xs
xsm
sm
md
lg

“มติชน” โต้ผลสอบสภาการ นสพ. - ข้องใจ ปธ.อนุกรรมการสัมพันธ์ “มาร์ค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพข่าวจากหน้าเว็บไซต์มติชน
“กรรมการผู้จัดการมติชน” โต้ผลสอบสภาการหนังสือพิมพ์ อ้างการเทียบปริมาณ-ตำแหน่งภาพข่าวแล้วตัดสินว่า “มติชน-ข่าวสด” เอนเอียงเข้าข้างเพื่อไทย ไม่ใช่วิธีที่สามารถวัดความเป็นกลางได้ พร้อมกับข้องใจประธานอนุกรรมการมีความสัมพันธ์อันดีกับ “มาร์ค” เคยส่งจดหมายส่วนตัวเสนอตั้ง “หมอชูชัย” เป็นปลัด สธ.

วันนี้ 18 ส.ค. เมื่อเวลา 21.44 น. ทางหน้าเว็บไซต์มติชนออนไลน์ (www.matichon.co.th) ได้เผยแพร่บทความมีชื่อว่า “เครือมติชน” แจงผลสอบสภาการ นสพ.ข้องใจวิธีการและเจตนาของคณะอนุกรรมการชุด “หมอวิชัย” ความว่า

นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการมติชน เปิดเผยว่า ได้เห็นผลการสอบของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมล์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีมติแต่งตั้งขึ้นแล้ว ผลการสอบระบุว่า บุคคลที่ถูกพาดพิงในอีเมล ไม่ได้กระทำผิด ข้อหารับสินบนตามอีเมลนั้นตกไป เป็นเรื่องเข้าใจได้ และมติชนได้ยืนยันความบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น แต่การตั้งประเด็นตรวจสอบการเสนอข่าวของสื่อ มีข้อน่าสงสัยในวิธีการและเจตนาหลายประการ โดยเฉพาะการสรุปว่า สื่อในเครือมติชน ได้แก่ ข่าวสด มติชน เสนอข่าวเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย โดยนำภาพข่าวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงในสื่อ มาเปรียบเทียบจำนวน และตำแหน่งในการวางภาพ

นายปิยะชาติกล่าวว่า การสรุปว่าสื่อเสนอข่าวเอนเอียง โดยนับจำนวนรูป ตำแหน่งที่วางภาพ โดยให้รายละเอียดว่า วางตำแหน่งซ้ายขวาบนล่าง แม้กระทั่งระบุลักษณะของภาพ เป็นประเด็นที่น่าสงสัยในมาตรฐานความรู้ความเข้าใจของคณะกรรมการ เนื่องจากใช้การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ ที่ไม่สามารถชี้วัดความเป็นกลางได้เลย และยังมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ภาพข่าวทั้งหมด นำเสนอไปตามเหตุการณ์และปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เป็นการทำงานวันต่อวัน การเลือกภาพเลือกข่าว การพาดหัวข่าว เป็นไปตามกระแสข่าว และความน่าสนใจของข่าวในแต่ละวัน โดยทีมงานด้านข่าวของแต่ละฉบับ

