ กลายเป็นปมร้อน ว่ารมว.ต่างประเทศทำเกินอำนาจหน้าที่ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จับกุมตัวนักโทษหนีคดีหรือไม่
ประเด็นการเมืองนี้ จะเป็นเหยื่ออันโอชะของพรรคฝ่ายค้าน ที่จะโขกสับในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ต้องถูกตั้งคำถามอย่างแน่นอนว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลนี้คือมุ่งเน้นช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศหรือไม่ และจะคาบเกี่ยวไปยังกระบวนการยุติธรรม ที่จะมีความพยายามนิรโทษ อภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งคนเสื้อแดง ที่ยังติดคดีอยู่หรือไม่?
เหล่านี้จึงเป็นการบ้านที่พรรคเพื่อไทยกลับไปสุมหัวคิดเกมตอบโต้ จนต้องตั้งทีมสนับสนุนขึ้นมาหลายชุดด้วยกัน
เพราะลำพังหัวขบวนอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับมือไม่ไหวแน่
เพราะยังอ่อนเชิงทางการเมือง การพูดจาตอบโต้หากเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเป็นเด็กน้อย อย่างมากก็จะเป็นเพียงผู้แถลงนโยบายในภาพรวม พร้อมตอบข้อซักถามในบางเรื่องที่ไม่ร้อนแรง หรือรุนแรงเกินไป การตอบข้อซักถามส่วนใหญ่มอบให้รองนายกฯ ร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ช่วยผ่องถ่ายแรงกระแทก
ล่าสุด ก็ได้มอบหมายเบื้องต้นให้ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ตอบข้อซักถามเรื่องกระบวนการยุติธรรม การแก้ไขปัญหายาเสพติด มอบพล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ตอบข้อถามเรื่องความมั่นคง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ตอบคำถามเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายสังคม กิตติรัตน์ ณ ระนอง รับผิดชอบ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนชุมพล ศิลปอาชา ให้ตอบคำถามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงของพรรคชาติไทยพัฒนา หรือตรงนี้จะเป็นการบอกใบ้ถึงงานรับผิดชอบของรองนายกฯกลายๆ ก็เป็นได้
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยได้จัดเตรียมทีมงานเชิงข้อมูล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีส่วนสำคัญในการร่างนโยบายรัฐบาลเป็นทีมงานหลักในการสนับสนุนข้อมูล รวมทั้งชี้แจงที่มาที่ไปของนโยบายรัฐบาล ในฐานะผู้รู้ลึกรู้จริง
แต่หากเมื่อใดรัฐบาลโดนรุกหนัก ล้วงลึกไปเป็นเกมการเมือง หรือเรื่องส่วนตัว จะมีทีมองครักษ์ คอมมานโด ออกมาประท้วงเบรกเกม ปะ ฉะ ดะ ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน เปิดทางให้ครม.ชี้แจงแถลงไขในส่วนของนโยบายเป็นหลัก และจะมีทีมงานอีกทีมหนึ่ง คอยชงประเด็น ลุกขึ้นสอบถามการทำงาน การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ในแนวสร้างสรรค์ ให้ครม.ตอบโชว์กึ๋นทำแต้มต่อหน้าประชาชน
เป้าถล่มหลักของฝ่ายค้านคราวนี้ หนีไม่พ้น “ยิ่งลักษณ์” ที่เป็นมวยประสบการณ์น้อยบนเวทีการเมือง ปมร้อนๆ เกี่ยวกับพี่ชายตัวเอง คำถามว่าจะจัดการกับนักโทษหนีคดีอย่างไร ต้องถูกเค้นถูกถามอย่างหนักแน่ ถ้าหนักข้อเข้า “ยิ่งลักษณ์” คงพลิ้วไม่ออก
พรรคเพื่อไทยจึงตั้งทีมงานองครักษ์ขึ้นมาอารักขาอย่างใกล้ชิด จับตาดูทุกช็อตที่พาดพิงถึง “ยิ่งลักษณ์” หากนอกเกม หรือเตะตัดขา ก็จะใช้มาตรการประท้วงอุตลุต จะวุ่นวายอย่างไรไม่สน ไม่สบอารมณ์เมื่อไหร่มีได้ประท้วงเมื่อนั้น
ภาพรวมการอภิปรายครั้งนี้ก็คงได้เห็นแนวทางการบริหารจัดการบ้านเมือง ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ชัดเจนขึ้น จะได้เห็นแผนภารกิจหลักที่จะทำต่อเนื่องจากนี้ไป เบื้องต้นก็เห็นลางๆ แล้วว่า จะมีการทำแบบคู่ขนานระหว่างสิ่งที่จะทำให้ประชาชน ตามที่หาเสียงไว้ รวมทั้งทำสิ่งที่ตัวเอง และคนเสื้อแดงเรียกร้อง ทั้งเรื่องการช่วยเหลือพ.ต.ท. ทักษิณ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่สิ่งที่จะได้รับการชี้แจง และตอบข้อซักถามชัดเจนในเวทีการแถลงนโยบาย ก็จะเป็นนโยบายหลักๆ ภารกิจตามพลวัตรที่ต้องทำเสียส่วนใหญ่ เรื่องนโยบายร้อนๆ สุ่มเสี่ยงที่จะทำได้หรือไม่ได้ หรือที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม อาจได้รับคำตอบแบบอ้อมแอ้ม ยังเป็นคำถามกังขาของสังคมต่อเนื่องไป
ขณะที่ปมภารกิจที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง และพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนีคดี เชื่อเหลือเกินว่าจะไม่มีคำตอบให้ และเลี่ยงบาลีเรื่อยไปเหมือนเฉกเช่นที่เคยทำมา
นอกจากนั้น ยังจะเกิดภาพความวุ่นวายเหมือนเคยๆ มา การประท้วงชิงไหวชิงพริบ โต้เถียงกันด้วยประเด็นร้อนๆ เดิมๆ ที่วิวาทะกันมาจนเป็นชนวนความวุ่นวายทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า
ประชาชนอย่างเราๆ คงเบื่อหน่ายเอือมระอากับภาพการเมืองเก่าๆ ซ้ำเดิม ที่ไม่รู้จะเปลี่ยนแนวมาทำกันอย่างสร้างสรรค์เสียที