ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าจะว่าไปแล้วบรรยากาศยามนี้สำหรับคน “เสื้อแดง” ที่เป็นระดับมวลชนชั้นล่างถือว่าน่าเห็นใจไม่น้อย เพราะคงอยู่ในสภาพอารมณ์ที่อึดอัดระคนผิดหวัง ไม่มีที่ระบาย หลายคนคงมีความรู้สึกว่าเหมือนถูกลอยแพ ไม่เห็นความสำคัญ ซึ่งนี่ว่ากันเฉพาะระดับชาวบ้านที่คาดหวังเอาไว้สูง
คนละส่วนกับพวก “หัวโจก” ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ก็ยังแยกย่อยออกมาเป็นหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นแบบ “ซูเปอร์สตาร์” ระดับกลางที่กำลังต้องการฉวยโอกาสถีบตัวขึ้นมา และระดับ “บ้านนอก” ปลายแถว ซึ่งคนพวกนี้กำลังแย่งชิงบทบาทการนำกันอย่างดุเดือด
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ความแตกแยกและความขัดแย้งกันเองภายในแกนนำคนเสื้อแดงจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว และเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะถึงขั้น “แตกหัก” เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะที่มาและปูมหลังของคนพวกนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงแล้ว องค์ประกอบของคนเสื้อแดงมีที่มาอย่างหลากหลาย รวมไปถึงแต่ละคนล้วนมีแนวทางและเป้าหมายแตกต่างกัน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาจะออกมาในลักษณะของการ “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” ระหว่างการต่อสู้กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ และกลุ่มอำมาตย์ ดังที่มีหลายคนได้วิเคราะห์เอาไว้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลึกลงไปในองค์ประกอบของคนเสื้อแดงที่แบ่งเป็นกลุ่มหลักสองกลุ่ม คือ กลุ่ม “ซ้ายจัด” มีแนวทางอุดมการณ์สังคมนิยมที่มี “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” เป็นแกนนำ ขณะที่อีกกลุ่มเป็นพวกที่ให้ความนิยมและสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ที่มี จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมทั้งแกนนำหลายคนที่เป็นทั้ง ส.ส.และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมาจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มหลังนี้ก็ยังแยกย่อยออกไปเป็นพวกกลุ่มแกนนำเสื้อแดง “บ้านนอก” ในท้องถิ่น เช่น ขวัญชัย ไพรพนา จากชมรมคนรักอุดร เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ยังมีความจริงที่ว่าแกนนำหลายคนเข้ามาโหน “กระแสทักษิณ” และกระแสคนเสื้อแดง เพื่อไปสู่เป้าหมายของตัวเอง ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงอุดมคติตามที่ใฝ่ฝันเอาไว้ ขณะที่บางคนก็ต้องการไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้า
นั่นคือความเป็นมาและองค์ประกอบคร่าวๆ ของบรรดาหัวโจกคนเสื้อแดง เท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ และที่ผ่านมาแม้จะมีความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาเป็นระยะ แต่ในที่สุดก็มีการเคลียร์จนสามารถยุติปัญหากันไปได้ชั่วคราว อีกทั้งในช่วงนั้นหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือเป็นช่วงที่ยังต้องทำศึก ไม่จำเป็นต้องมาปะทะกันเองจนอ่อนแรงเสียก่อน
แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เวลานี้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งจนกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล มีอำนาจรัฐอยู่ในมืออีกครั้ง เมื่อบรรยากาศเริ่มสงบ มันเป็นธรรมดาที่ปัญหาความขัดแย้งเก่าๆ เริ่มปรากฏออกมาให้เห็น ซึ่งเชื่อว่านับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่ ต่างฝ่ายมีที่มาและเป้าหมายต่างกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพตามข่าวที่ปรากฏก่อนก็จะเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง ขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ที่ล่าสุด ธิดาออกมาเปิดเผยเองว่า สาเหตุที่ ขวัญชัย เขม่นเธอนั้นเนื่องจากไม่พอใจที่ไม่ห้ามปรามคนเสื้อแดงขยายหมู่บ้านในภาคอีสาน เพราะจะตกเป็นเป้า ขณะเดียวกันจะไปห้ามปรามไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามสาเหตุความไม่พอใจที่แท้จริงนั้นเป็นเพราะ ขวัญชัย ต้องการขยายอาณาจักรของตัวเองออกไปให้ครอบคลุมทั้งภาคอีสานต่างหาก และที่ผ่านมาตัวขวัญชัยเองก็ไม่เคยมาร่วมประชุมกับแกนนำคนเสื้อแดงคนอื่น จึงไม่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหว
หากจะกล่าวไปแล้วสำหรับ ธิดาถือว่ายังมีปัญหาในเรื่องของการยอมรับในหมู่คนเสื้อแดง จนถึงขั้นมีความพยายามที่จะกดดันให้พ้นจากตำแหน่งประธาน นปช.มาแล้ว ซึ่งว่ากันว่าเป็นความเคลื่อนไหวจากกลุ่มที่สนับสนุน ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยนั่นเอง โดยให้เหตุผลว่า ทั้งธิดา และ นพ.เหวง โตจิราการ ที่เป็นสามีนั้น ไม่ใช่ “ของแท้” เพียงแต่ว่าเข้ามาใช้กระแสเสื้อแดง กระแสทักษิณ เพื่อเกาะเกี่ยวหาผลประโยชน์เท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงขวัญชัยแล้ว ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่ายังมีความขัดแย้งแบบคุกรุ่นอยู่กับ “หัวโจก” ระดับ “ซูเปอร์สตาร์” อย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมไปถึง วีระ(กานต์) มุสิกพงศ์ อดีตประธานคนเสื้อแดง ถึงขั้นมีการปะทะคารมกันมาแล้วหลายรอบระหว่างที่มีการชุมนุม เพียงแต่ว่าคนทั้งหมดเหล่านี้ต่างอยู่ใต้ร่มเงาของ ทักษิณ ชินวัตร ปัญหาจึงถูกระงับลงได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวตนของขวัญชัยแล้วก็ต้องยอมรับว่า กำลังใช้กระแสเสื้อแดงเพื่อให้ตัวเองไต่ขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้นตลอดเวลา จากระดับ “บ้านนอก” ไร้การศึกษา จนกระทั่งสามารถใช้กลุ่ม “ชมรมคนรักอุดร” กดดันจนตัวเองเบียดเข้ามาเป็น ส.ส.อุดรฯ พรรคเพื่อไทย และไม่กี่วันที่ผ่านมาสามารถกดดันจน ส.ส.ทั้งจังหวัดใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันคนเสื้อแดงที่ก่อคดี “เผาศาลากลาง” ออกมาจากคุกจำนวน 22 คนเป็นผลสำเร็จ จนทำให้เกิดเป็น “อุดรฯโมเดล” บีบให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยคนอื่นนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องไปประกันตัว คนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในหลายจังหวัดออกมาอีกนับร้อยคนออกมาด้วย
การแสดงท่าที “ไม่ทอดทิ้ง” ประเภท “ใจถึงพึ่งได้” ด้วยการแสดงออกดังกล่าวของ ขวัญชัย ทำให้ “ได้ใจ” คนเสื้อแดงเข้าไปเต็มๆ โดยเฉพาะคนเสื้อแดงในจังหวัดอุดรธานี และในจังหวัดอื่นทางภาคอีสาน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากกรณีที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ทันเกม ออกโรงให้รัฐบาลหาทางเยียวยาคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 คนละ 10 ล้านบาท แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องยาก และใช้เวลา แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมกันไปแล้ว
หากย้อนกลับมาที่อารมณ์ความรู้สึกของคนเสื้อแดงระดับทั่วไป หลังการต่อสู้แล้วพากันแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน แต่อีกอารมณ์หนึ่งที่พอรับรู้ได้ก็เหมือนกับว่าตัวเองกำลัง “ถูกหลอกใช้” กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตร กำลังประนีประนอมกับ “อำมาตย์” เพื่อต้องการรักษาอำนาจที่ตัวเองได้มาเอาไว้ให้นานที่สุด และยิ่งเมื่อได้ยินข่าวว่ามีคนในครอบครัวอย่าง พจมาน ณ ป้อมเพชร เสียงแข็งว่า “ห้ามคนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี” เพื่อรักษาภาพลักษณ์มันก็ยิ่งใจหาย ความรู้สึกไม่ต่างจาก “เสร็จนาฆ่าโคถึก” ไม่มีผิด
ขณะเดียวกันสำหรับหัวโจกคนเสื้อแดงด้วยสภาพที่มาและปูมหลัง รวมไปถึงเป้าหมายส่วนตัวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันก็ถึงเวลา “ฟัดกันเอง” เพื่อแย่งชิงบทบาทแย่งชิงมวลชน และนี่เป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น!!