นายปิยะชาติกล่าวด้วยว่า ผลสอบของคณะอนุกรรมการยังพุ่งเป้าไปที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีอีเมล์เลย โดยสรุปจากวิธีการพาดหัวข่าวและภาพข่าวว่าเอนเอียง เข้าข้างพรรคเพื่อไทยถือว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ และยังพยายามจับเอาเรื่องของการลงโฆษณาพรรคการเมือง อันเป็นวิถีทางปกติมากล่าวหาสื่อในเครือมติชน การลงโฆษณาพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่กระทำได้เป็นปกติ พรรคการเมืองหลายพรรคได้ซื้อพื้นที่ลงโฆษณา เป็นเรื่องของฝ่ายโฆษณาที่แยกต่างหากจากกองบรรณาธิการ นอกจากนี้การสรุปของอนุกรรมการ ยังเปิดเผยนามปากกาของผู้เกี่ยวข้องทุกคน เท่ากับกระทำขัดกับหลักจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเสียเอง ต่อปัญหาเหล่านี้ ทางเครือมติชน กำลังศึกษาข้อสรุปของอนุกรรมการ เพื่อจะทำความเข้าใจต่อเจตนาของคณะอนุกรรมการ และเพื่อแสดงข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลสรุปของอนุกรรมการ นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ในที่ประชุม นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ถูกพาดพิงในอีเมล ไม่ได้เข้าประชุม เช่นเดียวกับตัวแทนที่มาจากสื่อฉบับที่มีผู้สื่อข่าวถูกสอบสวน ไม่ได้เข้าประชุม อาทิ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ จากมติชน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล จากเครือเนชั่น นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร จากเครือเดลินิวส์ ส่วนผู้เข้าประชุม มีอาทิ นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธาน จากหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน นายสมนึก กยาวัฒนกิจ นายสมาน สุดโต นายจักรกฤษณ์ แววคล้ายหงส์ นายสุภชัย ปกป้อง นายบัณฑิต รัชวัฒนะธานินทร์ รศ.จุมพล รอดคำดี ฯลฯ หลังจากนั้น นพ.วิชัย โชควิวัฒน ได้นำผลการสรุปไปเปิดการแถลงข่าว

ขณะที่ นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่า ผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพียงแต่ดำเนินการตามขั้นตอนของธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ฯ และจะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปในการประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯครั้งหน้า คือวันที่ 13 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ บางคนแสดงความสงสัยต่อผลการสอบ ที่ตั้งประเด็นสอบเรื่องอีเมล์พรรคเพื่อไทยพาดพิงบุคคลในวงการสื่อ แต่กลับสรุปประเด็นเรื่องการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เสนอข่าวอีเมล์ 2 ฉบับ ระบุว่า มีอีเมลหัวข้อ “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” ส่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 และหัวข้อ “ข้อเสนอ วิม?” ส่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน โดยพาดหัวว่า “กุนซือปู ซื้อสื่อที่ละ 2 หมื่น” มีเนื้อหาพาดพิงถึงบุคคลหลายคน โดยเป็นบุคคลในสังกัดหนังสือพิมพ์ กระทั่งวันที่ 5 กรกฎาคม คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุ การให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน นางบัญญัติ ทัศนียะเวช รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นกรรมการ

หลังจากนั้น ทางคณะอนุกรรมการส่งจดหมายเชิญผู้ถูกพาดพิงถึงไปให้ปากคำ โดยมีผู้เดินทางไปให้ปากคำ 5 คน และไม่ได้เดินทางไปให้ปากคำ 3 คน แต่ใช้วิธีส่งจดหมายไปให้แทน นอกจากนี้ ทางคณะอนุกรรมการยังได้เชิญนายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตลอดจนผู้ควบคุมการเสนอข่าวทางเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์มาให้ข้อมูลด้วย ผลการตรวจสอบสรุปว่า คณะอนุกรรมการเชื่อว่า อีเมล์ทั้ง 2 ฉบับน่าจะส่งมาจากบัญชีและรหัสผ่านของนายวิมจริง ส่วนผู้ที่ถูกพาดพิงทั้งหมดไม่สามารถสรุปได้ว่าเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อ ไทย

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ มีข้อสรุปเกี่ยวกับการเสนอข่าวของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โดยระบุว่า 1.ภาพข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน และข่าวสด นำเสนอภาพข่าวสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2.ข่าวเลือกตั้ง ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 3.บทสัมภาษณ์พิเศษ รายงาน สกู๊ปข่าว มติชนสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทย 4 ครั้ง แต่สัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ 2 ครั้ง เป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จักเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทย หนังสือพิมพ์ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 4.คอลัมน์การเมืองหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด และยังสนับสนุนภาพลักษณ์เชิงบวกแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5.โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ โดยพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่โฆษณามากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ และมีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์เครือมติชนเท่านั้น

“จากผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะมีการบริหารจัดการสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบ” รายงานของคณะอนุกรรมการระบุ

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังมีข้อเสนอแนะต่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ 5 ข้อ สรุปได้ว่า 1.ตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดย เคร่งครัด 2.ขอความร่วมมือให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิกกำกับดูแลให้ผู้ประกอบ อาชีพหนังสือพิมพ์ ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยเคร่งครัด 3.ขอความร่วมมือให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ปฏิบัติตามข้อ 10 ของข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยอนุโลม ในกรณีที่มีการใช้ภาพและคำบรรยายประกอบภาพที่ได้รับมาจากภายนอก โดยให้กำกับแหล่งที่มาประกอบกับภาพข่าวนั้นอย่างแจ้งชัด 4.ตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวและแหล่งข่าวที่ได้รับมาอย่างรอบคอบรัดกุม ก่อนนำเสนอข่าว 5.ร่วมมือกับองค์กรสื่อและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจัดทำแนวทางปฏิบัติ (guideline) ว่าผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ ควรมีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าว โดยเฉพาะนักการเมืองและนักธุรกิจเพียงใด จึงจะมีความเหมาะสม

จากนั้นเมื่อเวลา 23.00น. ทางเว็บไซต์มติชนก็ได้เผยแพร่บทความชิ้นต่อมา ใช้ชื่อว่า “เปิดจม.ส่วนตัว “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” ถึง “อภิสิทธิ์” เมื่อปี 52 เสนอตั้ง “หมอชูชัย” เป็นปลัด สธ.” ใจความว่า

วันที่ 18 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมล์ของ นักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติแต่งตั้งขึ้น ได้สรุปผลสอบสวนไม่พบการกระทำผิด แต่กลับกล่าวหาการเสนอข่าวและภาพของข่าวสดและมติชนว่าเอนเอียงเข้าข้าพรรค เพื่อไทยนั้น จากพยานหลักฐานพบความสัมพันธ์ของนายแพทย์วิชัยที่น่าสนใจบางประการ

โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เคยทำจดหมายส่วนตัวทำถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 กันยายน 2552 เสนอให้แต่งตั้ง นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษาระดับ 11 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีใจความดังนี้

“กราบเรียน ท่านนายกรัฐมนตรีที่รักและนับถือยิ่ง

กระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ อ่อนแอทั้งวิชาการ การบริหาร และคุณธรรม หากไม่มีการแก้ไขนอกจากจะไม่สามารถเผชิญกับปัญหายากๆ อย่างไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกสอง และไม่สามารถผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบลได้แล้ว โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จะเกิดปัญหาการทุจริตซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลรุนแรงและร้ายแรงยิ่ง กว่ากรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน

กระทรวงสาธารณสุขขณะนี้จึงต้องการผู้ นำ โดยเฉพาะปลัดกระทรวงที่ กล้า แข็ง มีความรู้ ความสามารถ บารมีเพียงพอ และเชื่อถือไว้วางใจได้ เข้ามากอบกู้สถานการณ์ ซึ่งมองไปทั่วแล้ว ผมขอกราบเรียนว่า น่าจะถึง นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ลูกหม้อเก่ากระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11 อยู่ที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับมาทำหน้าที่นี้

ผมเชื่อมั่นว่า นายแพทย์ชูชัยมีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติต่างๆเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้อย่างยิ่ง ข้อสำคัญยังเป็นผู้ที่ทุ่มเททำงานให้พรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยืนหยัดยาวนาน ซึ่งท่านชวน หลีกภัย รู้จักและคุ้นเคยดี

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายแพทย์ชูชัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 91 ศพ โดยปกป้องรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และกล่าวหาว่า นปช.เป็นฝ่ายผิดแทบทุกกรณี ซึ่งจะเห็นได้ว่าในจดหมายที่เขียนโดยนายแพทย์วิชัยนั้น ใช้คำว่า “นายแพทย์ชูชัย มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติต่างๆ เหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้อย่างยิ่ง ข้อสำคัญยังเป็นผู้ที่ทุ่มเททำงานให้พรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยืนหยัดยาวนาน”
กำลังโหลดความคิดเห็น